วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > On Globalization > ภรรยาท่านนายกฯ

ภรรยาท่านนายกฯ

 
ความเป็นไปของสังคมการเมืองในประเทศไทยชั่วโมงนี้ เชื่อว่าจุดสนใจคงบ่ายเบนออกไปจากเรื่องของการจัดระเบียบกำลังพลภายใต้กลไกแห่งอำนาจออกไปมากแล้ว หลังจากที่ประเด็นต่างๆ เริ่มคลี่คลายและปรากฏชัดเจนว่าใครเป็นใครในเกมแห่งอำนาจนี้
 
แต่การปรากฏตัวของสตรีนางหนึ่งในฐานะภริยาท่านผู้นำ อาจกระตุกต่อมความอยากรู้อยากเห็น  ก่อนจะนำไปสู่การถามไถ่ถึงที่มาและบทบาทในช่วงก่อนหน้านี้
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงเวลานี้ ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงท่วงทำนองของ โนบูโกะ คัง (Nobuko Kan) ภรรยาของ นาโอโตะ คัง (Naoto Kan) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพราะตามปกติธรรมดา ผู้คนในแวดวงการเมืองมักเรียกขานภรรยาของท่านผู้นำทั้งหลายในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่ง หากแต่เธอผู้นี้ไม่ประสงค์ที่จะถูกเรียกขานในฐานะ สตรีหมายเลขหนึ่งเท่าใดนัก
 
“เรียกฉันว่า ภรรยาของนายกรัฐมนตรี ก็เพียงพอแล้ว” เธอบอกกับสื่อมวลชนในวันแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “อะไรในโลกนี้จะเปลี่ยนไปหรือถ้าคุณเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น” เมื่อปี 2011
 
โนบูโกะ คัง ได้ชื่อว่าเป็น “หลังบ้าน” ที่มีบทบาทสูงมากคนหนึ่ง ในสังคมการเมืองญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องนี้ นาโอโตะ คัง คงตระหนักดีและเป็นผู้ยืนยันต่อสาธารณะด้วยว่า ภรรยาของเขา คือผู้สนับสนุนที่ทรงอำนาจและเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์เขาหนักหน่วงที่สุดด้วย
 
“หากนโยบายที่สามีของฉันนำเสนอ ไม่สามารถสร้างความประทับใจ หรืออธิบายให้ฉันเห็นได้ว่านโยบายที่ว่านี้ดีอย่างไร ก็อย่าไปหวังว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นจะชื่นชมและตัดสินใจเลือกลงคะแนนให้เลย” นั่นเป็นเหตุให้ คู่สมรสคู่นี้มีวิวาทะเผ็ดร้อนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการร่างและนำเสนอนโยบาย 
 
ขณะเดียวกันด้วยท่าทีที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา และพร้อมจะกระโจนลงไปสู่การปฏิบัติ ด้วยทัศนะทางการเมืองที่แหลมคม ทำให้ผู้คนในวงการเมืองญี่ปุ่นยกให้ โนบูโกะ คัง เป็น “มันสมองที่แข็งแกร่งของนาโอโต คัง”
 
แต่เมื่อ นาโอโตะ คัง ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2010 โนบูโกะ คัง ถึงกับระบุว่านี่เป็นตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมกับสามีของเธอเลยแม้แต่น้อย เพราะที่ผ่านมาเขามีภาพลักษณ์ที่ต้องวิ่งวุ่นในฐานะที่เป็นหมายเลข 2 หมายเลข 3 อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่บุคคลที่จะนั่งนิ่งอยู่บนตำแหน่งสูงสุดของญี่ปุ่นเช่นนี้
 
“แต่หากเป็นที่บ้าน เขายังเป็นหมายเลข 2 อยู่ดี เพราะฉันจะกระชับอำนาจไว้ให้แน่นหนาที่สุด”
 
ภาพลักษณ์ของ โนบูโกะ คัง แตกต่างและขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับภาพลักษณ์ของ มิยูกิ ฮาโตยามา อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ภรรยาของ ยูกิโอะ ฮาโตยามา อดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อช่วงกลางปี 2010 ท่ามกลางกระแสกดดันทั้งเรื่องฐานทัพของสหรัฐอเมริกา และประเด็นอื้อฉาวว่าด้วยเงินสนับสนุนพรรคการเมืองด้วย
 
เพราะในขณะที่โนบูโกะ คัง มีพื้นฐานมาจากนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่พร้อมจะปรากฏตัวต่อสาธารณชนในชุด กิโมโน ซึ่งเป็นประหนึ่งเครื่องแบบประจำชาติ และทัศนะทางการเมืองที่แหลมคม มิยูกิ ฮาโตยามา ซึ่งมีภูมิหลังเป็นอดีตนักแสดง ก็พร้อมปรากฏตัวผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในรายการ วาไรตี้ทอล์คโชว์ ด้วยชุดที่ประดิษฐ์ขึ้นจากกระสอบใส่เมล็ดกาแฟที่ได้มาจากฮาวาย เพื่อร่วมพูดคุยทั้งในเรื่องอาหาร ศาสนาและความเชื่อเหนือธรรมชาติ
 
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากของภรรยาท่านผู้นำทั้งสองก็คือ ในขณะที่ โนบูโกะ คัง ให้การสนับสนุนสามีด้วยการถกแถลงและแสวงหานโยบายซึ่งต้องเป็นผลมาจากการตกผลึกความคิดภายใน มิยูกิ ฮาโตยามา เลือกที่จะสนับสนุนสามีของเธอผ่านภาพลักษณ์ภายนอก ด้วยการเป็นหัวหน้าทีมในการดูแล เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และออกแบบทรงผมให้กับสามีของเธอในการปรากฏตัวออกสู่สาธารณะแทน
 
แต่ใช่ว่าการสนับสนุนที่ นาโอโตะ คัง ได้รับจาก โนบูโกะ คัง จะเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จบนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนะคะ
 
เพราะตัวเลขผลสำรวจความนิยมที่นาโอโตะ คัง ได้รับหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 6 เดือนลดต่ำลงอย่างมาก และทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าอายุรัฐนาวาของ นาโอโตะ คัง กำลังหดสั้นลง ก่อนที่ นาโอโตะ คัง จะตัดสินใจลาออกเพื่อหลีกหนีแรงกดดันที่โถมทับจากเหตุพิบัติภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ
 
หากสำหรับ โนบูโกะ คัง แล้ว ความคิดเช่นว่านี้ไม่ได้อยู่ในสมองของเธอแม้แต่น้อย เพราะ “คะแนนนิยมคงไม่ตกต่ำถึงขนาดติดลบ และการลาออกเพียงเพราะถูกวิจารณ์คงไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์”
 
โนบูโกะ คัง ยังบอกด้วยว่า เธอช่วยสามีของเธอเต็มที่ แต่ไม่ใช่ด้วยการกล่าวคำหวานหรือคำปลอบใจ หากแต่ด้วยการทำให้การต้องตอบคำถามหนักๆ ในสภากลายเป็นเรื่องง่ายๆ ด้วยการตั้งคำถามหนักๆ ให้สามีของเธอต้องตอบตั้งแต่อยู่ในบ้าน และบ่อยครั้งที่เธอกล่าวตำหนิสามีเธออย่างดุเดือด ซึ่งอาจทำให้เรื่องในสภาเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยไปโดยปริยาย
 
“ฉันอาจต้องลดการตำหนิสามีของฉันให้น้อยลง แต่นี่คือวิธีที่สามีฉันจัดการกับมัน เขาบอกว่าเขาไม่ชอบการถกแถลงในสภานักหรอก แต่มันคงดีกว่าต้องทุ่มเถียงอยู่กับเธอ และนั่นเท่ากับว่าเขาพร้อมแล้ว สำหรับการไปตอบคำถามในการประชุมที่รัฐสภา”
 
ไม่แน่ใจว่า สตรีหมายเลขหนึ่ง หรือภรรยาท่านผู้นำประเทศอื่นๆ จะใช้วิธีการแบบนี้บ้างหรือเปล่านะคะ