วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
Home > Cover Story > พัสดุล้น-ส่งของล่าช้า วิกฤตซ้อนวิกฤตของขนส่งไทย?

พัสดุล้น-ส่งของล่าช้า วิกฤตซ้อนวิกฤตของขนส่งไทย?

ช่วงที่ผ่านมาขนส่งไทยกำลังเผชิญปัญหาและความท้าทายอย่างหนัก ภาพกล่องพัสดุตกค้างที่ไม่สามารถส่งถึงมือผู้รับได้ภายในกำหนดถูกวางกองเต็มโกดัง บางส่วนเป็นผลไม้สดที่กำลังเน่าเสีย ได้ถูกเผยแพร่ลงบนสื่อโซเชียล เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมเสียงสะท้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับแวดวงขนส่งไทยไม่น้อย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงและมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐออกมาตรการคุมเข้มเพื่อลดการแพร่ระบาด สถานประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าถูกสั่งปิดชั่วคราว หลายธุรกิจต้องย้ายตัวเองมาอยู่บนออนไลน์ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับกระทบจากการเลิกจ้างส่วนหนึ่งต่างผันตัวเองกลายมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เพื่อประคับประคองให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปได้

ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็หันมาสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์ งดการเดินทาง และเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ จนการซื้อของออนไลน์กำลังกลายเป็น New Normal ของผู้คนในปัจจุบันไปแล้ว ซึ่งนั่นย่อมส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและขนส่งพัสดุเติบโตตามไปด้วย

ปีที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดและนับเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด ข้อมูลวิจัย “เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 จาก Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่า มูลค่าตลาดของอีคอมเมิร์ซพุ่งสูงถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวกว่า 270,000 ล้านบาท และถือเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิดอย่างนี้

แต่การแพร่ระบาดล่าสุดที่ขยายเป็นวงกว้างจนมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึงวันละ 17,000-18,000 คนต่อวัน ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทขนส่งพัสดุด้วยเช่นกัน พนักงานขนส่งพัสดุบางส่วนติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ศูนย์รับและกระจายพัสดุมีพนักงานไม่เพียงพอ และบางสาขาถูกสั่งปิดชั่วคราว ในขณะที่จำนวนพัสดุยังคงหลั่งไหลเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดความชะงักงันของระบบขนส่ง เกิดปัญหาการคัดแยกและทำให้จัดส่งพัสดุล่าช้าตามมา

พัสดุจำนวนมากตกค้างอยู่ภายในโกดังไม่สามารถจัดส่งให้ถึงมือผู้รับได้ตามกำหนด บางส่วนที่เป็นของสดเน่าเสีย สร้างความเสียหายทั้งมูลค่าของสิ่งของและเวลาที่เสียไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างออกมาถามหาความรับผิดชอบ และบางส่วนไม่เชื่อมั่นในการใช้บริการจัดส่งสินค้าในครั้งต่อไป สร้างผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งไทยไม่น้อย

จากกรณีดังกล่าวทำให้ผู้บริการขนส่งต่างออกมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“แฟลช เอ็กซ์เพรส” (Flash Express) สตาร์ตอัประดับยูนิคอร์นรายแรกของไทย ที่มีมูลค่ากิจการกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมียอดจัดส่งพัสดุประมาณ 2 ล้านชิ้นต่อวัน ดูจะได้รับแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ในระดับต้นๆ เมื่อมีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 หลายราย จนทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีมติให้ศูนย์กระจายพัสดุสาขาวังน้อยต้องปิดดำเนินการชั่วคราว เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อลูกค้าจำนวนมาก

ทำให้ คมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ต้องออกจดหมายถึงลูกค้า เพื่อแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเร่งจัดส่งพัสดุคงค้างให้เร็วที่สุด และตั้งงบชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 200 ล้านบาท

อีกทั้งยังมีมาตรการเยียวยา เช่น คืนเงินค่าขนส่ง 100% กรณีที่พัสดุคงค้างอยู่ที่ศูนย์กลางกระจายพัสดุเกินกว่า 3 วัน สำหรับผู้ส่งพัสดุที่ถูกจัดส่งระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค. 2564, รับผิดชอบค่าตีกลับไปยังผู้ส่งต้นทางหากลูกค้าปลายทางปฏิเสธการรับพัสดุเนื่องจากความล่าช้า, มอบคูปองมูลค่ารวม 50 บาท และชดเชยความเสียหายของพัสดุเต็มจำนวน (ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนด)

ล่าสุด แฟลช เอ็กซ์เพรสออกประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์ระบุพร้อมกลับมาให้บริการในทุกพื้นที่ทั่วไทยอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. เป็นต้นไป รวมถึงบริการรับพัสดุถึงบ้านฟรีไม่มีขั้นต่ำ แต่ยังคงงดรับพัสดุที่เป็นผลไม้และอาหารสด รวมถึงพัสดุที่มีน้ำหนักเกิน 10 กิโลกรัม และขนาดความกว้าง ความยาว และความสูงแต่ละด้านเกินกว่า 100 เซนติเมตร และสามด้านรวมกันเกินกว่า 150 เซนติเมตร

ทางฟากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เบอร์หนึ่งในตลาดที่มียอดขนส่งไปรษณีย์และพัสดุเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ล้านชิ้นต่อวัน ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายแรกๆ ที่ออกมาเปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 แม้ว่าจะได้รับวัคซีนไปแล้วก็ตาม และยอมรับว่าอาจมีการจัดส่งสิ่งของล่าช้าในบางพื้นที่ ในกรณีที่บางสาขาต้องปิดให้บริการชั่วคราว

รวมถึงได้จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและแนวทางการดำเนินงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย แบ่งเจ้าหน้าที่นำจ่ายเป็น 2 กลุ่ม และทำงานเหลื่อมเวลากัน, นำเจ้าหน้าที่จากไปรษณีย์ที่อยู่ใกล้เคียงมาปฏิบัติหน้าที่แทน, ปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ศูนย์ไปรษณีย์ที่ใช้ในการคัดแยกปลายทางซึ่งเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง, กำชับการเว้นระยะห่าง และขยายพื้นที่ปฏิบัติงานสำรองในกรณีที่จุดใดจุดหนึ่งต้องปิด พร้อมเน้นย้ำว่าจะไม่ปกปิดข้อมูลกับลูกค้าในกรณีที่พบว่าเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ

พร้อมทั้งมีการอัปเดตสถานะการดำเนินงานของไปรษณีย์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อได้ทางเพจเฟซบุ๊กของไปรษณีย์ไทย

บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งค่ายที่ได้รับผลกระทบทั้งจากกรณีพนักงานติดเชื้อและจากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐ ทำให้ต้องปิดบางสาขาในห้างสรรพสินค้าและในสาขาที่พบว่ามีพนักงานติดเชื้อ ทำให้การจัดส่งพัสดุต้องใช้เวลามากกว่าปกติ 1-2 วัน โดยเฉพาะการจัดส่งไปยังปลายทางที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมแจ้งให้ลูกค้าวางแผนก่อนการจัดส่งพัสดุที่มีวันหมดอายุและเน่าเสียง่ายเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย

นอกจากนี้ ยังจำกัดการรับส่งผลไม้และอาหารสดที่เน่าเสียง่าย ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.- 2 ส.ค. โดยจะจัดส่งได้ตามปกติเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด, เกษตรกรที่มีสมุดเล่มเขียว และสมาชิกเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ลอยัลตี้ คลับ

ปัจจุบันเคอรี่ เอ็กซ์เพรส มีจุดบริการกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,000 แห่ง สามารถรองรับพัสดุได้ 1.9 ล้านชิ้นต่อวัน แต่ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณพัสดุนำส่งพุ่งสูงขึ้นถึง 20-30% จากปกติ

ด้าน เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย (J&T Express) อีกหนึ่งผู้ให้บริการธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนที่เพิ่งฉลองครบรอบ 2 ปี ที่เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในประเทศไทยไปเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พร้อมยอดรายได้รวมของปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นถึง 500% และมียอดพัสดุรวมตลอดทั้งปีมากกว่า 300 ล้านชิ้นนั้น

ได้ออกมาประกาศผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้บริษัทฯ ขาดแคลนทรัพยากรในการขนส่งพัสดุที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระยะเวลาและประสิทธิภาพในการขนส่ง เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐาน บริษัทฯ จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณน้ำหนักและขนาดปริมาตรของพัสดุใหม่

โดยด้านใดด้านหนึ่งต้องไม่เกิน 100 เซนติเมตร ทั้งสามด้านรวมกันไม่เกิน 180 เซนติเมตร และน้ำหนักจริงไม่เกิน 50 กิโลกรัม เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ข้อกำหนดนี้ใช้กับพัสดุทุกประเภท ยกเว้นพัสดุจาก Shopee

“นิ่ม เอ็กซ์เพรส” บริษัทโลจิสติกส์สัญชาติไทยที่เติบโตมาจากนิ่มซี่เส็งผู้ให้บริการขนส่งไทยที่คร่ำหวอดในวงการมาอย่างยาวนาน มีศักยภาพในการจัดส่งพัสดุไม่ต่ำกว่า 2 แสนชิ้นต่อวัน ปีที่ผ่านมาสามารถทำรายได้ไปได้กว่า 1,160 ล้านบาท สำหรับปีนี้ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) เพิ่มขึ้น

ล่าสุด (3 ส.ค. 2564) นิ่ม เอ็กซ์เพรส ออกประกาศแจ้งจัดส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด อันเนื่องมาจากการขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุด (พื้นที่สีแดงเข้ม) จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด มีการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อการขนย้ายสินค้า อาจทำให้สินค้าถึงปลายทางล่าช้ากว่ากำหนด 1-2 วัน อีกทั้งยังงดรับ-ส่งผลไม้ทุกชนิดเป็นการชั่วคราว ในปลายทาง กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, นนทบุรี และปทุมธานี

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจขนส่งในช่วงที่ผ่านมานั้นไม่เพียงกระทบต่อธุรกิจขนส่งโดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นลูกโซ่อีกด้วย เพราะการขนส่งถือเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เมื่อการขนส่งเกิดภาวะชะงักงัน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงต้องพลอยสะดุดไปด้วยเช่นกัน

ผู้ค้าทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จำเป็นต้องใช้บริการของบริษัทขนส่งพัสดุ เมื่อระบบขนส่งมีปัญหา สินค้าไม่ถึงมือผู้รับ หรือส่งไปถึงปลายทางแต่เกิดความเสียหายต้องโดนตีกลับ ต้องส่งสินค้าชิ้นใหม่ไปให้ลูกค้าเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น

สินค้าประเภท “ของสด ผัก ผลไม้ ต้นไม้ ของเน่าเสียง่าย” ได้รับผลกระทบอย่างหนัก บริษัทขนส่งหลายรายงดรับบริการชั่วคราว รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ช่องทางในการระบายผลผลิตทางการเกษตรถูกจำกัด ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ค้าและเกษตรกร

นอกจากมูลค่าสินค้าที่เสียไปแล้ว “ความเชื่อมั่น” ของลูกค้าก็หายไปด้วยเช่นกัน ลูกค้าเกิดความไม่มั่นใจในการสั่งสินค้าเพราะกลัวไม่ได้รับตามกำหนดหรือเสียหายก่อนที่จะถึงมือ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้คนระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ยอดขายลดลงตามไปด้วย ซึ่งผลกระทบต่อการค้าขายออนไลน์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นดั่งการซ้ำเติมความลำบากของประชาชนมากขึ้นไปอีก

ซึ่งผู้ให้บริการขนส่งคงต้องปรับแผน ประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงกันอย่างรอบด้าน พร้อมเตรียมมาตรการรองรับ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีท่าจะแผ่วลงง่ายๆ

ใส่ความเห็น