วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > เที่ยวเมืองคำม่วน ให้ม่วนซื่นรับ AEC

เที่ยวเมืองคำม่วน ให้ม่วนซื่นรับ AEC

 
 
อากาศร้อนแทบจะทะลุปรอทขนาดนี้ หลายคนอาจจะหงุดหงิดจนทำให้ความรื่นรมย์ในชีวิตขาดหายไปชั่วขณะ “ผู้จัดการ 360 ํ” ขอถือโอกาสนี้ พาผู้อ่านไป “ม่วนซื่น” กันที่ “คำม่วน” แขวงที่อยู่กึ่งกลางประเทศ สปป.ลาว เพื่อดับความร้อนและเพิ่มความเย็นให้กับหัวใจกันดีกว่า
 
แต่ก่อนจะข้ามไปยัง “แขวงคำม่วน” เราตั้งต้นที่จังหวัดที่อยู่ติดกับแขวงคำม่วน มีเพียงลำน้ำโขงกั้นกลาง และเป็นจังหวัดที่ดัชนีชี้วัดความสุขของผู้คนในเมืองติดอันดับหนึ่งของประเทศไทย อย่างจังหวัดนครพนมกันก่อน รับรองว่าม่วนซื่นไม่แพ้กัน เพราะเขาว่ากันว่า “มาอีสานต้องสนุก”
 
นครพนมตั้งอยู่ทางภาคอีสานของเมืองไทย อยู่ตรงข้ามกับแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว เป็นเมืองที่เงียบสงบ ไม่เร่งรีบ และความที่เป็นเมืองชายแดนติดกับ สปป.ลาว เพราะฉะนั้นจึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีความเป็นอยู่ ระหว่างไทย ลาว รวมถึงเวียดนาม และฉายภาพออกมาให้เราสัมผัสได้ ทั้งวัดวาอาราม อาหารการกิน และประเพณี
 
โปรแกรมที่เรียกว่าขาดไม่ได้เลยสำหรับการมาเยือนนครพนมคือ “นมัสการพระธาตุพนม” พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองและเป็นพระธาตุประจำตัวผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ พระธาตุพนมเป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระอุรังคธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
 
ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระธาตุสร้างในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูร ซึ่งอาณาจักรศรีโคตรบูรนี้ครอบคลุมไปถึงแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว ด้วยเช่นกัน
 
พระธาตุพนมไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมเท่านั้น ยังเป็นที่เคารพของชาวไทยภาคอื่นๆ และชาวลาวอีกด้วย ว่ากันว่า ถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลและจะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนมเพียง 1 ครั้ง ก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว
 
สำหรับผู้ที่เกิดวันอื่นๆ ไม่ต้องน้อยใจไป นครพนมเป็นเมืองแห่งพระธาตุ และมีพระธาตุประจำวันเกิดครบทั้ง 7 วันเลยทีเดียว ถ้าใครชอบทำบุญ ไหว้พระ รับรองว่าที่นี่ตอบโจทย์ได้แน่นอน
 
นครพนมมีถนนเส้นหลักของเมืองเพียงไม่กี่เส้น แต่ถนนเส้นที่ลัดเลาะเลียบแม่น้ำโขง ดูจะสร้างมนต์เสน่ห์ให้กับเมืองได้เป็นอย่างดี เหมือนกับเมืองริมโขงในที่อื่น อย่างเชียงคานหรือหนองคาย ที่ทางจังหวัดพยายามปรับภูมิทัศน์และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกไว้รองรับนักท่องเที่ยว ทั้งที่พัก ร้านอาหาร จุดชมวิวและมุมถ่ายภาพเก๋ๆ ไว้เป็นที่ระลึก
 
ถนนเลียบโขงนี้เป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่คู่เมืองนครพนมอย่าง “วัดโอกาส” หรือวัดโอกาสศรีบัวบาน เป็นที่ประดิษฐาน “พระติ้วและพระเทียม” พระพุทธรูปแฝดอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวไทยและชาวลาว
 
เลียบโขงไปเรื่อยๆ เราจะพบกับ “วัดนักบุญอันนา” โบสถ์ของชุมชนชาวคริสต์ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ริมโขงโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงาม เกิดขึ้นพร้อมกับการอพยพเข้ามาของชาวเวียดนาม สำหรับนครพนมนั้นถือเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาวโรมันคาทอลิกที่มั่นคงมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่ผสมกลมกลืนกันมาตั้งแต่อดีต
 
ช่วงสงครามอินโดจีนชาวเวียดนามอพยพมาตั้งถิ่นฐานกันที่นครพนมรวมถึงแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว สร้างบ้านเรือนอยู่ที่นี่ และเมื่อสงครามสงบ ชาวเวียดนามบางส่วนกลับคืนสู่มาตุภูมิแต่บางส่วนเลือกที่จะลงหลักปักฐานอยู่ต่อ ก่อให้เกิดสายสัมพันธ์และการผสานกันทางวัฒนธรรมที่ปรากฏให้เราเห็น ทั้งศาสนาความเชื่อของชาวเวียดนามอย่างวัดนักบุญอันนา อาหารการกินที่ได้รับอิทธิพลจากเวียดนามทั้ง เฝอ หมูยอ แหนมเนือง ที่เชื่อแน่ว่าทุกท่านคุ้นชินกันเป็นอย่างดี รวมถึงหอนาฬิกาซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญตั้งอยู่ริมโขง ชาวเวียดนามสร้างไว้เป็นที่ระลึกก่อนที่จะเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของตน
 
หลังจากทำความรู้จักกับนครพนมกันพอหอมปากหอมคอแล้ว เราจะพาข้ามไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน โดยใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ซึ่งเปิดใช้บริการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 ไปดูกันว่าอีกฟากหนึ่งของลำน้ำโขงเป็นอย่างไรกันบ้าง
 
ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเสร็จเรียบร้อย เดินทางกันต่อไปยังเมืองท่าแขกซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสะพานมิตรภาพเท่าใดนัก ระหว่างทางเราจะพบกำแพงหินขนาดยักษ์สัณฐานแปลกตาดุจกำแพงเมืองโบราณ มีลักษณะเหมือนหินก้อนใหญ่ๆ ซ้อนกันหลายชั้น สูงไม่ต่ำกว่า 5 เมตร ยาวนับ 10 กิโลเมตร ทางวิชาการสันนิษฐานว่าเกิดจากรอยเลื่อนท่าแขกที่มีการเคลื่อนตัว 
 
แต่ตำนานกับแหล่งท่องเที่ยวเป็นของคู่กัน ตามตำนานของคนท่าแขกเชื่อว่า กำแพงหินยักษ์นี้เกิดจากการกระทำของยักษ์ในลุ่มน้ำโขงนั่นเอง ถ้าใครสนใจลองไปพูดคุยกับคนท้องถิ่นดู แล้วจะได้พบมุมมองและความเชื่อที่มีต่อกำแพงหินยักษ์นี้ในรูปแบบที่ต่างกัน
 
ใช้เวลาเดินทางจากด่านตรวจคนเข้ามาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเราก็มาถึง “เมืองท่าแขก” เมืองหลวงของแขวงคำม่วน อยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์มาทางทิศใต้ราว 350 กิโลเมตร เป็นเมืองท่าค้าขายและมีด่านชายแดนสากลติดต่อกับจังหวัดนครพนมของไทย
 
ราวพุทธศตวรรษที่ 10  เมืองท่าแขกนี้คือดินแดนส่วนหนึ่งในอาณาจักรฟูนันและเจนละของพระเจ้าสุริยะวรมันแห่งเขมร คนลาวเรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า “สีโคตะบูน” จนปี พ.ศ. 2454 ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสที่ขยายอิทธิพลเข้ามาและยึดอำนาจปกครอง เมืองสีโคตะบูนจึงได้ชื่อว่าเมือง “ท่าแขก” เพราะเป็นเมืองที่ชาวต่างชาติเข้ามาเทียบเรือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 
เมื่อเกิดสงครามต่อต้านจักรวรรดินิยม ชาวเวียดนามจำนวนมากอพยพมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองท่าแขก ประกอบอาชีพค้าขาย เมื่อสงครามสงบจึงได้อพยพกลับ ทำให้เมืองท่าแขกมีสถาปัตยกรรมผสมผสานทั้งแบบฝรั่งเศสและเวียดนาม รวมถึงมีการผสมผสานกันทางเชื้อชาติ เกิดเป็นคนลาวที่มีทั้งเชื้อฝรั่งเศสและเวียดนาม ตามที่ชาวลาวเรียกว่า “ลูกซอด” เหมือนลูกครึ่งในภาษาไทย
 
สถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียลผสานกับทัศนียภาพริมโขงบวกกับวิถีชีวิตเรียบง่ายของคนท้องถิ่นกลายเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทอดอารมณ์ชมความงามของเมืองท่าแขกได้อย่างไม่ยากเย็น
 
เลียบริมโขงของเมืองท่าแขกเป็นที่ตั้งของโรงแรมน้อยใหญ่ทั้งระดับ 5 ดาวจนถึงโรงแรมเล็กๆ รวมถึงร้านอาหารต่างๆ ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว เวลาพลบค่ำของแต่ละวัน ณ จัตุรัสกลางเมืองท่าแขกจะเป็นแหล่งสังสรรค์ของคนท้องถิ่น คล้ายๆ ตลาดโต้รุ่งแต่ไม่ใหญ่โตมากนัก มีแผงลอยขายเครื่องดื่มอย่างน้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ และของกินเล่น พร้อมโต๊ะเก้าอี้ตัวเตี้ยๆ ไว้บริการ มีเสน่ห์แบบไม่อึกทึกครึกโครม
 
ห่างออกจากตัวเมืองท่าแขกออกไปไม่ไกลนัก มีชุมชนชาวลาวเชื้อสายเวียดนามอย่าง “บ้านเชียงหวาง” ฝังตัวอยู่ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เราสัมผัสได้ถึงการผสานทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการกิน เพราะบ้านเชียงหวางเป็นแหล่งทำ “เส้นเฝอ” (เส้นก๋วยเตี๋ยวของเวียดนาม) ที่ขึ้นชื่อมาก ว่ากันว่า ถ้าจะกินเฝอ ต้องกินเส้นเฝอของบ้านเชียงหวาง เพราะเส้นเหนียว นุ่ม ชุ่มน้ำ แต่ไม่เละ
 
นอกจากเส้นเฝอแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่หากินได้ยาก และมีที่นี่ที่เดียวคือ “ขนมใบป่าน” หรือกาละแมเวียดนาม เป็นขนมดั้งเดิมของชาวเวียดนาม มีกรรมวิธีในการทำหลายขั้นตอน เริ่มจากการนำใบป่าน ใบของไม้พุ่มชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ช่วยแก้อาการร้อนใน เอาใบป่านมาต้มแล้วนำไปตากแดด เสร็จแล้วนำมาปั่นให้ละเอียดผสมกับแป้งข้าวเหนียว น้ำตาล ใส่ไส้ที่ทำจากถั่วเขียวซีกนึ่ง มะพร้าวขูด และน้ำตาล ปั้นเป็นก้อนห่อด้วยใบตอง ก่อนนำไปนึ่ง รับรองใครได้กินต้องติดใจ
 
บริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์” ที่จัดแสดงประวัติของประธานาธิบดีโฮจิมินห์และเจ้าสุภานุวงศ์ของชาวลาว ที่ร่วมกันกอบกู้เอกราชของชาติจากเจ้าอาณานิคม รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามอินโดจีน อันเป็นประวัติศาสตร์ร่วมของทั้งเวียดนามและลาว
 
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวในแง่ของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแล้ว แขวงคำม่วนยังอุดมไปด้วยธรรมชาติที่งดงาม จนได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่งผืนป่าและธรรมชาติ” ถ้ายืนอยู่ที่ฝั่งนครพนมและมองมายังแขวงคำม่วน เราจะพบกับเทือกเขาที่ทอดตัวยาวดุจกุ้ยหลินเมืองลาว 
 
แขวงคำม่วนมีเขตป่าสงวนที่สำคัญถึง 2 แห่ง คือภูหินปั้น และนากาย-น้ำเทิน เป็นป่าสงวนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีถ้ำที่สวยงามและยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มากมาย แต่ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
 
หนึ่งจังหวัด หนึ่งแขวง สองประเทศ ที่มีทั้งวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ที่น่าเรียนรู้ มีธรรมชาติที่งดงาม อย่างจังหวัดนครพนมของไทยและแขวงคำม่วน แห่ง สปป.ลาว น่าจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำหรับการท่องเที่ยวที่ผุดอยู่ในใจใครหลายคน ลองหาโอกาสมาเยือนสักครั้ง แล้วจะรู้ว่าบ้านใกล้เรือนเคียงของเรามีสิ่งที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่อีกมาก
 
 
 
ชาวบ้านบ้านเชียงหวาง แขวงคำม่วน สปป. ลาว กำลังเก็บเส้นเฝอ ที่ตากแห้ง
 
 
 
บรรยากาศในเมืองคำม่วน เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียล
 
 
 
กำแพงหินยักษ์โบราณเมืองท่าแขก มีความยาวกว่า 10 กิโลเมตร
 
 
 
ขนมใบป่าน ขนมดั้งเดิมของชาวเวียดนาม มีทำกันไม่กี่แห่งใน สปป, ลาว
 
 
 
ขนมใบป่าน ขนมดั้งเดิมของชาวเวียดนาม มีทำกันไม่กี่แห่งใน สปป, ลาว