วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2024
Home > New&Trend > TCP รวมพลคนรุ่นใหม่ เรียนรู้ “บ้านตุ่นโมเดล” ต้นแบบการจัดการน้ำชุมชน

TCP รวมพลคนรุ่นใหม่ เรียนรู้ “บ้านตุ่นโมเดล” ต้นแบบการจัดการน้ำชุมชน

กลุ่มธุรกิจ TCP รวมพลคนรุ่นใหม่ นำอาสาสมัคร TCP Spirit เรียนรู้ “บ้านตุ่นโมเดล” ต้นแบบการจัดการน้ำชุมชน สานต่อการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

กลุ่มธุรกิจ TCP จัดกิจกรรม ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน Limited’ นำอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ เรียนรู้ความสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก “บ้านตุ่นโมเดล” ต้นแบบการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ณ ชุมชนบ้านตุ่น ตำบลบ้านตุ่น จังหวัดพะเยา พื้นที่ที่มีแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) โดยกิจกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย’ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ในกิจกรรมครั้งนี้ อาสาสมัครคนรุ่นใหม่ จะได้มีโอกาสเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริง เพื่อที่จะได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ถึงความสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำ การศึกษาเส้นทางธรรมชาติเพื่อทำความรู้จักกับโครงสร้างของป่าไม้ต้นน้ำ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาและแนวทางแห่งความสำเร็จ การลอกลำเหมือง การทำประปาภูเขาซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่น รวมถึงการปลูกต้นไม้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารและจัดการผืนป่าต้นน้ำ เช่น ต้นไผ่ และหญ้าแฝก

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “นอกจากวิกฤตโควิด-19 ในปีนี้ อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ วิกฤตภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรเสียหาย ไปจนถึงเกิดการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ในฐานะที่กลุ่มธุรกิจ TCP เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำของไทยซึ่งใช้น้ำเป็นเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต มีความตั้งใจในการสร้างการเติบโตของธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยผสานพลังคนรุ่นใหม่จากทีมอาสาสมัคร TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ มาลงมือดูแลต้นน้ำและเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำจากบ้านตุ่นโมเดล ภายใต้การสนับสนุนจากพันธมิตรของเราคือ อพ. และ สสน. เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนปลายน้ำ นำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรต้นน้ำ และต่อยอดการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป”

ตำบลบ้านตุ่น จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความสำคัญ โดยมีต้นน้ำทอดยาวจากยอดดอยหลวง ผ่านที่ลุ่มเกษตรกรรม จนถึงกว๊านพะเยา อันเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศไทยและเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่เป็นชีวิตของคนพะเยา เพราะเป็นแหล่งผลิตน้ำประปา และยังเป็นแหล่งที่อยู่ของปลาหลากชนิด ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำอิงไปรวมตัวกับแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงราย ในอดีตลำห้วยตุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมรวมถึงน้ำป่าหลากในฤดูฝน จากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตลอดระยะเวลา 25 ปี ทำให้ลำห้วยตุ่นกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถทำเกษตรกรรมและมีน้ำใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอ ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยมีชุมชนและเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากลำห้วยตุ่นถึง 11 หมู่บ้าน หรือ 1,683 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากร 5,462 คน นอกจากนี้ ยังได้ขยายผลความสำเร็จสู่ความช่วยเหลือแก่ชุมชนอื่นๆ อีกด้วย

อีกไฮไลท์สำคัญ ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพในการจัดการน้ำ ประกอบด้วย “แตปากฉลาม” เครื่องผันน้ำไปยังที่สูงโดยไม่ใช้พลังงาน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของชุมชนที่สูง โดยมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม ตั้งกั้นบริเวณรอยต่อของลำเหมืองสองสาย เมื่อกระแสน้ำพัดมาก็จะมีแรงดันส่งน้ำส่วนหนึ่งไหลไปยังที่สูงกว่าได้ นอกจากนี้ ยังมี “ต๊างนา” ร่องน้ำที่ใช้ในการลำเลียงน้ำเข้านา และ “ยอยน้ำ” ร่องน้ำที่ใช้ทยอยน้ำออกจากนา

ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “มูลนิธิอุทกพัฒน์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ต่างมีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมครั้งนี้ได้สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการรวมพลังระหว่างชุมชน อพ. สสน. และกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ตำบลบ้านตุ่นจะได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”

ในกิจกรรมครั้งนี้ คุณอเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Brand Ambassador และทูตสันถวไมตรี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ คนแรกของประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมเคียงข้างอาสาสมัคร TCP Spirit เป็นปีที่ 3 กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า “การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องเริ่มต้นจากต้นตอของปัญหา ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ไม่ว่าจะภัยแล้งหรือน้ำท่วม จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำเช่นกัน การเป็น TCP Spirit Brand Ambassador ถึง 3 ปีทำให้ผมได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้ที่พัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชน รวมถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมลงมือแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กับทุกคน และโอกาสที่ได้ส่งต่อพลังความตั้งใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับน้องๆ อาสาสมัคร ซึ่งจะเติบโตเป็นพลังแห่งการดูแลสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในอนาคตต่อไป”

ใส่ความเห็น