วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > การท่องเที่ยวริมโขง แกร่งและพร้อมเข้าสู่ AEC

การท่องเที่ยวริมโขง แกร่งและพร้อมเข้าสู่ AEC

 
 
งวดเข้ามาทุกขณะกับการนับถอยหลังเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ห้วงเวลาที่ผ่านมาหลายฝ่ายต่างเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงและโอกาสที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ทั้งในบริบทของสังคม เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอีกฟันเฟืองหลักในวงล้อแห่ง AEC
 
การสร้างความพร้อมและความแข็งแกร่งทางการท่องเที่ยว จึงเป็นสิ่งสำคัญในการนำพาประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมีศักยภาพ การศึกษาวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวตามลำน้ำโขงไทย-ลาว เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เพื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม โดยมีลำน้ำโขงเป็นศูนย์กลาง
 
แม่น้ำโขงที่มีความยาวราว 4,900 กิโลเมตร ติดอันดับ 10 ของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลกไหลผ่านและเป็นเส้นกั้นพรมแดนประเทศน้อยใหญ่มากถึง 6 ประเทศ ตั้งแต่ จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ร่วมกันระหว่างประเทศสองฟากแม่น้ำโขง หลากหลายด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประจำถิ่น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวได้อย่างดี
 
“เส้นทางท่องเที่ยวริมฝั่งโขงนครพนม-คำม่วน” คือผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรมของความพยายามในการสร้าง จัดการ และพัฒนาให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว อันเกิดจากการศึกษาวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวตามลำน้ำโขงไทย-ลาว ที่ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่าง สกว. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวภายในท้องถิ่น ผลักดันให้เกิดโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวเอเชียและยุโรป
 
จากจังหวัดเล็กๆ ทางภาคอีสานของประเทศไทย อย่างจังหวัดนครพนม กับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ตอนกลางของ สปป.ลาว ดูจะเป็นเพียง “เมืองผ่าน” เพื่อเดินทางต่อไปยังสถานที่ต่างๆ เพราะจากคำม่วนสามารถเดินทางต่อไปยังประเทศเวียดนามได้ด้วยระยะทางไม่ไกล หรือไม่ก็เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวระยะสั้นๆ ที่เน้นไปทางทำบุญไหว้พระเท่านั้น แต่จากการศึกษาพบว่า นครพนม-คำม่วน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวทางเรือ
 
ด้วยภูมิศาสตร์แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านนครพนม-คำม่วน สามารถล่องเรือขนาดใหญ่ได้ เพราะไม่มีเกาะ แก่ง ดอน ที่เป็นอุปสรรคในการล่องเรือ สามารถจัดการท่องเที่ยวที่เน้นล่องแม่น้ำโขงชมความงามตามธรรมชาติได้ โดยในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการลงทุนสร้างเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ไว้รองรับนักท่องเที่ยวตามเส้นทางดังกล่าว รวมถึงหน่วยงานรัฐอย่างเทศบาลนครพนมก็มีเรือไว้บริการนักท่องเที่ยวเช่นกัน
 
นอกจากนี้ลักษณะของทั้งสองเมือง ยังมีความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ร่วมตั้งแต่สมัยอาณาจักรโบราณศรีโคตรบูร จวบจนถึงประวัติศาสตร์การเมืองช่วงสงครามอินโดจีนที่มีการอพยพหนีภัยสงครามของทั้งชาวลาวและเวียดนามมายังบริเวณนี้ เกิดเป็นชุมชนสองฝั่งโขงที่มีวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแม่เหล็กใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เช่นกัน
 
ฟากของจังหวัดนครพนมนอกจากศาสนสถานของชาวพุทธทั้งวัดวาอารามและพระธาตุ อย่างพระธาตุพนม พระธาตุเรณู พระธาตุมหาชัย วัดโอกาสศรีบัวบาน อันเป็นจุดขายดั้งเดิมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงศาสนาแล้ว ศาสนสถานทางคริสต์ศาสนาและชุมชนชาวคริสต์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการอพยพเข้ามาของชาวเวียดนามก็มีมิติทางสังคมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน 
 
“โบสถ์นักบุญอันนา” โบสถ์ของชุมชนชาวคริสต์ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งโขง ที่นอกจากมีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแล้ว ประวัติความเป็นมาก็น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
 
“บ้านนาจอก” ชุมชนของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่ทำให้เราเห็นภาพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนาความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์สงครามอินโดจีน เพราะประธานาธิบดีโฮจิมินห์เดินทางลี้ภัยสงครามมาอยู่ที่นี่และใช้เป็นสถานที่ประสานงานในการกอบกู้เอกราชและรวมประเทศเวียดนาม
 
สิ่งเหล่านี้คือลักษณะร่วมที่ปรากฏอยู่ในเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ด้วยเช่นกัน ทั้งศาสนสถานของชาวพุทธ อย่างพระธาตุศรีโคตรบูรณ์ ชุมชนชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม “บ้านเชียงหวาง” รวมถึงประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมเกี่ยวกับสงครามอินโดจีน การร่วมกันต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ และเจ้าสุภานุวงศ์ ดังจะเห็นได้จากพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ที่เมืองท่าแขก
 
ความงดงามของธรรมชาติ วิถีชีวิตพื้นบ้าน วัฒนธรรมประจำถิ่น และประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วมที่ยึดโยงไทย-ลาว-เวียดนาม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งที่สามารถเสริมความแข็งแกร่งเพื่อพัฒนาให้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวได้
 
แม่เหล็กสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล แต่ประเด็นที่น่าสนใจและอาจจะทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยใช้แม่น้ำโขงเป็นศูนย์กลางมีข้อขัดข้องนั้นอยู่ที่ “ข้อจำกัดทางกฎหมายระหว่างประเทศตามแม่น้ำโขง” ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้เรือของแต่ละประเทศจอดยังฝั่งของประเทศตนได้ 
 
ซึ่งฝ่ายความมั่นคงทั้งของฝั่งไทยและ สปป.ลาว คือหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกบางช่วงของแม่น้ำโขงเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
 
แม้ว่าจะมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เชื่อมนครพนม-คำม่วนอยู่แล้วก็ตาม แต่การท่องเที่ยวทางเรือนั้นมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวตามแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก ในบางพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองอาจผ่อนปรนและสามารถจัดการท่องเที่ยวได้ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
 
ดังนั้นถ้าภาครัฐเข้ามาช่วยปลดล็อกข้อจำกัดและเงื่อนไขด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะช่วยให้การท่องเที่ยวริมฝั่งโขงพัฒนาไปได้อย่างราบรื่น และเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีศักยภาพ