วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > Cover Story > ซีพีลุย “มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” จัดทัพผนึกเทสโก้ โลตัส

ซีพีลุย “มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” จัดทัพผนึกเทสโก้ โลตัส

ยักษ์ใหญ่ “ซีพี” เร่งจัดทัพค้าปลีก หลังทุ่มเม็ดเงินมากกว่า 3 แสนล้านบาท ปิดดีลประวัติศาสตร์ซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย รับแผนขยายอาณาจักรอย่างแข็งแกร่ง ยึดกุมตั้งแต่ธุรกิจค้าส่งแบรนด์ “แม็คโคร” ไฮเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ “เทสโก้ โลตัส” มีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” และล่าสุดผุดโมเดลใหม่ “ซีพี เฟรช (CP Fresh) มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” เน้นคอนเซ็ปต์ “100% Fresh” เป็นจิ๊กซอว์อีกชิ้น เพื่อยึดตลาดทุกเซกเมนต์ชนิดเพอร์เฟกต์ที่สุด

หากไล่ดูสาขาในประเทศไทยของแต่ละแบรนด์ เริ่มจากศูนย์ค้าส่งแม็คโคร มีสาขารวม 134 แห่ง

สำหรับเทสโก้ โลตัส มีร้านค้าในรูปแบบต่างๆ คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส 1,574 สาขา รวมแล้วเกือบ 2,000 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าอีก 191 สาขา โดยมีแผนลงทุนต่อเนื่องปีละ 7,000 ล้านบาท

ด้านคอนวีเนียนสโตร์ เซเว่น-อีเลฟเว่น ผุดทั่วประเทศรวมประมาณ 12,000 แห่ง และตามเป้าหมายภายในปี 2564 จะเร่งขยายให้ครบตามแผน 13,000 สาขา โดยเน้นสาขาขนาดใหญ่ขึ้น มีสินค้าหลากหลาย เน้นอาหารพร้อมรับประทาน เบเกอรี่ กาแฟ และร้านขายยา

ส่วนกลุ่มซีพี เฟรชมาร์ท ภายใต้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มีสาขามากกว่า 400 แห่ง แยกเป็นร้านขนาดพื้นที่ 3 ไซส์ คือ 100, 200-300 และ 500 ตารางเมตร

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทเปิดตัว ซีพี เฟรช “CP Fresh” ต้นแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรก ที่ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา มีขนาดใหญ่กว่าร้านซีพี เฟรชมาร์ทแบบดั้งเดิม พื้นที่รวมมากกว่า 500 ตารางเมตร โดยใช้งบลงทุนเกือบ 40 ล้านบาท และเป็นการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย จำหน่ายสินค้าที่มีความหลากหลาย ทั้งอาหารสด อาหารแช่แข็ง ผักผลไม้ และเครื่องปรุง พร้อมเพิ่มบริการปรุงสุกภายในร้าน ซึ่งเป็นรูปแบบที่บริษัทตั้งเป้าหมายว่าหากประสบความสำเร็จจะขยายรูปแบบนี้ในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ เปิดตัวแนวคิดใหม่รูปแบบ “มอลล์” ที่ จ. ลำพูน พื้นที่ขนาด 200-300 ตารางเมตร โดยดึงร้านไก่ย่างห้าดาวและร้านกาแฟสตาร์คอฟฟี่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ด้วย

เบื้องต้น ตามแผนในครึ่งปีหลัง บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาซีพี เฟรชมาร์ท 50-100 สาขา งบลงทุน 3-4 ล้านบาทต่อสาขา และจะมีสาขารวม 4,000 สาขาภายใน 6-7 ปีข้างหน้า ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การลงทุนของซีพีเอฟและรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและจะเริ่มขายแฟรนไชส์ในกลางปี 2564

ก่อนหน้านี้ ซีพีเอฟพลิกเกมได้ทยอยปรับโฉมร้านรับวิถีนิวนอร์มอลที่ทำให้ผู้คนต้องหันมาทำอาหารที่บ้านมากขึ้น โดยงัดไอเดีย “สถานีชาบู-หมูกระทะ” เปิดพื้นที่จำหน่ายวัตถุดิบสำหรับปรุงเมนูชาบูและหมูกระทะ พร้อมบริการส่งถึงบ้าน และลูกค้าสามารถสั่งซื้ออาหาร 3 ช่องทาง ได้แก่ แอปพลิเคชัน CP Freshmart, สายด่วน โทร. 1788 และเว็บไซต์ www.cpfreshmartshop.com ซึ่งทางร้านจะจัดส่งอาหารในรัศมี 3 กิโลเมตร

“ซีพี เฟรชมาร์ท ต้องการเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าในครัว ที่ผ่านมาลูกค้าอาจยังเข้าใช้บริการน้อย แต่เมื่อเติมตู้แช่ของสด เพิ่มสัดส่วนสินค้ากลุ่มของสดทำให้ลูกค้าเข้าใช้บริการเป็นเท่าตัว จึงมีแผนเติมตู้แช่ในทุกสาขา ขณะเดียวกันการเปิดสาขาใหม่ๆ จะเน้นเข้าถึงแหล่งชุมชนมากขึ้น โดยใน 2-3 ปีนี้ตั้งเป้าขยายไว้ที่ 2,000-3,000 สาขา และใน 6-7 ปี สู่ 4,000 สาขา หรือเพิ่มสาขาใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 200 สาขา” นายประสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนเส้นทางการเติบโตของ “ซีพี เฟรชมาร์ท” พยายามผลักดันแนวคิด “มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” อยู่นานหลายปี โดยพยายามค้นหาจุดแตกต่างจากคู่แข่งและสร้างโมเดลต่างๆ เพื่อชิมลางตลาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ผุดเอาต์เล็ต “ซีพีเอฟมาร์ท” เมื่อปี 2547

ปี 2549 ตัดสินใจเปิดหน้าร้านที่มีสีสันมากขึ้น เพิ่มความหลากหลายของสินค้า ไม่ใช่แค่เนื้อสัตว์ดิบๆ แต่พัฒนาสู่การเป็น “ห้องครัวของชุมชน” เปลี่ยนแนวคิดของลูกค้าจากเดิมเดินตลาดสด เข้าซูเปอร์มาร์เก็ต มาเป็นการเลือกซื้อวัตถุดิบพร้อมปรุงประเภทต่างๆ จากร้านในชุมชนใกล้บ้าน เพิ่มเมนู รสชาติการหมัก และสร้างกลุ่มสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน จับกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มครอบครัว และกลุ่มคนรักสุขภาพ

ปี 2556 เพิ่มโมเดล ซีพีฟู้ดมาร์เก็ต เน้นจุดขาย 3 คอนวีเนียน คือ “คอนวีเนียนทูบาย” มีสินค้าจำหน่ายเหมือนร้านสะดวกซื้อ “คอนวีเนียนทูคุก” มีผลิตภัณฑ์แช่แข็งเหมือนร้านซีพี เฟรชมาร์ท และ “คอนวีเนียนทูอีท” มีรายการอาหารเหมือนร้านอาหารจานด่วน โดยเจาะพื้นที่เป้าหมาย 3 ทำเลหลัก คือ ชุมชนที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และถนนสายหลัก

จาก “ซีพีฟู้ดมาร์เก็ต” ขยายหน้าร้านใหม่ “ซีพีฟู้ดเวิลด์” รูปแบบฟู้ดเซ็นเตอร์ รวมเชนร้านอาหารในเครือซีพีและร้านดังในตลาด นำเสนออาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน เจาะตลาดฟู้ดคอร์ทในอาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล หวังว่าจะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารในทุกช่องทาง

ช่วงปลายปี 2556 บริษัทปรับโครงสร้างอีกรอบ เปลี่ยน “ซีพีฟู้ดมาร์เก็ต” แก้จุดอ่อนต่างๆ โดยเฉพาะการดึงพันธมิตรเข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ของการเป็น Food Convenience Store สร้างโมเดลใหม่ที่เรียกว่า “ไลฟ์สไตล์คอมแพคซูเปอร์มาร์เก็ต (Lifestyle Compact Supermarket)” ภายใต้ชื่อร้าน “ซีพี เฟรชมาร์ท พลัส” เพื่อรุกธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและมีพื้นที่รับประทาน

ปี 2560 เบรกโมเดลซีพี เฟรชมาร์ท พลัส และผุดร้านโฉมใหม่ Compact Super หรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อม พื้นที่ขาย 200-300 ตารางเมตร ตั้งอยู่ภายในชุมชนที่พร้อมตอบสนองทุกความต้องการในทุกมื้ออาหารให้กลุ่มลูกค้าหลัก 2 กลุ่มในรัศมี 1–3 กิโลเมตร

กลุ่มแรกเป็นลูกค้าทั่วไป กลุ่มคนวัยทำงาน โสด หรือมีครอบครัวแล้ว รักสุขภาพ ทันสมัย มีกิจกรรมต้องทำมากมาย แต่มีเวลาจำกัด มีความต้องการทำอาหารง่ายๆ หรือสังสรรค์กับครอบครัว

กลุ่มที่ 2 กลุ่มร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อยประเภทร้านอาหาร หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร เช่น โรงแรม สถานบริการต่างๆ

และล่าสุด ปี 2563 งัดมินิซูเปอร์มาร์เก็ต “CP Fresh” ที่สอดรับกับพฤติกรรมนิวนอร์มอลมากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเจาะขยายฐานลูกค้า เน้นวัตถุดิบการปรุงอาหารภายใต้สโลแกน “สดทุกวัน คุ้มทุกวัน”

ขณะเดียวกันซีพีเอฟยังมีเครือข่ายร้านอาหารภายใต้แบรนด์ต่างๆ ซึ่งสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจได้อีกส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านห้าดาว ซึ่งเปิดให้บริการมากกว่า 5,000 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ เช่น อินเดีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์

ร้านเชสเตอร์ เปิดให้บริการรวม 188 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารกลุ่มสตาร์ทอัพอีก 2 แบรนด์ ได้แก่ ร้านอาหารจานด่วน วอค สเตชั่น (WOK Station) เปิดให้บริการแล้ว 5 สาขา และร้านอาหารเกาหลีสัญชาติไทย ดัค กาลบี้ (Dak Galbi) อีก 8 สาขา

ทั้งหมดเป็นปฏิบัติการรุกขยายครั้งใหญ่ของซีพี รองรับการ Synergy ทุกแบรนด์ในเครือ และที่สำคัญ เป็นกลยุทธ์ผลักดันกลุ่มธุรกิจซีพี เฟรชมาร์ท สามารถเติบโตฝ่าวิกฤตโควิดด้วย

ใส่ความเห็น