วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > Cover Story > เปิดความคิด “ชนะ สัมพลัง” นายกสมาคมสถาปนิกสยาม

เปิดความคิด “ชนะ สัมพลัง” นายกสมาคมสถาปนิกสยาม

ในฐานะของสมาคม เราต้องทำประโยชน์ให้มากที่สุด หลังการช่วยเหลือจากเรื่องโควิด เราต้องฟื้นฟู สมาคมต้องสร้างความหวัง ไม่ใช่แค่คนในวิชาชีพ แต่ต้องส่งต่อประชาชนบุคคลทั่วไปด้วย” ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม เปิดเผยบทบาทของสมาคมในช่วงที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคร้าย ที่ต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางและส่งต่อความช่วยเหลือไปยังบุคลากรทางการแพทย์ และองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ชนะ สัมพลัง ฉายภาพมุมมองต่อการเกิดของโควิด ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างให้เกิดการพัฒนาในแวดวงของนักออกแบบ ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ไทยและทั่วโลก “ในเชิงของงานก่อสร้าง งานออกแบบ เราได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ เพราะเราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก มีลูกค้าต่างชาติ นี่เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ในมุมของอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้หยุดเสียทีเดียว คือยังต้องพัฒนาตัวเอง ในเวลานั้น แค่อยู่ในภาวะชะลอตัว รอวันที่ทุกๆ อย่างจะกลับมาเป็นปกติ

“โควิดมาทำให้ทุกๆ อย่างเกิดความคิดใหม่ เกิดความคิดในการอยู่อาศัยแบบใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นในผลิตภัณฑ์เดิมๆ จะมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดเนื้องานใหม่ เป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อ เพราะผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกมาจะมีคำตอบของสิ่งเหล่านี้ว่า โลกในอีก 5 ปีข้างหน้า มนุษย์จะอยู่อย่างไรที่ดีกว่าโลกก่อนโควิด”

นายกสมาคมสถาปนิกสยามมองว่า วิกฤตต่างๆ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนใหม่ๆ ให้แก่แวดวงอสังหาริมทรัพย์ โดยมองว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจภายในประเทศยังคงไปได้ แต่ธุรกิจที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศอาจชะลอตัว กระนั้นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาคือ เทคโนโลยี

บทบาทของ “อาษา” หรือ สมาคมสถาปนิกสยาม (asa:The Association of Siamese Architects Under Royal Patronage) คือ การส่งเสริม พัฒนา สร้างสรรค์ความเจริญงดงามทางสถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม และรักษาอารยธรรมในฐานะองค์กรทางวิชาชีพอิสระทางสถาปัตยกรรม

แน่นอนว่าการอนุรักษ์อาคารโบราณถือเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของอาษาด้วยเช่นกัน ชนะ สัมพลัง บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานด้านนี้ให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” ฟังไว้อย่างน่าสนใจว่า “วันแรกที่รับตำแหน่งเมื่อสามปีที่แล้ว ก็ช็อก เพราะมีข่าวการรื้อบ้านโบราณที่มีอายุกว่าร้อยปี ตัวเราเป็นคนรุ่นใหม่ในวงการ เราอยู่ในโลกของสถาปัตยกรรมโมเดิร์น เราต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดของงานออกแบบในยุคเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งมีความละเอียดอ่อนมาก

“ตอนแรกต้องบอกเลยว่า ไม่เข้าใจ ไม่ใช่คนเก่ง แต่พอได้ฟังจากผู้รู้ คนเฒ่าคนแก่ ทำให้เราได้รู้ว่า ทุกๆ ลายบนไม้ ทุกๆ รอยถากบนงานออกแบบแสดงให้เห็นถึงยุคสมัย และแสดงถึงความงามที่เราได้เรียนรู้ เรารู้สึกว่าค่อนข้างซาบซึ้ง และเข้าใจว่าทำไมคนถึงได้หวงแหนอาคารโบราณ และทำไมคนถึงต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งบางคนอยากรื้อทำลายเพื่อทำประโยชน์อื่นๆ”

ดราม่าเรื่องการรื้อทำลายอาคารโบราณมีให้เห็นอยู่เนืองๆ มุมหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าขาดการใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างนั้น และการปล่อยให้รกร้างสร้างความกังวลเรื่องความปลอดภัยต่อผู้คนในละแวกใกล้เคียง ในขณะที่อีกฝ่ายต้องการที่จะอนุรักษ์ เพราะมองว่าเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ หรือหน่วยงานรัฐ หรือสมบัติภาคเอกชน

ทัศนะของนายกสมาคมสถาปนิกสยามต่อเรื่องดังกล่าว นับว่าน่าสนใจไม่น้อย “เมื่อเรารู้สึกชื่นชม รู้สึกซาบซึ้ง เราจะอยากอนุรักษ์ด้วยตัวเอง ต่อให้ไม่เป็นนายกสมาคมก็ตาม ก็อยากที่จะทำให้อาคารเหล่านั้นมีชีวิตกลับมาใหม่ แต่การทำให้อาคารโบราณมีชีวิต ผมมองไกลไปกว่าสิ่งที่หลายๆ ท่านอยากให้เป็น หรือแค่อยากให้คงไว้ แต่ผมอยากให้นำอาคารโบราณมาใช้ใหม่ ให้มีชีวิตอยู่จริงๆ ในโลกปัจจุบันร่วมกับพวกเรา โดยที่รักษาไว้แบบไม่ได้ทิ้งร้างหรือยืนตาย

“เพราะฉะนั้นในบทบาทของสมาคมเราจะมองถึงการทำให้อาคารเหล่านี้มีชีวิตอีกครั้ง มากกว่าแค่การอนุรักษ์ คือต้องไกลกว่าอนุรักษ์ เพราะการอนุรักษ์คือเก็บฟรีซไว้ เหมือนสตัฟฟ์ ผมมองว่าอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ในความซาบซึ้งนั้นเราคงจะพยายามพัฒนาวิธีการที่เราจะสื่อสารกับคนทั่วไป ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง หรือแม้แต่ตัวดีไซเนอร์เองที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน เราจะใส่ใจในระดับไหนเข้าไปได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดดราม่า เช่น อาคารนี้กำลังจะถูกรื้อทำลาย ทั้งที่มีความสำคัญ แต่เราต้องทำให้เขามีชีวิตก่อน ทำให้เขามีคุณค่าจนไม่มีใครอยากรื้อทำลาย”

นอกจากนี้ ชนะ สัมพลัง ขยายความเพิ่มเติมว่า การทำงานอนุรักษ์เช่นนี้สถาปนิกคงไม่เพียงพอ ดีไซเนอร์หรืออินทีเรียร์ หรือแม้แต่ผังเมือง ต้องทำงานร่วมกัน นี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของงานสถาปนิก 66 ปีนี้ที่รวบรวมสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดงาน นั่นเพราะการทำให้โลกน่าอยู่ ทั้งโลกอดีตและปัจจุบัน เพียงวิชาชีพสาขาเดียวคงไม่เพียงพอ

Net Zero ที่เป็นนโยบายระดับโลกต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกๆ ภาคอุตสาหกรรม ทุกครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายนโยบายนี้ไว้เช่นกัน โดยภายในปี ค.ศ. 2065-2070 แม้ว่าปัจจุบันไทยยังไม่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในระยะยาว มีเพียงแผนที่จะนำทางการลดก๊าซเรือนกระจกปี พ.ศ. 2564-2573 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 20-25%

ประเด็นดังกล่าว ชนะ สัมพลัง ในฐานะของผู้ที่อยู่ในแวดวงการออกแบบ อุตสาหกรรมอสังหาฯ มองว่า “รัฐบาลคงทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ภาคเอกชนต้องทำร่วมกัน เป็นมุมที่กว้างขึ้นไปอีก ไม่ใช่แค่องค์กรแต่ต้องเป็นประชาชนทุกคนที่ต้องร่วมกันทำให้ Net Zero เกิดขึ้น

“สำหรับบทบาทของสมาคมในเรื่อง Net Zero คือเราต้องให้ความรู้อยู่เรื่อยๆ ทุกวันนี้ผู้คนอาจยังไม่เข้าใจ Net Zero มากนัก อาจนึกถึงแค่คาร์บอน รถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา จริงๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกับทุกอย่าง การใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย การขนส่ง สมาคมมักจะสอดแทรกความคิดนี้ในทุกๆ กิจกรรม ยกตัวอย่างงานสถาปนิกปีที่แล้ว เราพูดถึงการรีไซเคิล ทุกสิ่งที่อยู่ในงาน “อาษา” เราไม่ทิ้ง นำไปบริจาคสร้างสิ่งที่มีประโยชน์

“แม้ว่าเราจะสอนทุกอย่างให้ทุกคนไม่ได้ แต่เราค่อยๆ สอดแทรกทีละนิด ในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ แต่อะไรที่ยากๆ ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องทำ เราแค่ต้องคิดให้ได้ว่า Net Zero เป็นเรื่องใกล้ตัว เพียงแต่เราพร้อมจะทำมันแค่ไหน”

ขณะที่วัสดุที่เกี่ยวกับงานก่อสร้าง ตลาดอุตสาหกรรม การออกแบบ ชนะ สัมพลัง มองว่า ในปัจจุบันยังมีราคาแพง แต่อนาคตจะค่อยๆ ถูกลง เมื่อมีปริมาณความต้องการเพิ่มมากขึ้น

“เราต้องเสียสละบางสิ่ง เพื่อให้โลกน่าอยู่ ทุกอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป มีคนยอมจ่ายแพงๆ สำหรับราคาวัสดุรีไซเคิล ไม่เกิน 10 ปีอุตสาหกรรมอสังหาฯ ในรูปแบบของ Net Zero จะขยายตัวขึ้นและเปลี่ยนโฉมกรุงเทพฯ เราจะกลายเป็นเมืองที่มีสุขภาวะที่ดี” ชนะ สัมพลัง ทิ้งท้าย.