วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > อีโคเวสท์จับมือซาทาเรม โหนนโยบายรัฐ ผุดโรงไฟฟ้าขยะ

อีโคเวสท์จับมือซาทาเรม โหนนโยบายรัฐ ผุดโรงไฟฟ้าขยะ

 
ขยะมูลฝอยที่สะสมตกค้างอยู่ในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่งผลกระทบตามมาในหลายด้าน ทั้งมลภาวะทางอากาศ ปิดกั้นช่องทางระบายน้ำ ซึ่งทำให้น้ำท่วมแทบจะทันทีที่ฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน กระทั่งรัฐบาลต้องประกาศให้การจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยหวังให้หลายฝ่ายร่วมมือในการหาหนทางแก้ปัญหาที่จีรังยั่งยืน
 
แน่นอนว่าเมื่อภาครัฐมีนโยบาย ผู้ตอบสนองไม่ได้มีแค่หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ภาคเอกชนที่พอจะมองเห็นช่องทางในการสร้างผลกำไรสายธุรกิจพลังงาน ต่างเข้าร่วมโหนกระแสนี้ด้วยการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ทั้งกลุ่ม SAMART และล่าสุด อีโค เวสท์ และซาทาเรม จับมือกันเดินเข้าสู่ธุรกิจนี้เช่นกัน
 
บริษัท อีโค เวสท์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ที่มี ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ นั่งแท่นประธานกรรมการ ด้วยประสบการณ์ด้านการเงินและการวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ ร่วมทุนกับ บริษัท ซาทาเรม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสัญชาติสวิส ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการบริหารจัดการของเสีย และการบริหารจัดการด้านพลังงานทางเลือก เทงบประมาณ 2.1 พันล้านบาท ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะโดยประเดิมที่แรก ต.ท่าโรงช้าง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
 
ถือได้ว่าอีโค เวสท์เป็นบริษัทแรกที่มีการร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยีอย่างซาทาเรม โดยมีสัดส่วนการถือครองหุ้น 75% และซาทาเรม ถือหุ้น 25% 
 
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าขยะท่าโรงช้างจะใช้เทคโนโลยีระบบตะกรับเคลื่อนที่ (Mechanical Moving Grate) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทางจากประเทศเยอรมนี จุดเด่นอยู่ตรงที่ระบบดังกล่าวไม่ต้องมีการคัดแยกขยะก่อนเข้าโรงเผา อีกทั้งยังสามารถปรับลดระดับความชื้นของขยะ โดยธีรศักดิ์อธิบายรายละเอียดว่า “ขยะของไทย เป็นขยะที่มีความชื้อสูงถึง 70% และก่อนนำเข้าเตาเผา จำเป็นต้องลดระดับความชื้นให้มาอยู่ในระดับ 20% ซึ่งซาทาเรมทำได้”
 
โครงการดังกล่าวให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการควบคุมค่าไดออกซินที่เกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ต่อศักดิ์ โชติมงคล กรรมการผู้จัดการบริษัท ซาทาเรม อธิบายถึงหลักการการจัดการขยะว่า “การกำจัดขยะมีหลายแบบ แต่โมเดลเอเชียจะต้องเผาหมด ระบบกำจัดขยะ Mechanical Moving Grate เป็นโรงไฟฟ้าระบบปิด ไม่มีกลิ่น ไม่มีมลภาวะ โดยจุดเด่นคือเทคโนโลยีที่ต้องควบคุมการเผาแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้ความร้อนคงที่ สามารถนำไปแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ และการควบคุมค่าของเสียที่ได้จากกระบวนการผลิตนั้น ต่ำว่าเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด โดยมาตรฐาน EU ค่าไดออกซินอยู่ที่ 0.1 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนมาตรฐานประเทศไทย ค่าไดออกซินอยู่ที่ 0.5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ซาทาเรมทำได้ต่ำกว่าที่กำหนดคือ 0.04 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร”
 
แม้จะมีตัวเลขค่าไดออกซินที่ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่กระนั้นย่อมมีคำถามเกิดขึ้นว่าโครงการดังกล่าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ชาวสุราษฎร์หรือจังหวัดใกล้เคียงจะยอมรับได้มากน้อยเพียงไหน การทำประชาพิจารณ์ผ่านอาจไม่ใช่เครื่องการันตีถึงความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว “เรามีการบริหารจัดการและการซ่อมบำรุงรักษาที่ดี ซึ่งโดยมากผู้ประกอบการมักจะมองข้ามประเด็นดังกล่าว ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วอายุของเครื่องจักร 1 เครื่อง ควรจะมีอายุการใช้งานประมาณ 20-30 ปี” ธีรศักดิ์ยืนยัน
 
เป้าประสงค์ของทั้งอีโค เวสท์ และซาทาเรม ที่หวังจะเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2561 โดยจะต้องสามารถกำจัดขยะได้ถึงวันละ 500 ตัน และผลิตไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ ดูจะไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนักเมื่อพิจารณาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ติดตัวมา
 
เมื่อธีรศักดิ์มองไปไกลกว่าแค่การตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพียงแค่โรงเดียว แต่มีเป้าหมายไกลถึงการลงทุนเพิ่มในอีก 6 พื้นที่ ได้แก่ ภาคใต้ 5 แห่งได้แก่ กระบี่ สงขลา ตรัง ปัตตานี และภูเก็ต ส่วนภาคเหนือ 1 แห่ง คือ จังหวัดแพร่ ซึ่งเหตุผลที่สนใจพื้นที่ภาคใต้มากกว่าเพราะยังมีสายส่งไฟฟ้าเหลืออยู่มากกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีไฟฟ้าทั้งที่มาจาก สปป.ลาว และพม่า
 
ปัจจุบันบริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอน PPA (Power Purchase Agreement) ขณะนี้กำลังรอประกาศเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าในช่วงเดือนสิงหาคมนี้จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งอีโค เวสท์จะยื่นเสนอขายไฟฟ้าและเสนอตัวเข้าแข่งขันด้านราคาค่าไฟฟ้า เพื่อให้ได้สัญญาซื้อขายทั้งโรงไฟฟ้าขยะและโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 7 พื้นที่พร้อมๆ กัน
 
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าขยะโครงการแรก อีโค เวสท์ เลือกสร้างที่บ่อฝังกลบขยะเดิมของตำบลท่าโรงช้าง เพราะเป็นที่ที่มีความพร้อมที่สุด ซึ่งมีซัปพลายเออร์ที่พร้อมจะส่งขยะให้ตลอด และที่สำคัญคือบ่อขยะอยู่ในพื้นที่เอกชนซึ่งสามารถดำเนินการได้สะดวกกว่า 
 
อีโค เวสท์คาดการณ์ว่าจุดคุ้มทุนของโครงการนี้อยู่ที่ 7 ปี ดูเหมือนว่าการที่ซาทาเรมเป็นบริษัทวิศวกรรมพื้นฐานที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องระบบการเผาในโรงปูนซีเมนต์ และพัฒนาจนเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะหลายชนิด และจากหลายประเทศได้แก่ อาร์เจนตินา กาบอง อินเดีย คองโก กินี รวมไปถึงจีน จะช่วยสร้างความมั่นใจในการลงทุนครั้งนี้มากถึงขนาดที่ว่าโครงการแรกยังไม่เริ่ม แต่สนใจลงทุนเพิ่มแล้ว
 
ในห้วงเวลาที่สถานการณ์ด้านพลังงานของไทยกำลังเดินทางมาถึงช่วงวิกฤต แน่นอนว่าพลังงานทางเลือกย่อมถูกหลายฝ่ายจับตา รวมไปถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการจะนำพลังงานเหล่านั้นมาใช้
 
ปัญหาขยะล้นเมืองที่กำลังเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายกำลังหาทางแก้ไขนั้น การที่มีบริษัทเอกชนสนใจที่จะนำเทคโนโลยีด้านการจัดการขยะเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน เสมือนว่าบริษัทเหล่านี้กำลังดำเนินธุรกิจไปในทิศทาง CSR หากแต่ก็สร้างผลกำไรได้เช่นกัน 
 
เพราะนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะที่ส่งผลดีต่อสังคมโดยรวมแล้ว กระนั้นก็ยังสามารถสร้างรายได้เข้าบริษัทได้จากการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าเช่นกันเพราะหากการไฟฟ้าไม่รับซื้อกระแสไฟที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ อาจจะมีคำถามให้ต้องคิดต่อไปว่า เหตุใดภาครัฐไม่สนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้พลังงานทดแทน
 
แน่นอนว่าคำถามเดียวกันอาจส่งถึงบริษัทอื่นที่มีศักยภาพและพรั่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่จะบริหารจัดการสิ่งของเหลือใช้ แล้วปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นพลังงานทดแทน ว่าจะนิ่งเฉยดูดายแล้วดำเนินธุรกิจที่หวังผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียวต่อไป หรือจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความตระหนักและช่วยให้คนในประเทศหันกลับมาใส่ใจวิกฤตพลังงานและใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกมากขึ้น