วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
Home > New&Trend > จ๊อบไทย เผยความต้องการแรงงานครึ่งปีแรก โควิด-19 ทำธุรกิจลดการจ้างงานสูงสุด 75% สายงานแพทย์/สาธารณสุข เนื้อหอมสุดในช่วงโควิด-19

จ๊อบไทย เผยความต้องการแรงงานครึ่งปีแรก โควิด-19 ทำธุรกิจลดการจ้างงานสูงสุด 75% สายงานแพทย์/สาธารณสุข เนื้อหอมสุดในช่วงโควิด-19

จ๊อบไทย (JobThai) ผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์ อันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งให้บริการเข้าสู่ปีที่ 20 เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานขององค์กรในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม พบว่า องค์กรมีความต้องการแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกรวมกันอยู่ที่ 303,776 อัตรา (เป็นการนับจำนวนอัตราแบบไม่ซ้ำกัน) ซึ่งมีการเปิดรับสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 124,629 อัตรา แต่ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนการจ้างงานลดลง 16.5% เทียบกับเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นและกระจายวงกว้างมากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนด้านผู้ใช้งาน หางาน สมัครงาน มีการใช้งานมากกว่า 11 ล้านคน เติบโตขึ้น 7.5% ซึ่งมีการสมัครงาน 8,876,727 ครั้ง เติบโตขึ้น 31.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับภาพรวมตลาดแรงงาน จากการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม เพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานและพฤติกรรมความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ดังนี้

· 5 ประเภทธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากที่สุด

1. อาหาร-เครื่องดื่ม 58,724 อัตรา แม้การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 1 ปี 2563 จะปรับตัวลดลง (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม) แต่ผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่ายในหมวดสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทำให้ประเภทธุรกิจนี้ยังคงมีความต้องการแรงงานมาเป็นอันดับแรก ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 22.9%

2. บริการ 44,750 อัตรา ความต้องการแรงงานในธุรกิจประเภทนี้จะเป็นธุรกิจบริการที่นอกเหนือจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาคท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจบริการทำความสะอาด ธุรกิจบริการด้านระบบ ธุรกิจบริการฝึกอบรม

3. ก่อสร้าง 41,353 อัตรา SCB EIC ได้ประเมินว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีแนวโน้มหดตัวตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางส่วนเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป แต่การก่อสร้างโครงการภาครัฐยังคงมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการเมกะโปรเจกต์คมนาคม เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสนามบิน โครงการท่าเรือ โครงการมอเตอร์เวย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

4. ยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 39,883 อัตรา ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศและการส่งออกให้ชะลอตัวลง และยังกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถยนต์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย (ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) แม้ธุรกิจนี้จะอยู่ในห้าอันดับแรกที่ต้องการแรงงานมากแต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าความต้องการแรงงานลดลงถึง 31.8%

5. ค้าปลีก 37,482 อัตรา ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมมีผลกระทบค่อนข้างมาก ยกเว้นสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต เช่น อาหารและของใช้ส่วนตัว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ยังคงมีความต้องการแรงงาน

· 5 ประเภทธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานน้อยที่สุด

1. ธุรกิจท่องเที่ยว 1,690 อัตรา การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวรุนแรงหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่มีประกาศใช้มาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งความต้องการแรงงานในธุรกิจนี้ลดลงถึง 65.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย)

2. ธุรกิจความบันเทิง 2,075 อัตรา เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ประกอบกับมาตรการควบคุมโรค โดยห้ามการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก รวมถึง การถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร ซีรีย์ โฆษณา

3. ธุรกิจกระดาษ/เครื่องเขียน 2,200 อัตรา ธุรกิจกระดาษที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อสิ่งพิมพ์มีความต้องการลดลง ส่วนธุรกิจกระดาษที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แม้มีความต้องการใช้เติบโตขึ้น แต่โดยภาพรวมจะเห็นว่าธุรกิจนี้อยู่ในกลุ่มที่มีความความต้องการแรงงานน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ในจ๊อบไทยแพลตฟอร์ม

4. ธุรกิจโรงแรม/Resort/Spa/สนามกอล์ฟ 2,820 อัตรา จากมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในไทยลดลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจที่กลุ่มนี้ ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้มีการจ้างงานลดมากที่สุด โดยลดลงถึง 75.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

5. ธุรกิจอัญมณี/เครื่องประดับ 3,092 อัตรา การผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับปรับตัวลดลง เนื่องจากการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบสองธุรกิจที่สภาอุตสาหกรรมประเมินว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก

· 5 สายงานที่องค์กรเปิดรับมากที่สุด อันดับหนึ่ง ขาย คิดเป็น 19.9% อันดับสอง ช่างเทคนิค คิดเป็น 10.3% อันดับสาม ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 7.9% อันดับสี่ วิศวกร คิดเป็น 5.8% อันดับห้า ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 5.7%

· 5 สายงานที่คนสมัครมากที่สุด อันดับหนึ่ง ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 12.7% อันดับสอง ขาย คิดเป็น 9.5% อันดับสาม ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 9.1% อันดับสี่ งานบุคคล/ฝึกอบรม คิดเป็น 6.2% อันดับห้า ขนส่ง-คลังสินค้า คิดเป็น 6.1%

· 5 สายงานยอดนิยมที่มีอัตราการแข่งขันสูง พบว่า งานที่มีอัตราการแข่งขันสูงที่สุด คือ นำเข้า-ส่งออก มีการแข่งขันอยู่ที่ 10.2 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสอง บุคคล/ฝึกอบรม โดยมีการแข่งขันอยู่ที่ 9.9 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสาม เลขานุการ การแข่งขันอยู่ที่ 9.4 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับสี่ วิทยาศาสตร์/วิจัย การแข่งขันอยู่ที่ 8.2 คน ต่อ 1 อัตรา อันดับห้า วิเคราะห์/เศรษฐศาสตร์ การแข่งขันอยู่ที่ 7.2 คน ต่อ 1 อัตรา

· 5 นิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุด อันดับหนึ่ง นิคมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง 3,374 อัตรา อันดับสอง นิคมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี 3,140 อัตรา อันดับสาม นิคมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี 2,789 อัตรา อันดับสี่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะอยุธยา 2,339 อัตรา อันดับห้า เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี 2,264 อัตรา

· 5 องค์กรที่มีอัตราการเปิดรับมากที่สุด อันดับหนึ่ง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อันดับสอง บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) อันดับสาม บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด อันดับสี่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด อันดับห้า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

· 5 องค์กรที่มีคนสมัครมากที่สุด อันดับหนึ่ง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อันดับสอง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) อันดับสาม บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อันดับสี่ กลุ่มบริษัทเครือเบทาโกร จำกัด อันดับห้า บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

นักศึกษาจบใหม่ในปีนี้ต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับอนาคต สำหรับสายงานที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่ มีดังนี้

· 5 สายงานที่องค์กรเปิดรับนักศึกษาจบใหม่ปริญญาตรีมากที่สุด อันดับหนึ่ง ขาย คิดเป็น 23.3% อันดับสอง บริการ คิดเป็น 11.8% อันดับสาม ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 9.0% อันดับสี่ วิศวกร คิดเป็น 7.2% อันดับห้า ช่างเทคนิค คิดเป็น 7.1%

· 5 สายงานที่นักศึกษาจบใหม่ปริญญาตรีสมัครมากที่สุด อันดับหนึ่ง ธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 15.8% อันดับสอง วิศวกร คิดเป็น 10.3% อันดับสาม ขาย คิดเป็น 9.5% อันดับสี่ ผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 8.0% อันดับห้า บริการ คิดเป็น 7.1%

เมื่อดูข้อมูลเชิงลึกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ช่วงก่อนการระบาดในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีแนวโน้มการจ้างงานที่สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเดือนมกราคม มีอัตราการเปิดรับ 119,122 เพิ่มขึ้น 8.7% จากธันวาคม 2562 และเดือนกุมภาพันธ์ มีอัตราการเปิดรับ 124,629 เพิ่มขึ้น 4.6% จากมกราคม 2563 โควิด-19 เริ่มมีการระบาดมากในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน รวมทั้งมีการออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อทำให้หลายสถานประกอบการจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว ตลอดทั้งการประกาศเคอร์ฟิว ส่งผลให้ความต้องการแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนมีนาคม มีอัตราการเปิดรับ 112,220 ลดลง 10.0% จากกุมภาพันธ์ 2563 และลดลงหนักสุดในช่วงเดือนเมษายน มีอัตราการเปิดรับ 91,382 ซึ่งลดลง 18.6% จากมีนาคม 2563 ส่วนเดือนพฤษภาคม อัตราที่เปิดรับ 86,966 ลดลง 4.8% จากเมษายน 2563 เดือนมิถุนายน อัตราที่เปิดรับ 90,347 เพิ่มขึ้น 3.9% จากพฤษภาคม 2563

· 5 ประเภทธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2562 อันดับหนึ่ง ธุรกิจโรงแรม ลดลง 75.7% อันดับสอง ธุรกิจท่องเที่ยว ลดลง 65.8% อันดับหนึ่งและสองเป็นผลกระทบโดยตรงการท่องเที่ยวที่หดตัวรุนแรง อันดับสาม ธุรกิจที่ปรึกษา ลดลง 38.9% อันดับสี่ ธุรกิจสิ่งทอ ลดลง 37.9% อันดับห้า ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ลดลง 36.6%

· 5 ประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางลบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2562 พบว่า อันดับหนึ่ง ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม รับเพิ่ม 38.7% อันดับสอง ธุรกิจพลังงาน รับเพิ่ม 0.3% อันดับสาม ธุรกิจคอมพิวเตอร์/ไอที ลดลง 5.2% อันดับสี่ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์/เครื่องใช้ในบ้าน ลดลง 9.0% อันดับห้า ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ลดลง 9.4%

หากแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนระบาดหนัก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์ (มีนาคม-เมษายน) และ ช่วงคลายล็อกดาวน์ (พฤษภาคม-มิถุนายน) พบว่า ช่วงระบาดหนักและล็อกดาวน์ มีสายงานเดียวที่เปิดรับคนเพิ่มขึ้น คือ แพทย์/เภสัชกร/สาธารณสุข เพิ่มขึ้น 0.5% ส่วนช่วงคลายล็อกดาวน์ มีการเปิดรับ Freelance เพิ่มขึ้น 36.4%

นางสาวแสงเดือน กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านตลาดแรงงานมีความผันผวนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์กรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์อยู่เสมอ คนทำงานเองต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาทักษะอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการทำงานยุคนี้ สำหรับทิศทางของตลาดแรงงานจากนี้ไปคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเราดูสถิติช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พบว่า สายอาชีพที่มีแน้วโน้มเปิดรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ Freelance, อาจารย์/ครู, แพทย์/เภสัชกร/สาธารณสุข สำหรับการหางาน สมัครงานในจ๊อบไทยมีการเติบโตขึ้นมาก ซึ่งจ๊อบไทยได้ออกฟีเจอร์การค้นหางานที่ให้ทำงานที่บ้านได้ (Work from Home) และค้นหางานที่เปิดรับสัมภาษณ์ออนไลน์ เพื่อสร้างความสะดวก ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและคนหางานด้วย

แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai)

ใส่ความเห็น