วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > เทศกาลกินเจ’63 สุดเหงา ผู้บริโภคกระเป๋าเบา เน้นประหยัด

เทศกาลกินเจ’63 สุดเหงา ผู้บริโภคกระเป๋าเบา เน้นประหยัด

จีดีพีไทยติดลบถึงสองไตรมาสติดต่อกัน กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง สภาพการณ์ของเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในและต่างประเทศมองหาเสถียรภาพที่มั่นคงได้ลำบากกว่าวิกฤตครั้งไหน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากเทศกาลถือศีลกินผักปีนี้จะมีเงินสะพัดน้อยลง ผู้บริโภคปรับลดงบประมาณใช้จ่ายสำหรับการกินเจลง

ทั้งศูนย์วิจัย วิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่ง แสดงผลการวิจัยและการคาดการณ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าศักราชนี้ประชาชนจะใช้จ่ายเงินในช่วงเทศกาลกินเจลดลง และอาจต่ำสุดในรอบ 13 ปี

เช่นที่หอการค้าไทยได้วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดย ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 1,393 ตัวอย่าง เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 17-25 ตุลาคม 2563 พบว่า เทศกาลกินเจปีนี้คาดว่าจะไม่คึกคัก ส่วนใหญ่กว่า 39.8 เปอร์เซ็นต์ มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเป็นหลัก รองลงมา 18.6 เปอร์เซ็นต์ ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและ 19.1 เปอร์เซ็นต์ มาจากคนตกงานรายได้ลดลง

ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของแต่ละคนในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้อยู่ที่ 11,469 บาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 11,155 บาท เป็นผลมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารที่เกี่ยวข้องกับเจปรับราคาขึ้น

อย่างไรก็ดี คาดว่าเทศกาลกินเจปีนี้จะมีเงินสะพัดช่วงเทศกาลประมาณ 46,967 ล้านบาท ขยายตัว 0.9 เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551

นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังคาดการณ์ว่า ราคาอาหาร วัตถุดิบในการปรุงอาหารเจปีนี้ เทียบกับปี 2562 พบว่า 58.0 เปอร์เซ็นต์ สูงขึ้น สาเหตุมาจากค่าครองชีพสูง ผู้ขายปรับราคาขึ้น ปัญหาโควิด-19 ค่าแรงสูงขึ้น และ 41.1 เปอร์เซ็นต์ มองว่าราคาอาหารเจเท่าเดิม

ขณะที่ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงเทพฯ ที่สนใจเข้าร่วมกินเจในปีนี้ มีสัดส่วนอยู่ที่ 63.0 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ ลดลงเมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน ที่มีผู้สนใจเข้าร่วม 66.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มที่เข้าร่วมกินเจส่วนใหญ่ในปีนี้ จะกินเจไม่ครบทั้ง 9 วัน โดยจะกินเพียงบางมื้อ คิดเป็นสัดส่วน 64.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่กินเจทั้งหมด

ทั้งนี้กลุ่มที่กินทุกมื้อปรับงบประมาณลงจาก 105 บาทต่อมื้อในปีที่ผ่านมา เหลือเฉลี่ย 100 บาทต่อมื้อ และสำหรับกลุ่มที่กินเจบางมื้อ ปรับลดลงจาก 100 บาทต่อมื้อ เป็น 92 บาทต่อมื้อ คิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยต่อมื้อที่ลดลงประมาณ -5.9 เปอร์เซ็นต์

สำหรับช่องทางซื้ออาหารเจที่คนกรุงเทพฯ เลือกเป็นลำดับแรกในปีนี้คือ ร้านค้าแผงลอย/ริมทาง/ตลาดสด คิดเป็น 30.1 เปอร์เซ็นต์ จากช่องทางทั้งหมด ซึ่งต่างจากปีก่อนที่นิยมซื้ออาหารจากที่ร้านมารับประทานเป็นลำดับแรก สอดคล้องกับผลสำรวจที่ผลว่า ปัจจัยที่คนกินเจจะใช้เลือกช่องทางการกินเจในปีนี้ นอกจากความหลากหลายและการหาซื้อสะดวก การให้น้ำหนักต่อปัจจัยด้านราคายังมีสูงกว่าปีก่อน ซึ่งร้านค้าแผงลอย/ริมทางหรือในตลาดสดค่อนข้างตอบโจทย์คนกินเจภายใต้สภาวการณ์นี้

จากผลสำรวจข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าตลอดช่วงเทศกาลกินเจปี 2563 คนกรุงเทพฯ จะใช้จ่ายประมาณ 3,930 ล้านบาท หดตัว 17.4 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการปรับลดลง ทั้งในฝั่งของจำนวนผู้เข้าร่วม รวมถึงค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อมื้อที่ลดลง

แม้ว่าผลสำรวจและการคาดการณ์จากทั้งสองสถาบันจะแตกต่างกันด้วยตัวเลข ทว่า ทิศทางโดยรวมยังเป็นไปในลักษณะไม่ต่างกันนัก นั่นคือ การหดตัวลงของเม็ดเงินที่จะสะพัดในช่วงเทศกาลกินเจ รวมไปถึงการปรับลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคลงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ เมื่อกระเป๋าเงินเบาลง การประหยัดคือทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับเทศกาลกินเจแล้ว หอการค้ายังสำรวจทัศนะทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันที่น่าห่วง พบว่าส่วนใหญ่ 24.7 เปอร์เซ็นต์ ห่วงด้านเศรษฐกิจ อันดับสอง 24.1 เปอร์เซ็นต์ คือห่วงการเมือง และ 17.8 เปอร์เซ็นต์ กังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

และสำหรับสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ 47.8 เปอร์เซ็นต์มองว่า กำลังถึงจุดต่ำสุด 27.3 เปอร์เซ็นต์ มองว่ากำลังถดถอย

ความเป็นไปที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแทบทั้งสิ้น ทั้งการเว้นว่างของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงเวลาหนึ่ง ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แม้ว่าในประเทศจะอยู่ในการควบคุมได้เป็นอย่างดีแล้วก็ตาม ทว่า การแพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้านที่มีรอยต่อกับประเทศไทย ทำให้ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดชายขอบต้องระแวดระวังตัวเป็นพิเศษ หรือการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่

ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่สร้างให้เกิดแรงต้านต่อเศรษฐกิจในการที่จะฟื้นฟูเพื่อให้ไทยสามารถเดินหน้าทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มกำลังอีกครั้ง

คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลสมัยนี้ ที่ปัญหาดูจะตบเท้าเข้ามาอย่างไม่เว้นวรรค เพราะนอกจากจะต้องหาทางล้อมกรอบและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้อยู่ภายใต้การดูแลเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องสรรหามาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้ แม้ว่าไทยจะเคยชินกับการพึ่งพาตลาดต่างชาติในหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งยังต้องรับมือกับสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่แสดงข้อความเรียกร้องและเห็นต่าง

แน่นอนว่าปัญหาทั้งหมดไม่ใช่แค่สร้างรอยร้าวทางความเชื่อมั่นต่อคนในประเทศ แต่ยังสร้างความไม่มั่นใจต่อผู้ลงทุนที่กำลังตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนในอนาคตด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น