วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน กกร. แนะรัฐเตรียมรับมือ

เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน กกร. แนะรัฐเตรียมรับมือ

นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง เมื่อปัจจัยแวดล้อมรอบด้านสร้างแรงกดดันในภาวการณ์เช่นนี้ ทั้งประเด็นความขัดแย้งที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มาตรการโต้ตอบระหว่างสองชาติซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบจนถึงราคาขายปลีก นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์การติดเชื้อในจีน ที่แม้จะไม่หนักเท่าช่วงแรก แต่มาตรการการรับมือของจีนส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศจีนเอง และประเทศคู่ค้าสำคัญ

ถือเป็นภาระอันหนักอึ้งของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน ที่นอกจากจะต้องรับมือกับความไม่มั่นคงด้านเสถียรภาพทางการเมืองที่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายค่อยๆ มีความชัดเจนมากขึ้น ความขัดแย้งที่ดูจะขยายตัว ในขณะที่ปัญหาปากท้องของประชาชนยังคงเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายคาดหวัง แต่ความคาดหวังท่ามกลางกระแสพายุที่ยังโหมกระหน่ำ ยังคงเป็นเรื่องยากคล้ายกับการพยายามจุดเทียนกลางสายฝนด้วยไม้ขีดไฟที่เปียกชื้น

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นประธานการประชุมร่วมในครั้งนี้ มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน นับเป็นความท้าทายต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี โดยเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และการใช้นโยบายการเงินของแต่ละประเทศเข้มงวดขึ้น โดยล่าสุด Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นมากสุดในคราวเดียวในรอบ 22 ปี และจะปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึง 2.50-2.75% ณ สิ้นปี

นอกจากนี้ จีนยังใช้มาตรการ Zero Covid Policy ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัว และกดดันให้ปัญหาซัปพลายเชนยิ่งตึงตัวขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2022 ลดลงมาจาก 4.4% เหลือ 3.6% ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทยได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกยังขยายได้ในกรอบประมาณการเดิม

ขณะที่ยังมีประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นมาก และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อไทยที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน และมีแนวโน้มส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจยังเปราะบาง อาทิ โรงแรม ร้านค้าปลีก สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจะมีผลกระทบอย่างมาก และส่วนใหญ่อาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้าซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 5% จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมที่ดูจะหวังพึ่งพาได้มากที่สุดในเวลานี้ มีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น การเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ภายใต้มาตรการการยกเลิก Test&Go ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กกร. คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะมีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ6 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิม

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ 70-80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวในไทยปรับตัวอยู่กับโรคโควิด-19 ได้บ้างแล้ว อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 119 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิมเช่นกัน

เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม ความเสี่ยงในระดับสูงทำให้ที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5% ถึง 4.0% ในกรอบเดิม หากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม และคงประมาณการส่งออกในปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5% ถึง 5.5%

จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย กกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อความประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะ SMEs และประชาชน ในช่วงไตรมาส 2-3 ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่มากขึ้นในช่วงปลายปี จากทั้งภาระค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ส่วนดังนี้

1. มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง ด้วยการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน การขยายเวลาลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 3 เดือน การลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ เพิ่มโควตานำเข้า และเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เช่น เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ

2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่ โครงการคนละครึ่งเฟส 5, ขยายจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน, ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง และการลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ยปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า และการเปิดประเทศโดยสมบูรณ์ การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวและการดูแลค่าเงินให้เหมาะสม

ท่ามกลางภาวะการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภค หลายฝ่ายมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้ประชาชนมีความสามารถในการรับมือกับค่าครองชีพในภาวะนี้ได้ กกร. มองว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงานในแต่ละจังหวัดนั้นๆ

ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด โดยการปรับอัตราค่าแรงที่สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิตให้เพิ่มพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าได้ กกร. จึงขอเสนอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมทั้งนำกลไกการปรับขึ้นค่าแรงในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill และมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงงาน

กกร. ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และปรับตัวให้อยู่รอด อีกทั้งปัจจุบันกฎหมายลำดับรอง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และควรมีเวลาให้ทุกภาคส่วนพิจารณาทำความเข้าใจพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ นี้ด้วย กกร. จึงเสนอให้ภาคธุรกิจมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวตามกฎหมายลูก และชะลอบทลงโทษออกไปอีก 3 ปี

คนไทยอาจจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง เมื่ออิทธิพลจากปัจจัยภายนอกประเทศส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ข้อเสนอจาก กกร. นั้น รัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งนั่นอาจช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยไม่อ่อนแรงลงไปมากกว่าที่เป็น.

ใส่ความเห็น