วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจถดถอย คนไทยต้องอดทน

เศรษฐกิจถดถอย คนไทยต้องอดทน

หลังการแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทว่าตัวเลขดังกล่าวกลับสะท้อนทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เป็นการชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ ครึ่งปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.6 เปอร์เซ็นต์

ฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจไทยทุกตัวอยู่ในภาวะชะงักงัน เครื่องจักรทางเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเฉกเช่นเดิม นั่นเพราะมีปัจจัยแวดล้อมหลายด้านทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ฟาดฟันกันด้วยกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของทั้งสองประเทศ สร้างความไม่มั่นคงให้กับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศต่อประเทศคู่ค้าอื่นๆ และทำให้ภาคการส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นติดลบ

ผู้ประกอบการสินค้าเพื่อการส่งออกจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการมองหาตลาดใหม่ในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังระส่ำระสาย

เพราะสงครามการค้าไม่ได้มีเพียงสองคู่อริอย่างจีนกับสหรัฐฯ เท่านั้น ยังมีสงครามการค้าระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐฯ เรื่องภาษีดิจิทัล และสงครามการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ แม้ว่าตำแหน่งที่ไทยยืนอยู่บนเวทีโลกจะไม่สามารถเป็นคู่ชกกับประเทศใดได้ แต่กลับได้รับผลกระทบทางอ้อมจากทุกสงครามที่เกิดขึ้น

สงครามการค้าที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายอาจจะมองในแง่ที่ว่า ไทยอาจสร้างความได้เปรียบในสถานการณ์เช่นนี้ ทว่าเรื่องจริงกลับไม่สวยงามดังนิยาย เมื่ออิทธิพลของสงครามการค้าขยายไปสู่ภาคการลงทุน

ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศเหล่านี้อาจเลือกย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงพิษสงกำแพงภาษีไปยังไปประเทศอื่น และแน่นอนว่าไทยมีข้อได้เปรียบมากมายที่อาจทำให้เข้าใจว่าอาจถูกเลือกเป็นฐานการผลิตใหม่ และนั่นหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะตามมา รวมไปถึงการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นด้วย

ทว่า อีกครั้งที่เหมือนการดับฝันภาคอุตสาหกรรมในไทย เมื่อเวียดนามกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ ทั้งความพร้อมด้านแรงงาน พื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยเตรียมปักหมุดในเวียดนาม ที่เปรียบเสมือน “ตาอยู่” ในภูมิภาคนี้

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามชูโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อหวังให้นักลงทุน ผู้ประกอบการ เล็งเห็นศักยภาพที่ภาครัฐกำลังนำเสนอและตัดสินใจย้ายฐานการผลิต หรือลงทุนในภาคอุตสาหกรรมบนพื้นที่ดังกล่าว

แต่ถึงเวลานี้ด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายประการ ทั้งความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพของรัฐบาล ค่าเงิน อาจทำให้นักลงทุนมองว่ายังมีประเทศอื่นที่น่าจะสร้างโอกาสได้ดีกว่า

นอกจากสงครามการค้าปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสภาพการณ์ของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีปัจจัยภายในอีกหลายด้านที่ไทยต้องเผชิญ ทั้งการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวเพียงแค่ 4.4 เปอร์เซ็นต์ การลงทุนรวมขยายตัว 2 เปอร์เซ็นต์ การนำเข้าสินค้า -3.4 เปอร์เซ็นต์

แม้จะมีความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการนำเงินเข้าระบบด้วยหวังกระตุ้นชีพจรให้ฟื้นคืน แต่คงทำได้เพียงหล่อเลี้ยงลมหายใจที่รวยรินเท่านั้น

กระทั่ง สศช. ได้นำเสนอแนวทางการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับภาคการส่งออกเพื่อให้เกิดการขยายตัวให้ได้ 3 เปอร์เซ็นต์ และรณรงค์กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยมีเป้าหมายนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังต้องคงไว้ซึ่งเสถียรภาพการลงทุนภาครัฐที่เป็นโครงการสำคัญ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะหากการลงทุนภาครัฐหยุดชะงักแล้ว จะกระทบต่อความมั่นใจของภาคเอกชน ซึ่งผลกระทบจะขยายวงกว้างออกไปในทุกระนาบ

รวมไปถึงการผ่าน พ.ร.บ. งบประมาณ 2563 ให้เริ่มเบิกจ่ายได้ในช่วงต้นปีงบประมาณ และการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากให้มากที่สุด

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ทำให้ สศช. ปรับประมาณการทางเศรษฐกิจทั้งปี 2562 เหลือเพียง 2.7-3.2 เปอร์เซ็นต์ จากการคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 3.3-3.8 เปอร์เซ็นต์

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินกว่าสามแสนล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสินธนาคารกรุงไทย 270,000 ล้านบาท เงินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 20,000 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเพิ่มขึ้นอีก 3 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน 2. มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2562 3. มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ 4. แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เวลานี้เศรษฐกิจไทยเหมือนยืนอยู่ท่ามกลางคลื่นลมโหมกระหน่ำซ้ำด้วยพายุหลายลูกที่พร้อมจะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ดำดิ่งจมสู่ก้นเหว

คงต้องจับตาดูมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลนำออกมาใช้จะแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน และไพร่ฟ้าหน้าใสจะอยู่รอดไปจนถึงศักราชใหม่ด้วยสภาพเช่นไร

มาตรการต่างๆ ที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีออกมาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ต่างอะไรกับมาตรการที่เคยใช้ไปก่อนหน้า ซึ่งแทบไม่เห็นความแตกต่าง เมื่อคนจนก็จนลงคนรวยก็ดูจะรวยขึ้น

นับเป็นอีกครั้งที่คนไทยต้องใช้ความอดทนกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป อดทนกับผู้แทนราษฎรที่ถนัดใช้ปากทำงาน อดทนกับมาตรการที่ไม่รู้ว่าจะเห็นผลสัมฤทธิ์เมื่อไหร่

ใส่ความเห็น