วันพฤหัสบดี, กันยายน 12, 2024
Home > Cover Story > คนจนล้นทะลุเป้า วิกฤตอาหาร น้ำมันแพง

คนจนล้นทะลุเป้า วิกฤตอาหาร น้ำมันแพง

เดือนสิงหาคมนี้กระทรวงการคลังเตรียมเปิดรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” รอบใหม่ โดยทางการคาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 20 ล้านคน แต่หลายฝ่ายกลับประมาณการตัวเลขจะเกินทะลุเป้า หลังเกิดมรสุมรอบด้าน ทั้งวิกฤตน้ำมัน วิกฤตอาหารราคาแพงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูง ขณะที่รายได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์จากราคาข้าวของที่แพงขึ้น

กรณีล่าสุด เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ อ. เขาพนม จ. กระบี่ นำน้ำยางพาราขายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำยางสด บ้านทับพรุ หมู่ 5 ต. เขาดิน อ. เขาพนม ราคากิโลกรัม (กก.) ละ 48 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากต้นเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 64 บาทต่อ กก. ลดลงถึง 16 บาทต่อ กก. ทำให้ชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก แต่สินค้าอื่นกลับปรับราคาสูงขึ้น ทั้งเนื้อหมู ไก่ น้ำมัน ปุ๋ย

เช่นเดียวกับราคาข้าวสารที่บรรดาพ่อค้ารายใหญ่เตรียมประกาศขึ้นราคาข้าวถุง โดยสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยระบุว่า ราคาข้าวสารขาวในประเทศขยับสูงขึ้นเป็น กก. ละ 15 บาท เพิ่มขึ้น 20-30% และแนวโน้มสูงขึ้นอีกจนถึงช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จนกว่าจะมีผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ออกมาและราคาข้าวสารบรรจุถุงอาจต้องปรับขึ้นราคาขายปลีกตามต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย

เช่น ข้าวขาวบรรจุถุงขนาด 5 กก. ราคาอยู่ระหว่างถุงละ 70-120 บาท มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปเป็น ถุงละ 90-150 บาท เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20-30% ขึ้นอยู่กับแบรนด์ของสินค้าเพราะที่ผ่านมาผลผลิตลดน้อยลงและมีคำสั่งซื้อข้าวสารจากต่างประเทศเข้ามามาก

แต่หากย้อนกลับไปดูราคาข้าวเปลือกเริ่มปรับตัวลง ทำให้ชาวนากำลังจะขาดทุนและเป็นหนี้ เพราะต้นทุนการเพาะปลูก ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ย แพงขึ้น

ดังนั้น แม้ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก อาจไม่ได้เจอวิกฤตอาหารในแง่การขาดแคลนเหมือนหลายประเทศ แต่จะเจอวิกฤตราคาอาหารและวัตถุดิบถีบตัวขึ้นหลายเท่า

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า วิกฤตความมั่นคงทางอาหารของโลกอาจเข้ามาทำให้เกิดเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ดันราคาอาหารไทยเร่งตัวสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี โดย 5 เดือนแรกปี 2565 ดัชนีราคาอาหารโลกปรับขึ้นเฉลี่ย 25% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 28% ในปี 2564 จากปัจจัยรอบด้าน

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการระบาดของโควิดหลายระลอกกระทบการผลิต ความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังโควิดเริ่มทยอยคลี่คลาย ภัยธรรมชาติในหลายประเทศผู้ผลิตอาหาร เช่น น้ำท่วมใหญ่ในบราซิล สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ มาตรการจำกัดการส่งออกอาหารและปุ๋ยจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งมีผลต่อราคานำเข้าวัตถุดิบ

ราคาอาหารไทยอาจปรับขึ้นในครึ่งหลังปีนี้และมีแนวโน้มยืนสูงต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปีหน้า โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ข้าว และเนื้อหมู ทำให้ผู้ประกอบการมีโจทย์การบริหารจัดการต้นทุนและผู้บริโภคต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง

แน่นอนว่า สถานการณ์ราคาพลังงานยังเป็นปมปัญหาใหญ่ แม้กระทรวงพลังงานพยายามหารือกับตัวแทนกลุ่มโรงกลั่น 6 โรง เพื่อเร่งพิจารณานำเงินกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนดีเซล และลดราคาเบนซินอัตรา 1 บาทต่อลิตร ช่วยเหลือประชาชนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (กรกฎาคม-กันยายน) เพราะฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเกินกว่าระดับ 1 แสนล้านบาทแล้ว

ทั้ง 6 โรงกลั่น ประกอบด้วย 1. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP 2. บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC 3. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC 4. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP 5. บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO และ 6. บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC

แต่ดูเหมือนการหารือที่เลื่อนมาถกเครียดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมายและกฎเกณฑ์เงื่อนไขในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลอาจต้องทบทวนแนวทางการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ จากปัจจุบันอุดหนุนราคาเหลือครึ่งหนึ่ง เพื่อตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร เช่น ลดการอุดหนุนเหลือ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของราคาเชื้อเพลิง เพราะจากข้อมูลจริง เพดานราคาดีเซลควรปรับขึ้นไปอยู่ที่ 36 บาท/ลิตร

ด้านสินค้าต่างๆ ทั้งข้าวสาร เนื้อหมู น้ำมันพืช ของสด ต้นหอม ผักชี ผักกะหล่ำ ถั่วฝักยาว พริกสด กุ้ง หอย ปู ปลา ปรับราคาขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม โดยเฉพาะผักชีพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 10 บาทต่อ ก.ก. เป็น 120-130 บาทต่อ ก.ก.

มูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) ระบุว่า ประเทศไทยเคยเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารมาหลายยุค ตั้งแต่สงครามโลก น้ำท่วม ภัยแล้ง และล่าสุดคือโรคระบาด ซึ่งก่อผลกระทบกว้างขวาง และปี 2565 ภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ค่าวัตถุดิบเพื่อนำไปประกอบอาหารราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ รวมทั้งความไม่ปลอดภัยของผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้างกดทับทางเลือกของคนจนน้อยลงไปอีก

ที่สำคัญ ค่าอาหารถือเป็นค่าใช้จ่ายสูงมาก จากรายงานผลการศึกษาการจัดการอาหารโรงเรียนชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ (2565) เปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายอาหารของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ร้อยละ 48 เทียบกับกลุ่มผู้มีรายได้สูงอยู่ที่ร้อยละ 25.1 เมื่อเทียบกับรายได้

สิ่งที่สะท้อนชัดเจน คือตัวเลขประชาชนผู้ถือบัตรคนจน ซึ่งมีอยู่ 13.45 ล้านคน เมื่อปี 2564 พุ่งกระฉูดแตะ 20 ล้านคน ในปี 2565 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ ประชาชนเหล่านี้จะได้รับผลจากวิกฤตอาหารหนักหนาสาหัสกว่ากลุ่มอื่น เพราะค่าใช้จ่ายกว่าครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร

ในทางตรงกันข้าม แม้ราคาธัญพืชในระดับโลกเฉลี่ยสูงขึ้น ชาวนาซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งของเกษตรกรกลับขายข้าวในราคาตกต่ำ แม้เกษตรกรกลุ่มอื่นที่ผลผลิตมีราคาดีกว่า เช่น ปาล์ม อ้อย ไม้ผล ข้าวโพด แต่ต้องเจอปัญหาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยและสารเคมี พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

“ราคาอาหารที่สูงขึ้นนอกจากประชาชนทุกคนในฐานะผู้บริโภคและเกษตรกรรายย่อยจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว กลับเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารและบริษัทขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ผูกขาดช่องทางการจำหน่าย ส่งผลกระทบต่อการค้าขายของคนที่มีต้นทุนน้อย ราคาขายของคนที่มีทรัพยากรต้นทุนน้อยกว่าจึงแพงกว่า ผู้ที่รวบรวมทรัพยากรในการผลิตได้มากกว่า ขายได้ในราคาถูกกว่าและได้กำไรมากกว่า รวมถึงการแย่งชิงพื้นที่ขายอาหารจากเทคโนโลยีตู้อัตโนมัติ” ไบโอไทยระบุ

ทั้งหมดล้วนเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปมปัญหาและยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นด้วย.

ใส่ความเห็น