วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ย้อนเส้นทาง BNK48 “คุกกี้เสี่ยงทาย” ปลุกกระแสเกิร์ลกรุ๊ป

ย้อนเส้นทาง BNK48 “คุกกี้เสี่ยงทาย” ปลุกกระแสเกิร์ลกรุ๊ป

กระแสเกิร์ลกรุ๊ป (girl group) หรือกลุ่มนักร้องหญิงในต่างประเทศเริ่มต้นเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 ส่วนในไทยเริ่มต้นเมื่อปี 2524 ภายใต้ชื่อ “สาว สาว สาว” ได้รับความนิยมมากและมีวงนักร้องหญิงเกิดขึ้นตามมามากกว่า 30 วง เช่น ปุยฝ้าย ทีสเกิร์ต ซาซ่า 2002 ราตรี

กระทั่งปี 2560 เกิร์ลกรุ๊ปต่างชาติเข้ามาบุกประเทศไทยอย่างมีพลัง ในชื่อ BNK48 ซึ่งบริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ ติดต่อ AKS บริษัทที่จัดการและบริหารกลุ่มไอดอลญี่ปุ่น AKB48 เพื่อขอสิทธิ์มาทำวงน้องสาวในประเทศไทย

ก่อนหน้าการขอสิทธิ์นั้น ช่วงปลายปี 2556 โรส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอร์ปอเรชั่น แพ้การประมูลทีวีดิจิทัล หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้บริษัทเดินหน้าทำงานเกี่ยวกับการดูแลศิลปินแทน โดย จิรัฐ บวรวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โรส อาร์ทิสท์ แมเนจเม้นท์ ได้ติดต่อ AKS และเจรจาจนได้รับสิทธิ์

26 มีนาคม 2559 ในงานคอนเสิร์ตจบการศึกษาของ มินามิ ทากาฮาชิ สมาชิกวง AKB48 มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการก่อตั้งวงน้องสาวในต่างประเทศอีก 3 วง ได้แก่ วง TPE48 ไต้หวัน MNL48 ประเทศฟิลิปปินส์ และ BNK48 ประเทศไทย

ทั้งนี้ AKB48 เป็นกลุ่มไอดอลของประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยสมาชิกกว่า 100 คนที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 12-30 ปี ก่อตั้งโดยยาซูชิ อากิโมโตะ เมื่อปี 2548 โดยตั้งชื่อตามย่านอากิฮาบาระในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงละครประจำวง มีแนวคิดหลักคือ “ไอดอลที่คุณสามารถพบได้ หรือ idols you can meet ซึ่งหมายความว่าวงมีโรงละครเป็นของตัวเองที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถผลัดกันขึ้นแสดงได้ทุกวัน ต่างจากเกิร์ลกรุ๊ปทั่วไปที่ปกติจะพบเห็นได้ตามคอนเสิร์ตหรือโทรทัศน์เท่านั้น รวมถึงการจัด “งานจับมือ” ที่แฟนคลับสามารถให้กำลังใจสมาชิกที่ชื่นชอบได้ และด้วยสมาชิกที่มีจำนวนมาก ทำให้มีการแบ่งสมาชิกออกเป็นหลายทีม เพื่อผลัดกันขึ้นแสดงในโรงละคร

อากิโมโตะยังขยายแนวคิดนี้ด้วยการสร้าง “วงน้องสาว” ทั้งภายในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย ไทย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย บางประเทศมีมากกว่าหนึ่งวง อย่างประเทศไทย มีทั้งวง BNK48 และ CGM48 ทำให้กลายเป็นกลุ่มไอดอลที่มีขนาดใหญ่และจำนวนสมาชิกรวมกันมากที่สุดในเอเชีย ถือเป็นหนึ่งในวงที่มีรายได้สูงสุดในประเทศญี่ปุ่น มากกว่า 7,000 ล้านบาท

แน่นอนว่า ในไทยถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ โดยวง BNK48 เริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรกเมื่อกลางปี 2559 มีวัยรุ่นเข้าร่วมประชันความสามารถอย่างคับคั่ง และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2560 พร้อมซิงเกิลแรกในชื่อ “อยากจะได้พบเธอ” มีสมาชิก 30 คน แต่สมาชิกของวงมีจำนวนไม่แน่นอน เนื่องจากมีการเปิดรับสมาชิกรุ่นใหม่ตลอดเวลา

ปลายปี 2560 เพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” หรือ Koisuru Fortune Cookie เวอร์ชันไทยเริ่มติดกระแสและโด่งดังสุดขีด เกิดกิจกรรมรูปแบบใหม่ในไทยครั้งแรกและใช้กลยุทธ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟมากขึ้น เช่น งานจับมือที่มีผู้เข้าร่วมงานหลายพันคนทุกครั้ง งานถ่ายรูปคู่ งานเลือกตั้งเซ็มบัตสึ หรือการคัดเลือกสมาชิกพิเศษสำหรับแต่ละซิงเกิล และการแสดงในโรงละคร มีผลงานต่าง ๆ ทั้งเพลง การแสดงซีรีส์และภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณาสินค้า โดยเฉพาะผลงานภาพยนตร์เรื่อง BNK48: Girls Don’t Cry ได้รับรางวัลมากมาย

2 ปีต่อมา BNK48 ขยายวงน้องสาวอีก 1 วง คือ CGM48 และเป็นวงน้องสาวต่างประเทศลำดับที่ 7 ของกลุ่มไอดอลญี่ปุ่น AKB 48 โดยเปิดตัววงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2562 ในงาน BNK48 Thank You & The Beginner ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ซึ่งประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกที่มีวงน้องสาวของ AKB48 พร้อมกัน 2 วงและเป็นประเทศแรกนอกประเทศญี่ปุ่นที่มีวงของตัวเอง

ปกติแล้วชื่อของทุกวงในเครือ 48 กรุ๊ปขึ้นต้นด้วยตัวอักษรละตินตัวใหญ่ 3 ตัว ซึ่งย่อมาจากถิ่นกำเนิดของวงนั้น ๆ แล้วตามด้วยเลข “48” อ่านว่า โฟร์ตีเอต อย่าง BNK48 คำว่า “BNK” ย่อมาจากบางกอก (BANGKOK) หรือกรุงเทพมหานคร ส่วนเลข “48” มาจากนามสกุลของ โคตาโระ ชิบะ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เอเคเอส คือ คำว่า “ชิ” และ “บะ” เป็นคำพ้องเสียงของภาษาญี่ปุ่น แปลความหมายเป็นเลข “4” และ “8”

ส่วน CGM48 คำว่า “CGM” ย่อมาจากจังหวัดเชียงใหม่ (CHIANG MAI) มีสีประจำวงเป็นสีเขียวมินต์ของธรรมชาติที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ทางภาคเหนือ มีที่ตั้งและทำกิจกรรมอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก.

ใส่ความเห็น