วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Life > “หนังสือ” เพื่อนที่ดีที่สุด ที่ใครหลายคนอาจลืม

“หนังสือ” เพื่อนที่ดีที่สุด ที่ใครหลายคนอาจลืม

งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 46 ที่จัดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน คงจะเป็นช่วงเวลาในความทรงจำของคนในวงการหนังสือเลยก็ว่าได้ เมื่อเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์ใหม่ นั่นคือ หนังสือแนวประวัติศาสตร์ กลายเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสำหรับนักอ่าน

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลจากละครโทรทัศน์ชื่อดังเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่ปลุกกระแสรักการอ่านให้ก่อตัวขึ้น ซึ่งความนิยมของหนังสือขายดี ไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงแค่นวนิยายชื่อดังเท่านั้น แต่ยังขยายวงไปยังหนังสือแนวประวัติศาสตร์ ไล่เรียงไปถึงจดหมายเหตุที่บันทึกเรื่องราวสมัยกรุงศรีอยุธยา เวลานั้นกระแสดังกล่าวสร้างให้เกิดนักอ่านหน้าใหม่ขึ้นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะนักอ่านรุ่นเยาว์

ถัดจากนั้นอีก 2 ปี เป็นปีที่โลกได้เผชิญหน้ากับความท้าทาย นั่นคือไวรัสโควิด-19 ที่เข้าเล่นงานอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมหนังสือ ที่เดิมทีก็ถูก Disrupt จากยุคดิจิทัล ซึ่งฝากบาดแผลไว้อย่างสาหัส เพราะนอกจากจะไม่สามารถจัดงานสัปดาห์หนังสือในรูปแบบ Offline เฉกเช่นเดิมได้ แต่การจัดงานในรูปแบบ Online ก็ไม่ได้รับกระแสตอบรับจากนักอ่านดีเช่นเดิม

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่บีบบังคับให้ต้องระมัดระวังในการจับจ่าย ผู้คนจำนวนมากตัดสินใจตัดงบการซื้อหนังสือออก เมื่อยังมีความไม่แน่นอนที่เป็นผลมาจากการชะลอทางเศรษฐกิจ

กระนั้นอุตสาหกรรมหนังสือและผู้คนที่อยู่ในแวดวง ยังคงมุมานะ และเดินหน้าทำงานกันต่อไป ด้วยการเสาะแสวงหาต้นฉบับแห่งการสร้างสรรค์ ที่จะเพิ่มพูนความรู้ ความบันเทิงให้แก่นักอ่านต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

หากจะกล่าวว่า ไม่ว่าสถานการณ์ใด “หนังสือจะยังคงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์” ก็คงไม่ผิดนัก

การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีวิวัฒนาการล้ำหน้าในหลายมิติ ส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของเรา ก่อนที่ดิจิทัลจะมีอิทธิพลต่อเราเฉกเช่นทุกวันนี้ มือของใครหลายคนมักจะมีหนังสือให้ถืออยู่บ่อยครั้ง หลายคนเลือกหนังสือเป็นเครื่องมือในการใช้เศษเวลา ในขณะเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ หรือเมื่อต้องรอคอยเวลานัดหมาย และหลายคนมักจะเลือกเดินเข้าร้านหนังสือ เพื่อมองหาหนังสือเล่มใหม่ที่ถูกใจมาไว้ในครอบครอง

ทว่า ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีได้สร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเข้ามาสอดแทรกไว้ในมือของเราแทน จากเดิมที่เราเคยหยิบหนังสือมาอ่านเพื่อฆ่าเวลา เราเปลี่ยนมาหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อนำตัวเองเข้าสู่โลกโซเชียลมีเดีย นิ้วมือที่เคยพลิกหน้าหนังสือทีละแผ่น เปลี่ยนเป็นสไลด์เลื่อนขึ้นลงบนหน้าจอเพื่อหาสิ่งที่เราสนใจ

แม้จะเกิดการอ่าน แต่วิธีและรูปแบบของผู้คนเปลี่ยนไป ด้วยเงื่อนไขของความเร็วทางเทคโนโลยี ทำให้เราอ่านด้วยความเร็วที่มากขึ้น แต่จำกัดกรอบความคิดของตัวเองมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้เราได้สาระจากสิ่งที่อ่านจากโลกโซเชียลน้อยลง และบางคนถึงขั้นจับใจความของเนื้อหาได้ไม่ครบถ้วน

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสร้างระบบอัลกอริทึมของผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ที่ประมวลผลของผู้ใช้งานว่ามีความสนใจข้อมูลเรื่องใดเป็นพิเศษ และข้อมูลเหล่านั้นจะหมุนวนขึ้นมาที่หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเราอยู่เสมอ ซึ่งนั่นทำให้ง่ายที่เราจะถูกล้อมกรอบทางความคิดให้อยู่เพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และแน่นอนว่า นั่นหมายถึงจินตนาการที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้

ในขณะที่หนังสือเล่ม หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ กลับเปิดโอกาสให้เราได้สร้างจินตนาการร่วมไปกับผู้เขียนได้มากกว่า แม้หนังสือแต่ละเรื่องจะถูกขีดเส้นเรื่องเอาไว้ชัดเจนแล้วก็ตาม ทว่าไม่อาจปิดกั้นจินตนาการที่จะเติบโตได้

ที่กล่าวว่า “หนังสือคือเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์” นั้น ไม่ใช่เรื่องผิดเลยแม้แต่น้อย เพราะถึงแม้ว่า มนุษย์เราจะมีโลกใหม่ที่ชื่อว่า “โลกโซเชียลมีเดีย” หรือมีเพื่อนใหม่ในโลกดิจิทัลมากมายเพียงใด แต่หนังสือยังคงอยู่ที่เดิมเสมอ รอคอยอย่างใจเย็น อดทน ที่จะให้เรากลับไปหยิบอีกครั้ง

บางครั้งเราอาจลืมเลือนหนังสือเล่มหนาที่คลาคล่ำไปด้วยตัวอักษร ชื่อตัวละคร สถานที่ ที่ถูกรังสรรค์ให้อยู่ในเนื้อเรื่อง และอุดมไปด้วยอรรถรสเกินกว่าที่ใครจะคาดเดา กลิ่นกระดาษ และน้ำหมึกที่ไม่เคยทำลายสายตาของนักอ่าน แต่อาจสร้างอารมณ์ให้เกิดน้ำตาจากเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมา เมื่อเราอ่านจนอินไปกับเนื้อหาในเล่ม

ขณะที่การเปิดมือถือและสไลด์หน้าจอเพียงไม่นาน เรากลับรู้สึกแสบตาที่ไม่ได้เกิดจากสะเทือนอารมณ์เพราะเนื้อหาในโลกออนไลน์ แต่เกิดจากการที่สายตารับแสงจากหน้าจอโทรศัพท์มากและนานจนเกินไป

ไม่ผิดหรอกที่เราจะลืมเลือนเพื่อนของเราในช่วงเวลานี้ ช่วงเวลาที่โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อโลกเราเพิ่งทำความรู้จักกับยุค 2G เมื่อไม่นานมานี้ แต่ต้องทำความรู้จักและเตรียมรับมือกับการมาถึงของ 5G ในเวลาข้างหน้า

เทคโนโลยีที่แทบไม่เคยหยุดพัฒนา จะช่วยให้เรารู้สึกเหมือนว่าเราสามารถย่อโลกทั้งใบไว้ในมือเราได้ วิวัฒนาการเหล่านี้ทำให้เรากลายเป็นคนที่ทันสมัยมากขึ้น ไม่ว่าการพัฒนาในด้านใดๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่มาจากจินตนาการแทบทั้งสิ้น และเบื้องหลังของนักพัฒนาทั้งหลายก็ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นนักอ่านด้วยกันทั้งนั้น

หลายคนยอมแพ้ให้กับการอ่านหนังสือ อ้างเหตุผลร้อยแปดว่า อ่านหนังสือแล้วง่วงนอน ไม่รู้จะอ่านหนังสืออะไรดี เล่มหนา น่าเบื่อ แท้จริงแล้วเหตุผลทั้งหมดที่ว่ามา ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งสิ้น สิ่งที่คนทำหนังสือต้องการไม่ใช่แค่เพียงยอดขายของหนังสือเท่านั้น หากแต่ต้องการทำลายเกราะในใจของผู้คนที่ยังคงสร้างกำแพงหนาเอาไว้ไม่เปิดให้จินตนาการตัวเองได้ทำงานต่างหาก

ลองดูสักเล่มไหม ลองเปิดใจให้หนังสือสักเล่มเป็นเพื่อน รับรองว่า ชีวิตนี้คุณจะมีเพื่อนที่แสนดีเพิ่มอีกเยอะเลย

ใส่ความเห็น