วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > อุบัติภัยบนท้องถนน ภาพสะท้อนวินัยจราจร

อุบัติภัยบนท้องถนน ภาพสะท้อนวินัยจราจร

ข่าวความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติภัยบนท้องถนน แม้ในด้านหนึ่งจะดูเป็นเหตุทั่วไปที่พร้อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากแต่ในอีกมิติหนึ่งกรณีดังกล่าวกลับเป็นภาพสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทย ที่มีนัยความหมายต่อทั้งวิถีในการบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมาย และสำนึกตระหนักว่าด้วยวินัยจราจร ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามสร้างวาทกรรมว่าด้วย “วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ มากนัก นอกจากจะยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนากันต่อไปเท่านั้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลไกภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาชน หรือองค์กรต่างๆ ได้ออกมาเร่งรณรงค์ในเรื่องของการขับขี่เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน ด้วยหวังว่าการระดมประชาสัมพันธ์สร้างการตื่นตัวดังกล่าวจะช่วยลดอุบัติเหตุให้น้อยลง

หากแต่ในความเป็นจริงอัตราการเกิดและสูญเสียชีวิตจากอุบัติภัยบนท้องถนนของไทย กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก โดยตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติภัยบนท้องถนนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500-1,600 คนต่อเดือน หรือเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนชั่วโมงละ 2-3 ราย และทำให้ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิต 20,000 รายต่อปี และนับเป็นมูลค่าความสูญเสียสูงถึง 5 แสนล้านบาทอีกด้วย

ขณะที่ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวไม่ว่าจะเป็นช่วงปีใหม่ สงกรานต์ และวันหยุดต่อเนื่องอื่นๆ กลายเป็นช่วงเวลาที่มีความสูญเสียจากอุบัติภัยบนท้องถนนเพิ่มขึ้นอีก จนทำให้ยอดรวมของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละปีมีสูงถึง 25,000 คน และทำให้ต้องรณรงค์เฝ้าระวังกันอย่างเอิกเกริก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลประเพณีไปด้วยอีกส่วนหนึ่งโดยปริยาย

ข้อถกเถียงที่ดำเนินควบคู่กับสถิติจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และความสูญเสียจากอุบัติภัยบนท้องถนนในด้านหนึ่งวนเวียนอยู่กับประเด็นที่ว่า “กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์หรือกลไกรัฐไร้ประสิทธิภาพ” เพราะถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยทางถนนหลายฉบับ

นับตั้งแต่พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ไปจนถึงกฎระเบียบต่างๆ มากมาย ที่ออกโดยฐานอำนาจของพระราชบัญญัติที่กล่าวมาข้างต้น ทว่าเป้าประสงค์การบังคับใช้กฎหมายแต่ละฉบับจะแตกต่างกันไปตามภารกิจเฉพาะด้านของแต่ละหน่วยงาน

โดยกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และการขนส่งทางบกจะมุ่งเรื่อง “ยานพาหนะที่ปลอดภัยและความพร้อมในการใช้รถ” เป็นหลัก เริ่มตั้งแต่การสอบใบขับขี่ไปจนถึงการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในรถยนต์ประเภทต่างๆ ก่อนจะออกไปเป็นผู้ใช้รถใช้ถนน โดยมีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

ขณะที่กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกจะเน้นการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานจราจร (ตำรวจ) ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุม “พฤติกรรมผู้ใช้รถใช้ถนน” มีอำนาจลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่ฝ่าฝืนกฎจราจรและป้ายสัญญาณต่างๆ ถือเป็นกฎหมายเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่และการควบคุมมิให้เกิดอุบัติเหตุโดยตรง ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยดำเนินการ

ส่วนกฎหมายว่าด้วยทางหลวงจะให้ความสำคัญเรื่อง “ความพร้อมด้านถนนและสภาพแวดล้อมที่อำนวยความปลอดภัยในการเดินทาง” โดยมีกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทคอยควบคุมมาตรฐานก่อสร้างและบำรุงรักษา

ความเป็นไปและข้อเท็จจริงในลักษณะดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังดำเนินไปในแบบที่หน่วยราชการแต่ละแห่งที่ถือกฎหมายและวิถีปฏิบัติต่างกัน ไม่ได้เชื่อมโยงและสร้างเอกภาพในความรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปโดยไม่ได้ช่วยให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนลดลงแต่อย่างใด

ความหนักหน่วงของปัญหาถูกฉายซ้ำให้ชัดเจนขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว เมื่อกิจกรรมรณรงค์ของภาครัฐที่สังคมไทยคุ้นเคยกันดีในนามของ “7 วัน อันตราย” ตามด้วยสร้อยคำของเทศกาลในแต่ละช่วงเวลา กลับกลายเป็น “เทศกาลแห่งความสูญเสีย”

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสำคัญกับจำนวนอุบัติเหตุว่าเกิดขึ้นกี่ครั้ง มีผู้เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บจำนวนเท่าใด ภายใต้ฐานความคิดและการวิเคราะห์สาเหตุจากข้อมูลชุดเดิม ไม่ว่าจะเป็น เมา ขับเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร ไม่สวมอุปกรณ์นิรภัย สภาพรถชำรุด ซึ่งดำเนินไปเช่นนี้ทุกปี แต่สถิติการสูญเสียก็ไม่ได้ลดลง และในบางกรณีมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

กรณีที่น่าสนใจยิ่งขึ้นอยู่ที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบหลักในการดำเนินความพยายามที่จะลดอุบัติเหตุบนท้องถนนกลายเป็นบทบาทของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย แม้ว่างานด้านถนนควรจะเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมโดยตรง ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะโครงสร้างการบริหารภาครัฐ ที่กระทรวงคมนาคมไม่สามารถสั่งการหรือควบคุมการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในภูมิภาคได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเชิงระบบที่ทับซ้อนและทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารลดน้อยลง

ประเด็นปัญหาว่าด้วยความปลอดภัยทางถนน ยังประกอบส่วนด้วยมิติของมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทางร่วมบริการ รถตู้รับจ้าง หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง มาตรฐานความปลอดภัยทางวิศวกรรมจราจรและการสำรวจจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของท้องถิ่นทั่วประเทศ ปัญหาด้านคุณภาพของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถจำนวนไม่น้อยที่ขาดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน

ขณะที่พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของการขับขี่ในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตโดยเพิกเฉยต่อความปลอดภัยสาธารณะ ยังเป็นปัญหาที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างเด็ดขาด แม้ว่ากรณีเช่นนี้ควรได้รับการพิจารณาโทษในฐานความผิดที่กระทำโดยเจตนาและสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมในมาตรฐานเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นด้วยซ้ำ

ความปลอดภัยบนท้องถนนคงเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดปัจจัยว่าด้วย “มนุษย์” ซึ่งการที่จะผลักดันหรือขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีจิตสำนึกเคารพกฎหมาย มีวินัยจราจร และคำนึงถึงความปลอดภัยของสาธารณะ หรือสวัสดิภาพส่วนรวม จำเป็นต้องมีกฎหมายเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนที่จะช่วยส่งเสริมการปลูกฝังวินัยจราจรและวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้บังเกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

บางทีนี่อาจถึงเวลาที่สังคมไทยต้องหันมาเริ่มพัฒนาและสร้างทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็นบุคลากรที่มีจิตสำนึกสาธารณะ ก่อนที่จะส่งเสริมวินัยจราจร ที่จะเป็นประหนึ่งภาพสะท้อนพัฒนาการทางสังคมไทยต่อไปในอนาคต

ใส่ความเห็น