วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > ส่องสมรภูมิค้าปลีกไทย ขุมทรัพย์หรือกับดักธุรกิจ

ส่องสมรภูมิค้าปลีกไทย ขุมทรัพย์หรือกับดักธุรกิจ

 
ศักราชใหม่ปี 2559 ได้เริ่มขึ้นแล้ว และถ้อยวลีที่ว่า “ยุ่งเหยิงเหมือนลิงแก้แห” กำลังปรากฏภาพให้เห็นประจักษ์ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ และกำลังส่งผลกระทบแผ่ซ่านไปทั่วทั้งองคาพยพของสังคม 
 
เพราะไม่เพียงแต่จะมีประเด็นให้ต้องขบคิดในเชิงสังคมการเมืองที่ดูเหมือนจะหาทางออกและจัดวางหนทางไปสู่การปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมชัดเจนได้อย่างยากลำบากแล้ว ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ยาวนานก็ยังไม่ปรากฏสัญญาณเชิงบวกให้ได้ขานรับกันมากนัก
 
กรณีดังกล่าวนี้ส่งผลต่อบรรยากาศและสังคมจิตวิทยาอย่างกว้างขวางและกำลังขยายไปสู่ภาวะชะลอตัวในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมหลากหลายอย่างต่อเนื่องไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
 
ธุรกิจค้าปลีกไทยที่เคยมีอัตราการเติบโตแข็งแกร่งได้รับการระบุว่าเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นประหนึ่งดัชนีบ่งชี้และสะท้อนทิศทางของเศรษฐกิจว่าดำเนินไปในทิศทางใด กำลังเผยให้เห็นข้อเท็จจริงและแนวโน้มความเชื่อมั่นที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตอย่างยากจะปฏิเสธ
 
ความมุ่งหมายของภาคธุรกิจเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการของรัฐในช่วงไตรมาสที่ 4 ดูเหมือนจะไม่ได้ประโยชน์โพดผลตามที่คาดหวังเท่าใดนัก เพราะการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจจากมาตรการของรัฐกว่าจะเริ่มปรากฏผลก็ต้องรอไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือนข้างหน้า และมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถประคับประคองสถานการณ์ใดๆ ไว้ได้
 
ความตกต่ำลงของราคาพืชผลทางการเกษตรประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือน อาจทำให้ผู้บริโภคระดับกลาง-ล่างได้รับผลกระทบในมิติของกำลังซื้อ ในขณะที่ลูกค้ากลุ่มกลาง-บน ซึ่งแม้จะมีกำลังซื้อล้นเกินแต่ก็เป็นเพียงกลุ่มประชากรบนยอดพีระมิด ที่ไม่ได้หนุนนำพลวัตในระบบเศรษฐกิจมากนัก
 
ความเป็นไปในธุรกิจค้าปลีกท่ามกลางภาวะที่ขาดปัจจัยบวกหรือตัวแปรที่จะมากระตุ้นธุรกิจอุตสาหกรรมให้กลับมาเติบโตเช่นในอดีต ได้รับการเติมเต็มด้วยมาตรการระยะสั้น จากกระทรวงการคลังที่เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณามาตรการภาษีเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2558 จำนวน 1 มาตรการ 
 
มาตรการที่ว่านี้คือการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยให้ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตาม ม.86/4 แห่ง ป.รัษฎากร แต่ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ
 
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลไกภาครัฐพยายามส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการระยะสั้น เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการสำหรับวันที่ 16 ธันวาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เกี่ยวกับการลดหย่อนกรณีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหรือที่ได้จ่ายเป็นค่าโรงแรมภายในประเทศตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทำให้กระทรวงการคลังมีมาตรการภาษีเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2558 รวม 2 มาตรการ จำนวน 30,000 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังเชื่อว่านี่คือของขวัญที่จะมอบให้กับประชาชน
 
การปรากฏขึ้นของมาตรการที่ว่านี้ยิ่งสะท้อนวิธีคิดของกลไกภาครัฐที่มุ่งเน้นสนับสนุนการจับจ่ายของกลุ่มผู้บริโภค มากกว่าการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างมีระบบจากมวลชนฐานราก เพราะโดยความเป็นจริงแล้วกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ คือกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง-บน ที่มีศักยภาพพร้อมจะจับจ่ายแม้ไม่มีมากตรการออกมารองรับ และยิ่งเท่ากับเป็นการฉีกถ่างช่องห่างระหว่างกลุ่มผู้บริโภคแต่ละกลุ่มให้กว้างออกไปอีก
 
ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการค้าปลีกบางรายพยายามเรียกร้องให้รัฐลดหย่อนอัตราภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า โดยหวังว่ามาตรการเช่นว่านี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกได้ เมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำอื่นๆ และสามารถกระตุ้นกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจค้าปลีกไทยอย่างเป็นด้านหลักไปแล้ว
 
การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกไทย ที่ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวติดอันดับโลก และอยู่ในระดับนำในเอเชียกลายเป็นประหนึ่งแรงดึงดูดที่ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเร่งระดมสรรพกำลังขยายอาณาจักร ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีกรายเดิมเท่านั้น หากแต่ยังขยายไปสู่แนวคิดของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่พร้อมจะสร้างแลนด์มาร์คใหม่ด้วยการผสมผสานธุรกิจค้าปลีกนี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย
 
ทิศทางการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมาจึงเป็นประหนึ่งคู่แฝดหรือด้านตรงข้ามที่ขนานกันของเหรียญเดียวกันอย่างยากที่จะแยกออก โครงการไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ mix used ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้าน หรือ community mall ที่มีขนาดย่อมลงมา กลายเป็นอีกสมรภูมิหนึ่งที่มีการแข่งขันประชันกันอย่างเอิกเกริก
 
การเกิดขึ้นของ community mall ซึ่งถือเป็นสมรภูมิของผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาทดสอบฝีมืออย่างต่อเนื่อง กลายเป็นกลุ่มค้าปลีกที่มีอัตราขยายตัวสูงสุดสุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีพื้นที่รวมทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่า 1.1 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2550 เกือบ 4 เท่าตัวและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปอีกในช่วงปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงนี้
 
แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกไทยจะยังคงมีแรงดึงดูดและพร้อมเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ได้เข้าสู่สมรภูมิที่เชื่อกันว่ายังคงเป็นขุมทรัพย์ในการสรรค์สร้างรายได้ แต่หากประเมินจากสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจที่ปรากฏจริงในขณะนี้ บางทีภูมิทัศน์ของธุรกิจค้าปลีกไทยกำลังดำเนินอยู่ท่ามกลางมายาภาพที่เหลื่อมซ้อนอำพรางซึ่งพร้อมจะให้ผลลัพธ์ในทางตรงข้ามกับที่มุ่งหมายได้โดยง่าย
 
เพราะภายใต้การแข่งขันที่ดุเดือดรุนแรงในการช่วงชิงสรรพกำลังอำนาจในการซื้อของผู้บริโภคแล้ว ยังมีประเด็นว่าด้วยเงินลงทุนและเครือข่ายธุรกิจที่จะมาหนุนนำการบริหารพื้นที่เช่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้นำความสำเร็จล้มเหลวของแต่ละโครงการได้ไม่ยาก ดังที่ปรากฏให้เห็นในกรณีของคอมมูนิตี้มอลล์หลายแห่ง ที่ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องปิดตัวจำนวนหลายสิบรายในช่วงที่ผ่านมา
 
ภายใต้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มจะชะลอและหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของก้นเหวที่จะคอยรองรับหรือส่งผลกระทบให้สามารถกลับตัวกระเตื้องขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ บางทีการขยายตัวอย่างเอิกเกริกในช่วงก่อนหน้านี้ อาจเป็นกับดักให้ต้องเพลี่ยงพล้ำทางธุรกิจที่หนักหน่วงนี้ ว่าแต่ใครจะยอมตกเป็นเหยื่อจากความเชื่อมั่นที่อาจไม่มีอยู่จริงนี้เท่านั้น