วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > แท็กซี่ตบเท้าขึ้นราคา จ๊าก! แอปฯ โขกค่าเรียกทะลุ 100%

แท็กซี่ตบเท้าขึ้นราคา จ๊าก! แอปฯ โขกค่าเรียกทะลุ 100%

ค่าครองชีพคนไทยยังพุ่งไม่หยุด น้ำมัน ค่าไฟ บะหมี่ซอง และล่าสุด เครือข่าย 4 สมาคมแท็กซี่ ได้แก่ สมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า และสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย ยื่นเรื่องกดดันนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้พิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 45 บาท จากปัจจุบัน 35 บาท

รายละเอียด คือ รถเล็กเครื่องยนต์ 1600-1800 ซีซี 1 กม. แรก 45 บาท ส่วนรถใหญ่เครื่องยนต์ 2000 ซีซีขึ้นไป 1 กม. แรก 50 บาท

จากนั้น กม. ที่ 2-20 กม. ละ 10 บาท กม. ที่ 21-40 กม. ละ 11 บาท กม. ที่ 40-60 กม. ละ 12 บาท และ กม. ที่ 60 ขึ้นไป กม. ละ 13 บาท

กรณีจราจรติดขัด คิด 5 บาทต่อนาที เทียบกับปัจจุบันทั้งรถเล็กรถใหญ่เริ่มต้นอัตราค่าโดยสารที่ 35 บาท กม. ที่ 2-10 คิดเพิ่ม กม. ละ 5.50 บาท กม. ที่ 11-20 กม. ละ 6 บาท

กรณีจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือผ่านแอปพลิเคชันให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มจากค่าโดยสารอีก 35 บาท และกรณีการจ้างผ่านท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้น (เซอร์วิสชาร์จ) รถแท็กซี่ขนาดเล็กจากเดิม 50 บาท ปรับเพิ่มเป็น 75 บาท และรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ จากเดิม 50 บาท เพิ่มเป็น 95 บาท หากไม่ได้รับการพิจารณา แนวร่วม 4 สมาคมจะหารือเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป

แน่นอนว่า หากมีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารแท็กซี่ใหม่ จะทำให้ผู้ใช้บริการต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ทั้งอัตราเริ่มต้นจาก 35 บาท เป็น 45 บาท จากนั้น กม. ที่ 2 จะจ่ายเพิ่มจากเดิมอีก กม. ละเท่าตัว จาก 5.5 บาทต่อ กม. เป็น 10 บาท ซึ่งค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ในปัจจุบันคิดระยะทาง 2-10 กม. ละ 5.50 บาท กม. 10-20 กม. ละ 6.50 บาท กม. 21-40 กม. ละ 7.50 บาท กม. 41-60 กม. ละ 8 บาท กม. 61-80 กม. ละ 9 บาท กม. 81 ขึ้นไป กม. ละ 10.50 บาท กรณีรถติด หยุดนิ่ง คิดเพิ่มเพียง 1.50 บาทต่อนาที

นายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ยืนยันเสนออัตราโดยสารที่คงค้าง 5% เมื่อ 8 ปีก่อน แต่สถานการณ์ปัจจุบันค่าครองชีพรวมถึงภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปมาก การขึ้นค่าโดยสารในอัตราเดิมเมื่อ 8 ปี ทำให้ผู้ประกอบอาชีพรถแท็กซี่ขาดทุน รายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย

ขณะเดียวกันการพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่ ขบ. ได้ทำมาตลอด เน้นฐานแนวคิดให้ประชาชนได้ราคาถูก แต่ให้อู่หรือสหกรณ์ที่ลงทุนในตัวรถสามารถอยู่ได้ คนขับขอให้ได้เพียงค่าแรงขั้นต่ำ อัตราค่าโดยสารจึงไม่ตรงกับค่าครองชีพและนับตั้งแต่มีการขึ้นทะเบียนรถแท็กซี่มิเตอร์ในปี 2535 พบว่าอัตราค่าโดยสารตามขั้นบันได ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 3.50 บาท

ส่วนอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในปัจจุบัน อัตราค่าโดยสารตามขั้นบันไดราคาต่ำสุดอยู่ที่ 5.50 บาท เท่ากับว่าระยะเวลาที่ผ่านมา 30 ปี มีการขึ้นค่าโดยสารเพียง 2 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กลุ่มแท็กซี่ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องการปรับอัตราค่าโดยสาร เกิดกรณีแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ “ไลน์แมน” ปรับเพิ่มอัตราค่าเรียกใช้บริการจากปกติคงที่ 20 บาทต่อเที่ยว เป็นอัตราผันแปรสูงสุด 50 บาทต่อเที่ยว ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยระบุในแอปฯว่า “คิดค่าโดยสารตามมิเตอร์และมีการเก็บค่าเรียกตามสภาพการจราจรและความต้องการเรียกรถแท็กซี่ในขณะนั้น”

บางเที่ยวอาจคิดค่าเรียก 20 บาท บางเที่ยว 38 บาท หรือบางเที่ยว 50 บาท ผู้บริโภคบางคนเดินทางระยะใกล้ ค่าโดยสารตามมิเตอร์อยู่ที่ 53 บาท แต่โดนค่าเรียก 50 บาท บวกรวมกันทะลุร้อยบาท ทั้งที่ในเว็บไซต์ https://lineman.line.me/taxi/ ยังระบุเช่นเดิมว่า “ค่าเดินทางแฟร์ๆ คิดค่าเรียกแค่ 20 บาท ไม่ต้องเสี่ยงโดนบวก ไม่ต้องกลัวโดนโกงราคา เราคิดค่าโดยสารตามจริงตามมิเตอร์รถแท็กซี่ เพิ่มค่าบริการเรียกแค่ 20 บาท เรียกได้ทุกวัน ทุกช่วงเวลา”

“ผู้จัดการ 360” ได้พูดคุยกับโชเฟอร์แท็กซี่หลายราย ส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า แอปพลิเคชันค่ายดังกล่าวปรับอัตราค่าเรียกนานกว่าเดือนแล้ว แต่โชเฟอร์แท็กซี่ยังได้ในอัตราเดิม 10 บาทต่อเที่ยว ผู้บริโภคหลายคนไม่ทราบเรื่องอัตราค่าเรียกใหม่และเข้าใจว่าผู้ขับขี่แท็กซี่ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่

ส่วนแอปฯ อื่นและศูนย์วิทยุกลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ ซึ่งเดิมปิดให้บริการในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะลูกค้าส่วนใหญ่งดเดินทาง ต่างกลับมาให้บริการมากขึ้นหลังทางการคลายล็อกและเปิดประเทศ โดยส่วนใหญ่ยังยืนอัตราค่าเรียก 20 บาทต่อเที่ยว

ปัจจุบันกลุ่มแอปพลิเคชันบริการแท็กซี่มีหลายค่าย เช่น Grab ซึ่งเป็นแอปฯ เรียกแท็กซี่ที่เปิดให้บริการในไทยเป็นรายแรกๆ มีรถแท็กซี่ในระบบจำนวนมาก ลูกค้าสามารถเลือกรถได้หลายประเภท สามารถเช่ารถหรือจ้างคนขับแบบเหมาชั่วโมงได้ เมื่อมีคนขับกดรับแล้วจะแสดงข้อมูลรายละเอียดของคนขั บ ทั้งรูปถ่าย ชื่อ เลขทะเบียน และเบอร์โทรศัพท์ โดยแอปฯ จะมีการเก็บค่าเรียกใช้บริการเพิ่มเติมจากมิเตอร์ 25 บาท และอาจคิดเพิ่มตามความหนาแน่นของการจราจรละแวกนั้น เลือกชำระเงินได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิต
Bolt แอปฯ เรียกแท็กซี่ที่กำลังมาแรง สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีการแจ้งราคาให้ทราบก่อนกดเรียกรถ พร้อมฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย เช่น แชร์รายละเอียดการเดินทางให้คนอื่น ส่วนการชำระเงินนั้นสามารถเลือกจ่ายได้ทั้งแบบเงินสดและผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต

Uber แอปฯ เรียกรถที่เน้นรถระดับไฮคลาส ราคาค่าบริการแพงกว่าแอปฯ อื่นๆ เมื่อเรียกรถแล้วจะได้เห็นรูปคนขับรถ ข้อมูลรถยนต์ และดูเวลามาถึงได้บนแผนที่ สามารถเลือกชำระเงินได้ทั้งผ่านบัตรเครดิต เงินสด หรือจะจ่ายด้วยช่องทางอื่นๆ อย่างเช่น Android Pay, Paypal นอกจากนี้ ยังมีแอปฯ Gojek และ Bonku

ด้านกลุ่มสหกรณ์มีหลายรายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เจริญเมืองแท็กซี่ 0-2215-1584 สหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพ 0-2880-0888 ศูนย์แท็กซี่พระราม 9 0-2319-9911 ศูนย์วิทยุสหกรณ์แท็กซี่ไทย 0-2438-9000 ศูนย์วิทยุสหกรณ์ธนบุรีแท็กซี่ 0-2676-1000 ศูนย์ taxi กรุงเทพ 0-2880-0888 ศูนย์ taxi การ์เด้น 0-2875-9992 ถึง 5 ศูนย์ taxi ปทุมวัน 0-2613-8000

ศูนย์ taxi ภูมิพลัง 0-2676-1000 ศูนย์ taxi โฮวา 0-2424-2222 รวมถึง Taxi OK แอปฯ สำหรับใช้เรียกรถแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการแท็กซี่โอเคกับกรมการขนส่งทางบก มีค่าเรียกใช้บริการผ่านแอปฯ เพียงครั้งละ 20 บาท ตัวแอปฯ เวลาจะกดเรียกจะมีให้ดูบนแผนที่ด้วยว่าในละแวกนั้นมีรถแท็กซี่ของ Taxi OK กี่คันและอยู่ตรงไหนบ้าง

แน่นอนว่า ในยุคเศรษฐกิจ “แพงทั้งแผ่นดิน” ผู้บริโภคต้องดูข้อมูลรอบด้าน ไม่เช่นนั้นอาจต้องร้องจ๊ากเมื่อถูกเรียกค่าชาร์จพุ่งพรวดกว่า 100% โดยไม่มีกฎหมายควบคุมได้.

ใส่ความเห็น