วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > Cover Story > ปิดฉาก “ลาดหญ้า” เซ็นทรัลซุ่มบิ๊กโปรเจกต์

ปิดฉาก “ลาดหญ้า” เซ็นทรัลซุ่มบิ๊กโปรเจกต์

 
6 เมษายน 2558 
 
ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาลาดหญ้า จะเปิดทำการเป็นวันสุดท้าย ก่อนปิดฉากอย่างเป็นทางการ แต่เซ็นทรัลกรุ๊ปในฐานะเจ้าของที่ดินผืนใหญ่บริเวณนั้นเตรียมโปรเจกต์ลงทุนธุรกิจใหม่รับโครงการสถานีรถไฟฟ้าอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตั้งอยู่บนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ตามแนวเส้นทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งคาดว่าจะพลิกโฉมทำเลครั้งใหญ่
 
การปิดสาขาลาดหญ้าจึงเป็นเพียงเกมคั่นเวลารอจังหวะและลดการขาดทุนจากธุรกิจค้าปลีกที่อยู่ในภาวะซบเซา เพราะสภาพทำเลที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสงครามค้าปลีกย่านฝั่งธนบุรีได้ย้ายจุดยุทธศาสตร์สู่แนวรบด้านเจริญนครและริมฝั่งเจ้าพระยา 
 
ที่สำคัญ ลาดหญ้าถือเป็นสมรภูมิค้าปลีกย่านวงเวียนใหญ่ที่กลุ่มเซ็นทรัลยึดหลักปักฐานมานานเกือบ 40 ปี ตั้งแต่ยุค 3 พี่น้อง ได้แก่ สัมฤทธิ์, วันชัย และ สุทธิพร จิราธิวัฒน์ บุกเบิกธุรกิจห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เริ่มจากสาขาวังบูรพา ราชประสงค์ สีลม ชิดลม จนกระทั่งมาเปิดห้างเซ็นทรัลสาขาลาดหญ้า ในปี 2524  ก่อนปรับโฉมและเปลี่ยนแบรนด์เป็นห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาลาดหญ้า เมื่อปี 2540 
 
เวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น “เซ็นทรัล” หรือ “โรบินสัน” คือห้างนำสมัยในย่านวงเวียนใหญ่ พื้นที่ขายมากกว่า 14,000 ตารางเมตร มีทั้งหมด 3 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น โดยถือเป็นจุดนัดพบของผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากวงเวียนใหญ่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมย่านฝั่งธนบุรี จุดเชื่อมต่อรถประจำทางระหว่างถนนอินทรพิทักษ์ จากถนนเพชรเกษม และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน จากทางถนนสุขสวัสดิ์ และถนนพระราม 2 รวมทั้งเป็นต้นทางของรถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ไป จ.สมุทรสาคร 
 
จนกระทั่งมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายสายสีลม บริเวณถนนกรุงธนบุรี ทำให้ผู้คนกระจายการเดินทางสู่ช่องทางรถไฟฟ้า ขณะที่รถไฟสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่มีผู้ใช้บริการน้อยลง และยังมีรูปแบบการเดินทางด้วยรถตู้ประจำทางเป็นทางเลือกมากขึ้นด้วย
 
ทั้งจำนวนผู้คนที่ลดลงและกลุ่มเป้าหมายคนวัยทำงาน นักเรียน นักศึกษาหดหายไป เหลือเพียงผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ทำให้ห้างค้าปลีกในบริเวณนั้นประสบปัญหาด้านยอดขาย อย่างศูนย์การค้าเมอรี่คิงส์ วงเวียนใหญ่ ประกาศปิดกิจการเมื่อปี 2550 หลังเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2529 และเถูกขายทอดตลาด
 
หากเปรียบเทียบกับห้างค้าปลีกหลายๆ ค่าย “โรบินสัน” ผ่านมรสุมธุรกิจอย่างโชกโชน ตั้งแต่เปิดกิจการเมื่อปี 2522 โดย 2 ผู้ก่อตั้ง คือ มานิต อุดมคุณธรรม และ กมลพันธ์ ศิริพรรณพร แม้เป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2535แต่เจอปัญหาการดำเนินธุรกิจจนต้องเปิดทางให้กลุ่มบริษัทเซ็นทรัลรีเทลคอร์ปอเรชั่นเข้ามาถือหุ้นใหญ่เมื่อปี 2538 พร้อมๆ กับปิดโรบินสัน สาขาราชดำริ เพื่อปรับเปลี่ยนเป็น “บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์” สาขาราชดำริ ตามแผนธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล 
 
ปี 2541 บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) ต้องประกาศหยุดพักชำระหนี้สินทางการเงิน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และในวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ 
 
ผลจากการฟื้นฟูกิจการ โรบินสันต้องปิดสาขาดอนเมือง เนื่องจากการลงทุนให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า 
 
ปีต่อมา ปิดสาขาอนุสาวรีย์ ซึ่งถือเป็นโรบินสันสาขาแรก เปิดให้บริการเมื่อปี 2522 เนื่องจากครบกำหนดระยะเวลาของสัญญาสิทธิการเช่าอาคาร ประกอบกับบริษัทประเมินว่า การลงทุนเพื่อปรับปรุงสาขานี้ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า 
 
ในปี 2544 โรบินสันเหลือสาขาเปิดให้บริการทั้งสิ้น 18 สาขา แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 9 สาขา และต่างจังหวัด 9 สาขา 
 
ปี 2551 ปิดสาขาสีลม โดยตัดสินใจคืนพื้นที่บริเวณต้นถนนสีลม แม้มีสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี ให้เจ้าของที่ดิน คือบริษัท สีลมเอสแซ็ท จำกัด ก่อนหมดสัญญาในปี 2557 เนื่องจากโรบินสันสาขาสีลม มีพื้นที่ขายจำกัด เพียง 5,000 ตารางเมตร หากรีโนเวตพื้นที่ เพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในย่านสีลมจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งในแง่พื้นที่และสัญญาเช่าเหลือเพียง 6 ปี 
 
นอกจากนี้ จำนวนคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ทั้งห้างในย่านเดียวกันและขยายแนวรบยาวไปถึงราชดำริ สยาม มาบุญครอง ซึ่งเป็นผลจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าทำให้นักช้อปเดินทางไปจับจ่ายในห้างคู่แข่งง่ายขึ้น 
 
เดือนมีนาคม 2556 โรบินสันต้องเลิกกิจการสาขารัชดาภิเษก หลังจากสิ้นสุดสัญญาเช่าและพยายามเจรจากับกลุ่มราชาพาเลซ เจ้าของที่ดิน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  
 
เวลานั้น โรบินสันสาขารัชดาภิเษกทำรายได้สูงสุดมากกว่าทุกสาขา เฉลี่ยเดือนละ 1,200 ล้านบาท และเป็นฐานที่มั่นสำนักงานใหญ่ จนหลายฝ่ายต่างจับตาจุดเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ โดยเฉพาะแผนปลุกปั้นสาขาพระราม 9 แฟล็กชิปสโตร์แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา พระราม 9 ห่างออกไปจากที่ตั้งเดิมเพียงหนึ่งสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 
 
ล่าสุด ปี 2558 ปิดสาขาลาดหญ้า แม้ส่วนหนึ่งอาจเป็นความพ่ายแพ้ด้านธุรกิจค้าปลีกตามสภาพทำเล แต่เหนืออื่นใด คือ ยุทธศาสตร์ใหม่ของเซ็นทรัล บิ๊กโปรเจกต์ที่จะพลิกฟื้นฐานที่มั่นอันเก่าแก่ให้เป็นทำเลทองขึ้นมาอีกครั้ง