วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจโรงแรมไทยหลัง COVID-19 ดิ้นรนหนีตายก่อนเป็นเหยื่อ

ธุรกิจโรงแรมไทยหลัง COVID-19 ดิ้นรนหนีตายก่อนเป็นเหยื่อ

การระบาดของโรคอุบัติใหม่ในนาม COVID-19 นอกจากจะคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนบนผืนพิภพอย่างกว้างขวางแล้ว ผลกระทบจากการระบาดยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยธนาคารโลกหรือ World Bank คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะติดลบถึงร้อยละ 5.2 และส่งผลให้ประชากรโลกตกอยู่ในภาวะยากจนสุดขีดไม่ต่ำกว่า 70-100 ล้านคน

ภาวการณ์ที่ว่านี้ ทำให้ธนาคารโลกระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ก่อให้เกิดสภาวะตื่นตระหนกที่รุนแรงและกะทันหัน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างที่สุดและเสียหายที่สุดในรอบ 150 ปี นับตั้งแต่ที่โลกได้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 1870 หรือ Long Depression ที่ส่งผลกระเทือนยาวนานจนได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็น The Great Depression of 1873-1896 แม้ว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะพยายามออกมาตรการต่างๆ มาเยียวยาก็ตาม

ผลกระทบที่ยาวนานนับเนื่องกว่า 2 ทศวรรษจากวิกฤตทางเศรษฐกิจในอดีตดังกล่าวนี้ ในด้านหนึ่งสร้างความกังวลที่สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ เพราะในขณะที่หลายฝ่ายพยายามที่จะกระตุ้นเร่งให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ความกังวลใจว่าด้วยความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ของ COVID-19 กลับเป็นการบ่อนทำลายการฟื้นตัว และทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ขณะเดียวกันวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ก็พร้อมเปลี่ยนให้กลายเป็นวิกฤตทางการเงินซึ่งจะมีกระแสการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ ที่บ่อนเซาะความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย

ความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 3 ของรัฐไทยก็ดำเนินไปในมิติที่ไม่ต่างกันนี้ โดยธุรกิจการท่องเที่ยวที่ตกอยู่ในภาวะซบเซาและนิ่งสนิทมาในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กลับมามีความหวังอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นไปท่ามกลางการพึ่งพานักท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลัก จากผลของมาตรการปิดน่านฟ้าที่คาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน และกว่าที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีความมั่นใจในการเดินทางก็อาจใช้เวลาเนิ่นนานไปจนถึงช่วงปลายปีก็ตาม

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือการท่องเที่ยวภายในประเทศมีส่วนสร้างรายได้หรือผลักดันการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในแต่ละปีในปริมาณที่ไม่น้อยเลย โดยตัวเลขในปี 2562 บ่งชี้ว่าการท่องเที่ยวในประเทศสร้างรายได้สูงถึง 1.08 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36 ของรายได้การท่องเที่ยวที่มีมูลค่ารวม 3.01 ล้านล้านบาท ขณะที่อีก 1.93 ล้านล้านบาทเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 64 การเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศ จึงอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อีกทางหนึ่ง

แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศช่วงเวลาที่เหลือไปจนถึงสิ้นปี ตั้งเป้าให้คนไทยเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น โดยล่าสุดกระทรวงการคลังและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังหารือเพื่อกำหนดรูปแบบและรายละเอียดของโครงการ “เที่ยวปันสุข” ซึ่งมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ทำอย่างไรให้คนไทยออกไปเที่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมนี้ เพื่อที่จะได้ช่วยพยุงธุรกิจการท่องเที่ยวและพยุงรายได้การท่องเที่ยวปี 2563 ให้ได้ 1.23 ล้านล้านบาทตามเป้าใหม่ที่ ททท. ปรับลดลงมา โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 8.28 แสนล้านบาท จากเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 12-14 ล้านคน ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยตั้งเป้ารายได้ที่ 4.02 แสนล้านบาท จากเป้านักท่องเที่ยวไทย 80-100 ล้านคน-ครั้ง

มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศดังกล่าวนี้ ในด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดอานิสงส์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ซึ่งต่างขานรับด้วยการจัดทำโปรโมชั่นพิเศษควบคู่กับมาตรการใหม่ด้านสุขอนามัยเพื่อสร้างความมั่นใจ จูงใจนักท่องเที่ยวไทยให้กล้าออกเดินทางช่วงครึ่งปีหลัง ประคับประคองธุรกิจในช่วงทยอยกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง หลังต้องทนพิษโรคโควิด-19 เล่นงานในครึ่งปีแรกอย่างสาหัส เพื่อดูดซับรายได้ที่จะเกิดมีขึ้นจากมาตรการของรัฐครั้งนี้

กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมทั่วไทยเริ่มดำเนินการอยู่ที่ประเด็นว่าด้วย “ความยืดหยุ่น” ในการเข้าพักและ “ราคา” เพื่อกระตุ้นยอดจองห้องพักล่วงหน้า และสะสมเงินสดเสริมสภาพคล่องในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งยังเป็นช่วงที่ต้องพึ่งตลาด “ไทยเที่ยวไทย” เพราะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มที่จะกลับมาอย่างช้าๆ ซึ่งอาจต้องรอถึงช่วงปลายปีหรือต้นปี 2564 และยังต้องติดตามความคืบหน้าของการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศที่มีความเสี่ยง COVID-19 ต่ำ เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันอีกด้วย

ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ได้ปรับกลยุทธ์ ทั้งในส่วนของการลดเวลาการทำงานลงด้วยการสลับวันทำงาน-วันลา เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงปรับลดราคา โดยโรงแรม 5 ดาวบางแห่งลดราคาจาก 5,000-6,000 บาทต่อวันเหลือ 1,000-2,000 บาท ส่งผลให้โรงแรมและรีสอร์ตระดับกลางและเล็กๆ ก็ต้องลดราคาตามลงมา เช่น เหลือคืนละ 500-600 บาทจาก 1,000-1,500 บาทไปด้วย

ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่าน “เที่ยวปันสุข” ก็คือผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินทุนและสายป่านยาวสามารถที่จะแข่งขันด้านราคาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ใช้บริการได้มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยหรือผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากมาตลอด 3-5 เดือนที่ผ่านมา และทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องประกาศยุติการให้บริการและขายกิจการ เนื่องจากผลของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปจนธุรกิจขาดสภาพคล่อง

สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ตเผชิญอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็คือ พวกเขายังไม่สามารถขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาทได้ เพราะธนาคารพาณิชย์มีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดมาก

ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวอยู่ที่ว่าธนาคารพาณิชย์กำหนดให้นำเกณฑ์รายได้ในเดือนมกราคมถึงเมษายนที่ผ่านมา มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาด้วย ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ เพราะช่วงดังกล่าวโรงแรมส่วนใหญ่แทบไม่มีรายได้อยู่แล้ว ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงต้องการให้รัฐบาล และ ธปท. เข้ามาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อมั่นว่าโรงแรมระดับบี และเอ สามารถฟื้นตัวได้แน่นอน หากได้เงินสภาพคล่อง และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาปกติ

การล้มหายไปของผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ตขนาดกลางและเล็กที่กำลังเกิดขึ้นนี้ กลายเป็นข้อน่ากังวลเมื่อปรากฏภาพของนักลงทุนจากต่างประเทศทั้งจีนและสิงคโปร์ได้เข้ามาแสดงความสนใจและพร้อมจะกว้านซื้อกิจการโรงแรมที่ขาดสภาพคล่องและขึ้นป้ายประกาศขายกิจการในจังหวัดท่องเที่ยวหลายจังหวัดของไทย

ความรุนแรงของการแพร่ระบาด COVID-19 นอกจากจะดำเนินไปท่ามกลางรูปการณ์จิตสำนึกของการสร้างความตระหนกและหวาดกลัว เพื่อเสริมให้เกิดความเข้มขลังในมาตรการที่ออกมาบังคับแล้ว ดูเหมือนว่าความบิดเบี้ยวกลายพันธุ์ในมาตรการเยียวยาและรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโรคระบาดอุบัติใหม่ที่กลายเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้อนทับวิกฤตเดิมจะเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าปัญหาในเชิงสาธารณสุขและสุขอนามัยของประชาชนคนไทยไปแล้ว

หากแต่ COVID-19 กำลังเป็นบททดสอบทดลองโครงสร้างในการบริหารจัดการและยุทธศาสตร์การพัฒนาในทุกมิติของประเทศนี้ว่ามีศักยภาพในการรองรับกับปัญหาที่เผชิญได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มากน้อยเพียงใด

ใส่ความเห็น