วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Green > Green Mind > Green Passion

Green Passion

 

การตัดสินใจเกษียณตัวเองเมื่ออายุ 50 ปี ทำสิ่งที่ชอบ แม้กระทั่งไปหอสมุดแห่งชาติ เพื่อใช้เวลากับการตามอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ประวัติวัดพระแก้วมีธุรกิจอพาร์ตเมนต์ให้เช่าสำหรับชาวญี่ปุ่นที่ซอยทองหล่อ มีบ้านและที่ดินอีกหลายแปลงในทำเลที่มีพื้นที่จำกัดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ฐานะทางสังคมในตอนนั้นเป็นถึงคุณนายผู้ว่าฯ แถมไม่เคยมีความรู้เรื่อง การผลิตไฟฟ้าสักนิด แต่สุดท้ายกลาย เป็นผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อ่าน “พลังงานแสงอาทิตย์กู้โลก” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ  ฉบับกรกฎาคม 2554)

เรื่องราวของวันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) บุคคลที่มีหลักคิดว่าการจะทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จได้ “ต้องอย่าท้อถอย มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และต้องเชื่อว่าโอกาสคือสิ่งที่เราสร้างขึ้นเองได้ ถ้าวันนี้พรุ่งนี้ยังไม่สำเร็จ วันหนึ่งในอนาคตก็ประสบความสำเร็จได้ถ้าไม่ย่อท้อเสียก่อน” 

บทบาทในฐานะผู้ริเริ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับวงการ พลังงานไทย เป็นบทบาทใหม่ที่เกิดขึ้นจาก Passion ล้วนๆ เป็นการสร้างโอกาส ใหม่ที่เธอสร้างให้กับตัวเองและสังคมไทย จนได้รับการยกย่องจากธนาคารโลก (World Bank) ให้เป็นตัวแทนผู้หญิงคนเดียวจากเอเชียในฐานะ “ผู้สร้างโอกาสให้ตัวเอง” ในแคมเปญ “I am opportunity” เมื่อปี 2554

มีมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร

มองให้เป็นธรรมชาติและมีตรรกะ สิ่งที่เราเห็นคือมนุษย์ใช้ทรัพยากรจากใต้ดินมหาศาล แก๊ส น้ำมัน ฯลฯ โอกาสที่โลกฟอร์มตัวน้ำมันดิบต้องใช้เวลาเป็นพันๆ ปีการดึงของใต้ดินที่มีแรงดัน มีความหนาแน่นขึ้นมาใช้บนผิวโลก จะมีอะไรไปแทนที่ก็ย่อมเกิดผลกระทบ 

ตอนเด็กเคยสงสัยว่าเอาน้ำมันใส่รถแล้วมันหายไปไหน มันก็ระเหยไปในอากาศ เป็นการบอกให้เรารู้ว่าไม่มีสสารอะไรหายไปจากโลกนี้ถูกไหม มันแค่เปลี่ยนไปอยู่อีกรูปหนึ่งแล้วก็ไปบล็อกชั้นบรรยากาศที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก เราเห็นภาพจากสิ่งที่เราสงสัยเล็กๆ น้อยๆ มองไปเรื่อยๆ อย่ามองแบบซีเรียส อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะเป็นสัจธรรมของโลก 

ถ้าเราเป็นหนึ่งในเหยื่อ เราก็ต้องรู้ว่าภัยธรรมชาติต่างๆ มาแน่นอน ช้า เร็ว เท่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้อยากพัฒนา เรื่องพลังงานสะอาด จุดเริ่มต้นของเทรนด์เรื่องพลังงานสะอาดในเชิงธุรกิจที่เกิดมากขึ้น ทุกวันนี้ก็มาจากตรงนั้น แล้วการที่เริ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็ไม่ใช่เพื่อชีวิตเรา แต่สำหรับคนรุ่นต่อไป เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หนึ่งโรงอายุ 30-50 ปี

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยควรเริ่มมาก่อนหน้านี้นานแล้วทำไมไม่มีใครยอมเริ่ม

ข้อนี้ต้องให้เครดิตคุณปิยสวัสดิ์ (ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.กระทรวงพลังงาน ช่วงปี 2549-2551 สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งอิมพลีเมนต์ เรื่อง Adder (ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า) สำหรับพลังงานสะอาด แต่เกือบปีไม่มีใครไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างเลย โดยส่วนตัวก็รีไทร์และเลิกธุรกิจไปแล้ว ไม่คิดจะทำธุรกิจแล้ว มีโอกาสเจอท่านตามงาน 2-3 ครั้งก็ปรารภว่าไม่มีใครยื่นขอโซลาร์ฟาร์มเลย ท่านก็แนะนำให้ลองไปศึกษาดู

จากสงสัยก็ถาม ดร.ปิยสวัสดิ์ว่าทำไมไม่มีใครเริ่ม พอได้ข้อมูลก็เหมือนคนอยู่ในโรงลิเก มีเพลงขึ้นไม่มีใครออกมา เราก็รำเลย ตัวเองเคยทำงานการไฟฟ้าภูมิภาค ก็เลยลองเข้าไปเช็กข้อมูล ใบอนุญาตมีเยอะไม่มีใครมาเอา ก็เลยยื่นไปเลย 34 โครงการ ตอนตัดสินใจเข้ามาก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำให้ใหญ่ขนาดนี้

อะไรคือจุดตัดสินใจจริงๆ 

แค่อยากทำ เพราะอยากเห็นโลกสีเขียว เข้าใจคำว่า Passion ไหม ภาษาไทยเขาก็เรียกว่าแรงปรารถนา อยากเห็น อยากให้มีเกิดขึ้น แล้วเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศไทย ใครๆ ก็บอกทำไม่ได้ เราต้องศึกษาว่าไม่ได้เพราะอะไร ที่ผ่านมาทั้งชีวิตเลย เวลาทำอะไรจะเป็นคนที่มุ่งมั่น แล้วไม่คิดเลย ว่าเป็นงานผู้หญิงหรือผู้ชาย งานอะไรทำได้หมด  

ทำไมโครงการแรกถึงใช้เวลาถึงปีครึ่งกว่าจะเริ่มได้

นอกจากศึกษาเรื่องเทคนิค เราต้อง หาแหล่งเงินทุน ซึ่งแม้ว่าแบงก์จะให้ความสนใจ แต่ก็มีเงื่อนไขว่าเราต้องหาพาร์ตเนอร์ เจ๋งๆ เพื่อมาการันตีให้แบงก์ปล่อยกู้เราให้ได้ด้วย เมื่อเราไม่มีเงินเหมือนคนอื่น เราก็ต้องจบเกมตามที่ธนาคารกำหนดให้ ก็เริ่มจากได้ทุนจากกระทรวงพลังงานมาเป็นพาร์ตเนอร์ ได้มา 40 ล้านบาท ยังไม่เจ๋งพอ แบงก์บอกว่าต้องมีพาร์ตเนอร์ที่เข้มแข็งกว่านี้อีก ก็ถามเลยว่าพาร์ตเนอร์ที่ยากที่สุดในโลก คือที่ไหน เขาบอกเวิลด์แบงก์ เราก็บินไปเลยทั้งที่ไม่เคยรู้จักเลยนี่แหละ

ครั้งแรกบินไปฮ่องกง เขาบอกฮ่องกง ไม่เกี่ยวกับการลงทุน ต้องไปที่ฟิลิปปินส์ ก็บินไปฟิลิปปินส์ มันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่แฟนซี ชีวิต เราไปพร้อมแผนในมือ ทางไอเอฟซี (International Finance Corporation หรือบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหนึ่งของธนาคารโลก) ก็บอกจะเอาเงินต้องยื่นแบบฟอร์ม ต้องทำ Due Diligence 

ใช้เวลานานแค่ไหนกว่า IFC จะอนุมัติ และกว่าจะเริ่มโครงการแรก

Due Diligence ของไอเอฟซีเขาเข้มมาก มารู้ทางอ้อมว่าเขาเช็กประวัติเรา 2 เดือนเต็มๆ สรุปใช้เวลา 9 เดือนสำหรับไอเอฟซีรวมใช้เวลา 1 ปีครึ่งสำหรับโครงการแรกเริ่มจากกลางปี 2551-ปี 2552 ทั้งปี ใช้เวลากับไอเอฟซีนานที่สุด ส่วนกับแบงก์ทำคู่ขนาน กันไป รวมทั้งพาเขาไปตระเวนดูเทคโนโลยีในต่างประเทศ ต้องยกย่องธนาคารกสิกรซึ่งแม้จะมีเงื่อนไขแต่ก็สนับสนุนมาตั้งแต่เริ่ม

ทำไฟแนนเชียลโมเดลต้องประมาณการทุกตัวเลข จะมีรายรับเท่าไร ทำไป 30 ปีเลย ประมาณการว่าค่าพลังงานเท่านี้รายรับเท่าไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร ทุกตัวเลขที่ประมาณการจะถูกพิสูจน์ทราบโดยสถาบันการเงิน  ไม่ใช่ว่าเขาจะเชื่อตามเรา แบงก์มีบุคคลที่สามมาตรวจสอบสิ่งที่เราประเมินอีกที เช่น เราประเมินค่าความเข้มแสงที่คำนวณผ่านดาวเทียมจากข้อมูลขององค์กรนาซ่าที่แปลงมาเป็นหน่วยไฟฟ้าที่เราจะผลิตได้จากแสงอาทิตย์เท่าไร ทุกอย่างถูกเช็กหมด

โครงการโคราช 1 ประมาณการผลิตไฟไว้ที่ 8.4 ล้านหน่วย แต่ผลิตจริงได้ 9.45 ล้านหน่วย จำได้แม่นเลยเพราะเป็นตัวเลขที่พิสูจน์ทราบ บวกจากของเดิม 10% นั่นเท่ากับรายได้เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการ เพย์แบ็กก็ต้องเพิ่มขึ้น อันนี้ก็ส่งผลให้สถาบันการเงินอนุมัติการพัฒนาโครงการส่วนอื่นๆ ต่อ  

โครงการหลังๆ เราก็กำหนดเงื่อนไขการร่วมทุนได้ดีขึ้นและไม่มีพาร์ตเนอร์ที่เป็นบุคคลอีกเลย 

ไอเอฟซีก็เอาหน้าเราไปอยู่ในรายงาน ประจำปี 2554 ของเขา บอกว่าการที่เราทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในไทย คือโครงการที่เขาภูมิใจว่ามีส่วนช่วยลงทุนให้โครงการเราเกิด ซึ่งพอผ่านจุดที่ยากที่สุดมาแล้ว อุปมาก็เหมือนกับผู้หญิงได้แต่งงานกับ ณเดชณ์ จะเลือกใครก็ได้

โครงการแรกยังมีส่วนต้องค้ำประกัน ส่วนตัว แบงก์จ้างบริษัทเช็กข้อมูลเรารวมทั้งเช็กตัวโครงการด้วย ทุกวันนี้ก็มีคนของแบงก์ ติดตามดูแลตลอด ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ป่วย คอย ถามไถ่ ส่งดอกไม้มาให้ พาไปเช็กอัพร่างกาย

ยากมากในการพัฒนาโครงการที่หนึ่ง ต้องอดทน ต้องคิดเองหมดตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถึงเรื่องใหญ่ทุกอย่าง กว่าจะได้ทุนมาเริ่มโครงการได้ ตอนนั้นก็ติดลบไปแล้ว 15 ล้าน เพราะ 34 โครงการที่ยื่นขอไป ต้อง ไปสำรวจ ไปทำประชาพิจารณ์ ซึ่งตอนแรกไม่รู้ว่าจะมีเกณฑ์มากมายขนาดนี้ ถ้าไม่ได้ก็จะต้องเจ๊งไป 15 ล้าน แต่วันนี้เรามีกำลังการ ผลิตแล้ว ขายกันในตลาดเมกะวัตต์ละ 5 ล้านบาท มี 200 เมกะวัตต์ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ก็ไม่ได้คิดอยากขาย เพราะอยากอยู่กับสิ่งที่เรามีความสุขที่ได้สร้างขึ้นมา ทำไมถึงกลายเป็นเรื่องใหญ่

พอศึกษาว่าทำไมถึงไม่คุ้ม ทุกคนพูด คำเดียวคือ แพงๆๆ เขามองว่ามันดี แต่ในแง่การลงทุนไม่คุ้ม ก็สงสัยว่าเพราะอะไร พอเริ่มศึกษาก็เจอคำถามอีกว่า ไหวเหรอ ไม่มีทางหรอก ยากมาก

ก่อนตัดสินใจขอใบอนุญาต 34 โครง การก็ต้องเริ่มหนึ่งก่อน คำนวณค่าก่อสร้างติดตั้งอุปกรณ์เพื่อดำเนินงานเบื้องต้นจะต้องลงทุนร่วม 1,200 ล้านบาท เมกะวัตต์ละ 200 ล้านบาท คิดโปรเจ็กต์ IRR (Internal Rate of Return) เท่าไรก็ไม่คุ้ม ต้องคุมเรื่องราคาโครงการให้ Meet IRR ให้ได้ ตามที่ธนาคาร อยากเห็นคืออย่างน้อยประมาณ 8-12 ปี 

โมเดลธุรกิจที่ไปดูจากต่างประเทศยิ่งเป็นไปไม่ได้เพราะแพง เลยหันมาออกแบบ โปรเจ็กต์ของตัวเอง แล้วหาคนที่มีความรู้จาก ในประเทศทั้งหมดมาร่วมงานเพื่อลดต้นทุน จากที่คิดไว้ 1,200 ก็ลดลงมาได้เหลือ 700 ล้านบาทสำหรับโครงการแรก (โคราช1) ก็ยังสูง ก่อนจะค่อยๆ ลดต้นทุนของโปรเจ็กต์หลังๆ ลงได้เป็นร้อยล้าน รวม 9 โครงการแรก ลงทุนไป 5,000 กว่าล้าน

ฝ่ายเทคนิคคนสำคัญก็ได้อาจารย์จิราคม (จิราคม ปทุมานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมของบริษัท) ซึ่งรู้จักตอนที่เคยทำงานขายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ให้การไฟฟ้า อาจารย์เป็นคนออกแบบโรงไฟฟ้าขนาด 50 กิโลวัตต์เมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นช่างเทคนิคโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์คนเดียวในประเทศไทยเลย เกษียณไปแล้วตอนไปชวน มาทำด้วยกัน อาจารย์ถึงกับเปรยว่า นึกว่าต้องตายไปแล้วถึงจะได้เห็น ตอนชวนก็บอกให้มาบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งด้วยกัน

ตอนแรกบอกเผื่อไว้ว่าถ้าพลาดพลั้ง ก็ขายที่ดินแล้วใช้หนี้ แต่บังเอิญ 34 โครงการรวมแล้วเกือบ 250 เมกะวัตต์ ทำให้เรากลาย เป็น Hot of the World ไปแล้ว จากที่แผนของรัฐบาลตั้งใจจะหนุนพลังงานแสงอาทิตย์แค่ 500 เมกะวัตต์ เราคนเดียวครึ่งหนึ่งแล้ว ดูจากคนที่ถือไลเซ่นส์เยอะขนาดนี้เราอาจจะเป็น Top 3 ของโลกก็ได้นอกเหนือจากใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐีอันดับ หนึ่งของโลกก็หันมาลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เขาประกาศที ดังทั่วโลกเพราะเขาเป็น คนที่มีชื่อเสียง แต่เราต่อให้ทำก่อน ตอนแรก ใครก็ไม่สนใจ ก่อนจะตระเวนหาเงินทุน ตอนแรกชวนเพื่อนๆ 10 คนมาลงทุนด้วยกันไม่มีใครกล้ามาเลย

34 โครงการ ตามแผนจะเสร็จเมื่อไร

ปี 2554 สร้างเสร็จไป 5 โครงการจากปี 2554-2555 อีก 11 โครงการ ที่เหลืออีก 18 โครงการจะเสร็จภายในปี 2556 โครงการทั้งหมดอยู่ในภาคอีสาน รวม 34 โครงการมีกำลังการผลิตรวม 204 เมกะวัตต์ เฉลี่ยโครงการหนึ่งจะมีกำลังการผลิตประมาณ 6 เมกะวัตต์ รวมแล้วตอนนี้ใช้เงินไป 2 หมื่นกว่าล้านแล้ว

อะไรที่ทำให้ IFC มั่นใจว่าจะทำสำเร็จ

ไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่เราทำมันมาจาก Passion เยอะมาก เพราะเราเป็นคนแบบนี้ทำอะไรมุ่งมั่นทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่เรื่องเดียว ทุกเรื่อง ถ้ารับปากก็จะทำ แต่จะไม่รับปากอะไรง่ายๆ ต้องดูให้ชัดเจน จนมั่นใจแล้วจึง move แม้แต่เงินจากมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ได้มาจากกระทรวงพลังงานก็เป็นเงินที่มูลนิธิบอกว่าเป็นการลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุด ส่วนของตัวเองก็ลงไปเยอะ โครงการแรกลงไป 280 ล้านบาท

หลังผ่านโครงการแรกไปแล้วรู้สึกอย่างไร เคยคิดจะล้มเลิกกลางคันไหม

ตอนที่ยังไม่ Fulfill ก็ไม่เคยคิดจะเลิก เพราะความท้าทายยังอยู่ แต่ตอนนี้อยากหาคนมารับช่วงต่อมาเป็นซีอีโอแทน เพราะมันเห็นภาพหมดแล้ว โครงการหลังๆ ก็เหมือน การก๊อบปี้ Do it again แต่ก็ไม่ได้คิดจะเลิกนะ เพราะมีแผนที่จะไปขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น  ที่บอกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเชื่อได้แค่ไหน เพราะที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าที่เก่าที่สุดในยุโรป ก็ยังไม่เคยมีที่ไหนที่หมดอายุการใช้งาน

ถึงตอนนี้ยังไม่เห็นว่ามีผลกระทบ ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการเอาแผงไปรีไซเคิล ต้องรออีกสัก 50 ปี กระจกที่เอสพีซีจีเลือกใช้ก็เป็นแบบซิลิคอนซึ่งมีใช้ในธุรกิจนี้มากว่า 30 ปี กระจกเป็นวัตถุดิบที่อยู่ได้ตลอดกาล วัตถุดิบ มาจากทราย พลาสติกที่เป็นส่วนประกอบก็เอาไปรีไซเคิลได้ เหล็กก็หลอมไปใช้ใหม่ เมื่อถึงเวลาต้องรีไซเคิลก็จะไม่มีขยะ (Zero waste) แต่บางเทคโนโลยีมีส่วนผสมของสารเคมี ถ้าใช้แบบนั้นก็น่าเป็นห่วงเพราะเป็นสารอันตราย ส่วนใหญ่มีในแผงแบบธินฟิล์ม (Thin Film Photovoltaic Module) ซึ่งมีราคาถูกกว่า ของเราจะไม่ใช้ธินฟิล์ม    

อีกอย่างเทคโนโลยีที่เลือกใช้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของแบงก์ ว่าต้องเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุด มีอายุการใช้งานนาน การรับประกันก็ต้องนานและดีที่สุด ซึ่งเราใช้ของเคียวเซร่าซึ่งมีส่วนร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับเราด้วย

แบบที่มีสารเคมีอันตรายผสมมีการควบคุมการใช้งานไหม

ประเทศไทยกำลังให้หยุดใช้พวกที่ทำ จากเคมี แต่จะบังคับได้จริงไหม ไม่แน่ใจ

โดยส่วนตัวถ้าไม่มีซิลิคอนเหลือแต่แคดเมียมก็จะไม่ทำธุรกิจนี้ เพราะเราไม่ได้เริ่มต้นทำเพราะเงินมาอันดับหนึ่ง ทำเพราะอยากทำ เรามี Passion ก็ต้องมี Achieve-ment ถูกไหม มีความเชื่อในเรื่องพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง คำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพและผลต่อสิ่งแวดล้อม และดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการนำประเทศไปสู่ผู้นำในประชาคมอาเซียนในด้านพลังงานสะอาด

จากความยากเย็นในการหาผู้ร่วมทุนสำหรับโครงการ เมื่อทำสำเร็จแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บ้าง

หลังจากเราทำได้ปีหนึ่ง ไอเอฟซีก็มีกองทุนใหม่ขึ้นมาสำหรับสนับสนุนเทคโนโลยี สะอาดโดยเฉพาะ เรียกว่า The Clean Technology Fund หรือซีทีเอฟ เป็นส่วนที่เกิดขึ้นเพราะเราก็ว่าได้ เพราะไอเอฟซีเพิ่งอิมพลีเมนท์ขึ้นมาไม่นานตอนเราทำโคราช 1 โครงการแรก ยังไม่มีซีทีเอฟ แล้วหลังจากนั้น ก็เริ่มมีแหล่งทุนปล่อยกู้มากขึ้น คนเริ่มมองเห็นโอกาสความคุ้มค่าของการลงทุนอาจจะนานแต่เป็นธุรกิจรักษ์โลกและให้ผลตอบแทนระยะยาว

จะเห็นว่ามีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เกิดขึ้นมากในระยะหลัง จากเดิมที่ไม่มีใครไปขอใบอนุญาตตอนนี้เต็มหมดแล้ว แม้กระทั่งแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ก็ต้องปรับให้มีสัดส่วนจาก Renewable Energy รวมถึงพลังงานจากแสงอาทิตย์ด้วยเพิ่มเป็นเกือบ 10% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 54,000 เมกะวัตต์ จาก ที่มีอยู่เดิมในปัจจุบันแค่ประมาณ 1% เพราะไทยเรามีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ได้ถึง 50,000 เมกะวัตต์ พอๆ กับกำลังไฟฟ้าที่เราต้องการใช้งานทั้งประเทศ แต่ตามแผนงานคาดไว้ว่าจะมีกำลังการผลิตรวมจากแสงอาทิตย์แค่ 500 เมกะวัตต์ในปี 2565 เท่านั้นเอง

ต้องบอกว่าเรามีส่วนไดร์ฟมูลค่าธุรกิจ ในประเทศนี้จากธุรกิจที่ไม่มีความเคลื่อนไหว ตอนนี้มีคนไปยื่นขอรับ Adder จากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 3 พันเมกะวัตต์ ถ้าทำได้สำเร็จหมดก็เท่ากับมูลค่าถึง 3 แสนกว่าล้าน   ซีทีเอฟเป็นซอฟต์โลนหรือมีเงื่อนไขในการให้ทุนอย่างไร

เป็นเงินทุนสำหรับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่จะมีสัดส่วนให้กู้ผสมกับเงินกู้ส่วนอื่นไม่ใช่ให้ทั้งโครงการ สมมุติกู้ 400 ล้านบาท อาจจะเป็นส่วนของซีทีเอฟสัก 60 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1-1.5% มีกำหนดระยะเวลาคืน แน่นอน 12 ปี ไม่จัดเป็นซอฟต์โลนซึ่งจะช่วย เต็มรูปแบบและยืดหยุ่นในการจ่ายคืนมากกว่า เขาตั้งขึ้นเพื่อเน้นช่วยให้เกิดโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เราก็วิ่งเต้นไปหาเพื่อดึงความช่วยเหลือเข้ามาในประเทศไทยมากๆ แต่เขาก็ตั้งเกณฑ์ไว้สูงมาก นอกจากเราในอาเซียนยังไม่มีใครได้เงินทุนนี้

34 โครงการจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปีหน้ามีแผนขยายธุรกิจในอนาคตอย่างไร

ตอนนี้เราตั้งบริษัทเอสพีอีย่อมาจาก Solar Power Engineering จดทะเบียนบริษัท เมื่อปี 2554 ปีนี้จะตั้งสาขาที่สิงคโปร์เป็นธุรกิจ ที่จะใช้ Go Inter เชื่อว่าต่อไปจะใหญ่กว่า SPCG เอสพีอีเป็นธุรกิจบริการครบวงจรด้านโซลาร์ฟาร์มทั้งในไทยและในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ รับงานตั้งแต่การวางแผนและวิศวกรรม จัดหาและจัดส่งอุปกรณ์และรับก่อสร้างครบวงจร

เป็นธุรกิจที่เราสร้างขึ้นจากประสบ การณ์การทำโรงไฟฟ้า จากที่เราตระเวนดูเทคโนโลยี หาเงินทุน วางแผน จนก่อสร้างและมีรายได้ในวันนี้ หลังจากบริการงานก่อสร้าง ก็มีบริการอีกส่วนเรียกว่า O&MM- Operation, Maintenance และ Monitoring สองบริการแรกจะอยู่ที่ตัวโครงการ มีมอนิเตอร์ รูมไว้ให้ลูกค้ามาดูข้อมูลคล้ายกับห้องค้าหุ้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ลูกค้าจะมาประชุมหรือพบปะเพื่อดูข้อมูลการผลิตไฟฟ้า และดูภาพจากสถานที่จริงแบบเรียลไทม์ได้โดยไม่ต้องไปถึงโครงการ

ตัวรายงานจะแสดงให้เห็นทั้งสภาพอากาศ จำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้ ณ ขณะนั้น และผลพลอยได้คือสามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้ด้วย เพราะเรามีสถานีตรวจวัดอากาศอยู่ที่ไซต์ แสงแดด ความชื้น เมฆ วัดได้หมด พายุจะเข้าเมื่อไรก็ดูได้

คาดหวังอย่างไรกับธุรกิจของเอสพีอี

ธุรกิจนี้จะทำให้เราขยายได้เร็วในอนาคต O&MM เป็นธุรกิจที่ไม่มีใครทำหรอก เพราะผูกพันยาวนานแต่เรารับดูแลให้ 365 วัน อย่างน้อย 30 ปีต่ออายุโครงการ เหมือนเป็นแม่บ้านให้ 

เอสพีอีเป็นธุรกิจที่จะไปลุยด้วยตัวเอง เพราะงานสร้างโซลาร์ฟาร์มตอนนี้ก็เหมือนการ ทำซ้ำ หาคนอื่นมานั่งแทนแล้วเพื่อรองรับการ เติบโตก็ต้องเตรียมคนให้พร้อม เพราะฉะนั้นองค์กรนี้จะเน้นเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทุกวันจะเห็นมีการฝึกอบรมกันตลอดทุกเรื่อง

โดยส่วนตัวกำหนดว่าจะต้องทำธุรกิจ ของเอสพีอีให้สำเร็จภายในหนึ่งปี เพราะเป็นคนที่ทำทุกอย่างต้องมีเป้าหมาย เหมือนการออกรบต้องจัดทัพ หาแม่ทัพ จัดเครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่าง เดทไลน์เมื่อไรต้องชัด จากประสบการณ์ที่ทำมา มีคำแนะนำอะไรให้กับรัฐบาลไหมว่า ควรจะมีมาตรการอะไรเกี่ยวกับไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ก่อนอื่นรัฐบาลต้องเริ่มอย่างต่อเนื่อง ประกาศนโยบายการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องมีมาตรการที่ทำควบคู่กัน อีกข้อคือการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ สองข้อนี้เป็นสิ่งที่นางงามหรือนายกฯ ทั่วโลกต้องเอาใจใส่ เพราะเป็นประเด็นสำคัญของโลก

รวมทั้งต้องรณรงค์ให้คนรู้จักรักษา อนุรักษ์ คำว่าอนุรักษ์มันยังงงๆ พูดให้เข้าใจ ง่ายๆ คือประหยัดการใช้ทุกรูปแบบ จัดการการใช้อย่างมีประสิทธิภาพทุกมุมมอง รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและทำอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลกับประชาชนต้องทำร่วมกัน

วันนี้บ้านเราใช้ไฟฟ้าปีละ 3 หมื่นเมกะวัตต์อีก 20 ปีจะกลายเป็น 5-6 หมื่น ถามว่าจะเอาพลังงานจากไหนรูปฟอร์มอะไร เป็นเรื่องที่ต้องคิดเพื่อคนรุ่นต่อไป คนรุ่นต่อไป ก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญ เพราะฉะนั้นต้องร่วมมือกันทำเสียแต่วันนี้ 

พลังงานทดแทนทุกมุมต้องเอามาใช้ไม่ใช่แค่แสงอาทิตย์ ลม ต่างประเทศกำหนด ที่จะใช้พลังงานสะอาด 50%-90% ผู้ใช้ไฟก็เลือกได้ว่าจะใช้บริการพลังงานสะอาด ถ้าเลือกสิ่งแวดล้อมก็จ่ายเพิ่มนิดหน่อย แต่ของเราไม่มีแรงจูงใจอะไรคนยังไม่อนุรักษ์สิ่งแวด ล้อมเลยแล้วจะซื้อไฟที่ผลิตโดยพลังงานสะอาดได้อย่างไร