วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > On Globalization > การปฏิรูปสิทธิผู้หญิงด้วยการยกเลิก Male Guardianship System ในประเทศซาอุดีอาระเบีย

การปฏิรูปสิทธิผู้หญิงด้วยการยกเลิก Male Guardianship System ในประเทศซาอุดีอาระเบีย

Column: Women in Wonderland

อย่างที่ทราบกันดีว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศหนึ่งที่มีชื่อเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงอย่างรุนแรงไปจนถึงเรื่องไร้สาระ อย่างเช่นกฎหมายที่ผู้หญิงถูกควบคุมทุกอย่างจากผู้ชายในครอบครัว ไม่มีกฎหมายปกป้องผู้หญิงจากการถูกสามีทำร้ายร่างกาย การเป็นพลเมืองของประเทศไม่สามารถสืบทอดจากแม่ได้ และคำให้การของผู้หญิงในชั้นศาลให้ถือว่ามีค่าเท่ากับคำให้การในชั้นศาลของผู้ชายครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

เรื่องไร้สาระที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้หญิงซาอุฯ คือ ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ พวกเธอจะต้องมีผู้ชายขับรถให้ ซึ่งกฎหมายนี้เพิ่งถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2018 หลังจากที่ซาอุฯ ประกาศกฎหมายนี้ออกมามีผู้หญิงจำนวนมากออกมาขับรถบนท้องถนนเพื่อเฉลิมฉลองสิทธิเสรีภาพที่เพิ่มขึ้น

ถึงแม้ว่าผู้หญิงซาอุฯ จะได้รับอนุญาตให้ขับรถเองได้ แต่กฎหมายอื่นๆ ก็ยังคงละเมิดสิทธิของผู้หญิงซาอุฯ อยู่ดี โดยเฉพาะระบบที่ให้ผู้ชายซึ่งเป็นญาติเป็นผู้ปกครองของผู้หญิง (Male Guardianship System)

ภายใต้ระบบนี้แม้ผู้หญิงจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ยังต้องได้รับอนุญาตจากสามี พ่อ พี่ชายหรือน้องชาย และลูกชาย ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ จะทำหนังสือเดินทาง แต่งงาน หรือแม้กระทั่งจะออกจากคุก นอกจากนี้ หากผู้หญิงจะทำงานหรือใช้ประกันสุขภาพ บริษัทอาจเรียกร้องขอจดหมายยืนยันว่าได้รับอนุญาตจากสามีหรือพ่อแล้ว ดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นระบบที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงซาอุฯ มากที่สุด

เมื่อปีที่แล้วผู้หญิงซาอุดีฯ พยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไขและปรับเปลี่ยนกฎหมายข้อบังคับเหล่านี้ พวกเธอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกระบบ Male Guardianship System นอกจากนี้ UN Committee on Discrimination against Women ได้เรียกร้องให้รัฐบาลซาอุฯ ยกเลิก Male Guardianship System ให้มีการประกาศใช้กฎหมายการเลือกปฏิบัติ และมีการใช้กฎหมายครอบครัวที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ

2 สิงหาคม 2019 รัฐบาลซาอุฯ ประกาศว่า ประเทศซาอุดีอาระเบียจะมีการแก้ไขกฎหมาย Male Guardianship System โดยผู้หญิงที่อายุ 21 ปีบริบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากสามี พ่อ พี่ชายหรือน้องชาย อีกต่อไปในการทำหนังสือเดินทางและเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายนี้น่าจะมีผลบังคับใช้สิ้นเดือนสิงหาคมนี้

นอกจากเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ยังมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงในการทำงาน ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และกฎหมายยังจะอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถติดต่อหน่วยงานของภาครัฐได้เองในการขอเอกสารจากทางราชการเกี่ยวกับการแจ้งเกิด แต่งงาน หรือหย่า ซึ่งก่อนหน้านี้กฎหมายไม่อนุญาต

การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ยังคงอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถอาศัยอยู่คนละที่กับสามีได้ ผู้หญิงสามารถไปขอเอกสารทะเบียนบ้าน และขอลงทะเบียนเป็นหัวหน้าครอบครัวคู่กับสามีได้ นี่ถือว่ากฎหมายนี้ให้สิทธิและปฏิบัติกับผู้หญิงซาอุฯ อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น เพราะประเทศซาอุฯ และหลายๆ ประเทศที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ ไม่เคยอนุญาตให้ผู้หญิงลงทะเบียนเป็นหัวหน้าครอบครัวได้

การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนสถานะของผู้หญิงซาอุฯ ครั้งใหญ่ หากกฎหมายนี้บังคับใช้เมื่อไหร่ สถานะและสิทธิของผู้หญิงซาอุฯ จะถูกยกระดับให้ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้น และการแก้ไขกฎหมายนี้ยังแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ Mohammed bin Salaman ทรงสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศให้เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้พระองค์ทรงสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยและอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถเองได้

เจ้าหญิง Reema bint Bandar ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตของซาอุฯ ประจำประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทวิตข้อความบนทวิตเตอร์ว่า การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ และเธอยืนยันว่าประเทศซาอุฯ จะดำเนินการแก้ไขกฎหมายแรงงานและระบบกฎหมายของประเทศเพื่อยกสถานะของผู้หญิงซาอุฯ ในสังคม

ถึงแม้ว่ารัฐบาลประเทศซาอุฯ ประกาศว่าจะแก้ไขกฎหมายและน่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้สิ้นเดือนสิงหาคมนี้ แต่สื่อหลายสำนักก็ยังไม่แน่ใจว่ากฎหมายนี้จะมีการแก้ไขและเริ่มใช้ได้จริง

ยกตัวอย่างเช่น Wall Street Journal ให้ความเห็นว่า กฎหมายนี้น่าจะต้องใช้เวลาก่อนที่จะเริ่มบังคับใช้จริง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย Male Guardianship System เกี่ยวข้องกับกฎหมายอีกหลายฉบับ โดยเฉพาะเกี่ยวกับจารีตประเพณี ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายนี้ก็ไม่ได้ยกเลิกระบบ Male Guardianship System ทั้งหมด รัฐบาลยังคงกฎหมายและบทลงโทษไว้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการตัดสินใจของผู้หญิง เช่น ผู้หญิงยังต้องได้รับอนุญาตจากพ่อในการแต่งงาน หรือได้รับอนุญาตจากพ่อหรือสามีในการออกจากคุก รวมไปถึงยังต้องได้รับอนุญาตในการเข้าไปพักอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินสำหรับผู้หญิงที่โดนสามีทำร้ายร่างกาย

Adam Coogle เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านตะวันออกกลางของ Human Rights Watch ตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลประกาศจะแก้ไขกฎหมาย และหนึ่งในกฎหมายนั้นคือ ผู้หญิงสามารถแยกกันอยู่คนละที่กับสามีได้ น่าจะทำให้เกิดความสับสนและยากที่จะมีการแก้ไขและนำไปปฏิบัติได้จริง เพราะถ้าหากภรรยาแยกกันอยู่กับสามี สามีก็สามารถฟ้องภรรยาได้ว่าเธอทำผิดกฎหมายในเรื่องต้องเชื่อฟังสามี ผู้พิพากษาจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร หากยึดตามกฎหมายที่จะแก้ไขใหม่ ก็อาจบอกว่าผู้ชายไม่มีสิทธิ์เรียกร้องในเรื่องนี้ แต่ถ้ายึดตามกฎหมายชารีอะห์ ผู้หญิงก็จะมีความผิดทันทีที่ไม่เชื่อฟังสามี เรื่องนี้จึงค่อนข้างซับซ้อน และถ้าหากแก้ไขกฎหมายฉบับหนึ่ง ก็จำเป็นต้องแก้ไขอีกฉบับตามไปด้วย แต่กฎหมายชารีอะห์สามารถแก้ไขได้จริงหรือ

ในช่วง 2- 3 ปีมานี้ มีผู้หญิงซาอุฯ จำนวนมากที่หลบหนีออกจากประเทศ แล้วขอลี้ภัยที่ประเทศอื่น โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถทนอยู่กับระบบ Male Guardianship System ได้อีกต่อไป และมีนักเรียกร้องสิทธิสตรีในประเทศซาอุฯ อีกไม่น้อยที่ถูกจำคุกหรือถูกตั้งข้อหาแล้วโดนทรมานจากการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายและให้สิทธิกับผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นในสังคม

องค์กร Human Rights Watch และ Amnesty International ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หากรัฐบาลซาอุฯ สามารถแก้ไขกฎหมายได้จริงตามที่ประกาศไว้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่น่าเสียดายที่ผู้หญิงที่เรียกร้องให้ผู้หญิงทุกคนได้รับสิทธิในสังคมที่ดีขึ้นกลับต้องอยู่ในคุก ไม่ได้เห็นและชื่นชมความสำเร็จนี้ แต่ทางรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ออกมาปฏิเสธเกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคนทำตามหน้าที่ ไม่มีการตั้งข้อหาเกินจริงและการทรมานเกิดขึ้น

Human Rights Watch ยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าจะแก้ไขกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถทำหนังสือเดินทางเองได้ แต่ในแอปพลิเคชันของโทรศัพท์ชื่อ government-run mobile app ใช้เพื่อเข้าถึงบริการต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเดินทาง หรือวีซ่า ยังคงมีช่องให้ผู้ชายเลือกว่าต้องการปฏิเสธการเดินทางของผู้หญิงที่อยู่ในความปกครอง นี่จึงทำให้ Human Rights Watch ไม่แน่ใจว่ากฎหมายจะได้รับการแก้ไขจริง

อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะต้องแก้กฎหมายอีกหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายชารีอะห์ที่มีความสำคัญในประเทศซาอุฯ ถ้าหากว่ารัฐบาลประกาศที่จะแก้ไขกฎหมายแต่ไม่แก้กฎหมายอื่นให้สอดคล้องกัน สุดท้ายแล้วกฎหมายที่แก้ไขก็จะไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง

แต่หากกฎหมายนี้ถูกแก้ไขและมีผลบังคับใช้จริง ผู้หญิงซาอุฯ ก็จะมีสถานะในสังคมที่ดีขึ้น มีสิทธิในชีวิตของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องหลบหนีไปลี้ภัยในประเทศอื่น และแม้ว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะไม่ได้แก้ทั้งหมดของระบบ Male Guardianship System แต่ซาอุฯ ก็เหลือเพียงกฎข้อบังคับที่สำคัญเหมือนกับประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ ผู้หญิงซาอุฯ ก็จะมีสิทธิและเสรีภาพในสังคมมากขึ้น

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/muslim-woman-1428649

ใส่ความเห็น