วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “ทศ จิราธิวัฒน์” จัดทัพออนไลน์ อนาคตใหม่ “เซ็นทรัล”

“ทศ จิราธิวัฒน์” จัดทัพออนไลน์ อนาคตใหม่ “เซ็นทรัล”

 
หลังจากกลุ่ม “เซ็นทรัล” รุกยุทธศาสตร์ใหม่ ควบรวมกิจการ “ออฟฟิศเมท” และปรับโครงสร้างองค์กร ยกเครื่องกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติใหญ่ภายใต้แนวคิด “The Next Chapter of Central Group” และล่าสุด การแถลงข่าวประจำปี 2558  “CEO  Challenge” ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ประกาศเป้าหมายขั้นต่อไปกับการสร้างอาณาจักร “ธุรกิจออนไลน์” ซึ่งจะเป็นอนาคตใหม่ของธุรกิจค้าปลีกในเครือทั้งหมด 
 
25 มีนาคม 2558  “เซ็นทรัลออนไลน์กรุ๊ป” จะเปิดตัวเว็บไซต์โฉมใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กับพันธมิตรรายใหญ่ที่จะเป็นผู้นำเสนอสินค้าผ่านออนไลน์ จำนวนมากกว่า 100,000 รายการ  
 
ทศระบุว่าธุรกิจออนไลน์มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่องทางออนไลน์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของการค้าที่มีโอกาสเติบโตอย่างมาก ด้วยตัวสินค้าและแบรนด์ของเซ็นทรัลที่มีอยู่จำนวนมากมาย ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกในการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือด้วยมาตรฐานของแบรนด์ในกลุ่มเซ็นทรัล “อนาคตของเราคือธุรกิจออนไลน์” ซีอีโอเซ็นทรัลกรุ๊ปกล่าว 
 
ทั้งนี้ ตามแผนการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร “ออฟฟิศเมทและTrendyday.com” กับบริษัท ออฟฟิซ คลับ (ไทย) จำกัด ผู้บริหารร้าน “ออฟฟิศ ดีโป” และบริษัท บีทูเอส จำกัด ผู้บริหารร้าน “บีทูเอส” ของกลุ่มเซ็นทรัล เมื่อปี 2555 มีเป้าหมายอยู่ที่การเพิ่มช่องทางการให้บริการและขยายฐานลูกค้า เตรียมธุรกิจพร้อมรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยทศมอบหมายภารกิจสำคัญให้ วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) ผลักดันสินค้าในกลุ่มเซ็นทรัลเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์อย่างเต็มตัว
 
การเลือกวรวุฒิและออฟฟิศเมท ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจจำหน่ายเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงาน รวมถึงสินค้าในชีวิตประจำวัน สอดรับกับธุรกิจค้าปลีกของเครือ ที่สำคัญมีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี การวางระบบจัดจำหน่ายผ่านระบบแค็ตตาล็อก ระบบ Call Center ระบบออนไลน์ (e-Commerce) และระบบสั่งซื้ออิเล็กทรอนิกส์เฉพาะแต่ละองค์กร (e-Procurement) จนถือเป็นผู้นำในวงการและยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
 
ปัจจุบัน บริษัทออฟฟิศเมทมีลูกค้าอีคอมเมิร์ซเป็นหลักแสนรายและเป็นกลุ่มลูกค้าธุรกิจมากกว่า 60,000-70,000 ราย โดยสินค้าขายดี 3 อันดับแรก คือ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าแม่และเด็ก
 
วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออฟฟิศเมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจะปรับรูปแบบธุรกิจในอนาคตสู่การเป็นผู้จำหน่ายสินค้าและวางระบบการขายผ่านระบบออนไลน์ให้กลุ่มเซ็นทรัล นอกเหนือจากธุรกิจร้านค้าออฟฟิศเมทและบีทูเอส โดยวันที่ 3 เมษายนนี้ จะขอมติผู้ถือหุ้นอนุมัติเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เซ็นทรัล ออนไลน์ กรุ๊ป (COL) เพื่อให้ตรงกับธุรกิจมากยิ่งขึ้น แบรนด์เป็นที่รู้จักและกลุ่มเป้าหมายต่างชาติเข้าใจง่ายขึ้น 
 
สำหรับปี 2558 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมจะเติบโตได้กว่า 15% หรือทะลุ 10,000 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 9,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ของออฟฟิศเมทและบีทูเอส
 
ส่วนธุรกิจออนไลน์ ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลจะบุกอย่างจริงจัง ในปีแรกตั้งเป้ารายได้ 800 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยล่าสุดจัดตั้ง บริษัท เซ็นเนอร์จี อินโนเวชั่น จำกัด เพื่อทำหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีรองรับการขายสินค้าออนไลน์ และพัฒนาระบบต่างๆ ของกลุ่มเซ็นทรัล รวมถึงเพิ่มธุรกิจด้านโลจิสติกส์รองรับการขายสินค้าออนไลน์ด้วย
 
ก่อนหน้านี้กลุ่มเซ็นทรัลยกเครื่องโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อก้าวสู่การเป็นกลุ่มค้าปลีกและบริการระดับโลก จัดกระบวนทัพใหม่แบ่งเป็น 8 กลุ่มธุรกิจหลัก  
 
ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (Department Store Group: DSG) ,กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภค (Fast Moving Consumer Group: FMCG), กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า (Hardlines Group: HDLG), กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์ (OfficeMate Group), กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ (Central Pattana Group: CPN), กลุ่มธุรกิจบริหารและจัดการสินค้านำเข้า (Central Marketing Group: CMG), กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต (Centara Hotels and Resorts Group: CHR) และกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (Central Restaurants Group: CRG)
 
ล่าสุดปรับเพิ่มอีกกลุ่มธุรกิจ คือกลุ่มธุรกิจเวียดนาม หรือ Central Group Vietnam เพื่อสยายปีกธุรกิจในอาเซียน 
 
ทั้ง 8 กลุ่มธุรกิจ นอกจากผู้บริหารในกลุ่มแล้วยังมีคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee หรือ ExCom) ให้คำแนะนำอีกขั้นตอน โดยทศ จิราธิวัฒน์ นั่งประธาน พร้อม 4 กรรมการบริหาร คือ กอบชัย จิราธิวัฒน์,   สุทธิลักษณ์ จิราธิวัฒน์, ปริญญ์ จิราธิวัฒน์ และ ณรงค์ฤทธิ์ จิราธิวัฒน์   
 
ขณะที่ถ้าจัดแบรนด์ตามกลุ่มธุรกิจจะแยกได้ 6 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มห้างสรรพสินค้า ได้แก่ แบรนด์เซ็นทรัล, เซน,โรบินสัน, ลา รินาเซนเต้, อิลลุม, โรบินส์ โดยเซ็นทรัล โรบินสัน และโรบินส์ เน้นทำตลาดแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน ส่วนลา รินาเซนเต้ และ อิลลุม มุ่งขยายตลาดยุโรป 
 
กลุ่มศูนย์การค้า ได้แก่ แบรนด์เซ็นทรัลเอ็มบาสซี่, เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซ่า, เซ็นทรัลเฟสติวัล 
 
กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ต ได้แก่ เซ็นทารา, เซ็นทรัลบูติค,โคซี่ (COSI)
 
กลุ่มสเปเชียลสโตร์ ได้แก่ เพาเวอร์บาย, โฮมเวิร์ค,ไทวัสดุ, bann&BEYOND, ซูเปอร์สปอร์ต, ออฟฟิศเมท, บีทูเอส 
 
กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์, ท็อปส์, แฟมิลี่มาร์ท, ฟู้ดลอฟท์, เซกาเฟรโด และเซ็นทรัล ไวน์ เซลลาร์ ส่วนกลุ่มคอนเซ็ปต์สโตร์ ได้แก่ แบรนด์มาร์คแอนด์สเปนเซอร์และมูจิ (Muji) 
 
แผนสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล คือ การ Synergy กลุ่มธุรกิจและแบรนด์ ปรับเข้าสู่โหมดธุรกิจออนไลน์ เพื่อขยายฐานตลาดแบบไม่จำกัดและรักษาฐานลูกค้าที่กำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น 
 
มีข้อมูลยืนยันว่าคนไทย 1 ใน 5 เลือกซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์และมีผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 30 ล้านรายทั่วประเทศเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้มากขึ้น ทั้งผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และมือถือ ไม่รวมการขยายฐานสู่ตลาดใหม่ทั่วโลกโดยคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี ตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ในไทยจะเติบโตอย่างเด่นชัด เหมือนประเทศเกาหลีที่มีผู้บริโภคมากกว่า 45% นิยมซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์
 
ธุรกิจค้าปลีกเม็ดเงินมากกว่า1.55-1.6 ล้านล้านบาท ในอีก 2 ปีข้างหน้าจะพลิกโฉมอย่างน่าตื่นเต้น และกลุ่มเซ็นทรัลคงไม่ปล่อยโอกาสสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลแน่นอน