วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ภาพสะท้อนธุรกิจเวชภัณฑ์ไทย

“หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ภาพสะท้อนธุรกิจเวชภัณฑ์ไทย

สถานการณ์ว่าด้วย การเข้าไม่ถึงยาจำเป็น ของสังคมไทย ดูจะเป็นประเด็นใหญ่ที่น่ากังวลมิใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยในโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และเป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุขของไทย ท่ามกลางความเป็นไปของตลาดยาในประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5-6 ต่อปี และมีมูลค่าการตลาดรวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท

ปัจจัยหนุนเสริมที่ทำให้ตลาดยาในไทยขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นของคนไทย โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยจากโรคเฉพาะทาง ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ขณะที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นไปสู่ระดับ 10.3 ล้านคนในปี 2562 ก็เป็นปัจจัยเสริมให้มีความต้องการใช้ยาเพิ่มขึ้นด้วย

กรณีดังกล่าวส่งผลให้รัฐมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ดังจะเห็นได้จากข้อมูลรายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.81 แสนล้านบาทในปี 2559 และจะเพิ่มเป็น 4.64 แสนล้านบาทในปี 2564 ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้สะท้อนผ่านความต้องการใช้ยาเฉพาะทางและบริการทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

แม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี จะถือเป็นค่าใช้จ่ายในสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ แต่ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาจำเป็น ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นในระบบสุขภาพไทย โดยเฉพาะการเข้าไม่ถึงยาในความเจ็บป่วยที่มีความรุนแรงและเฉพาะทางที่ยังเป็นปัญหาหลัก

ประเด็นที่น่าสนใจจากเหตุดังกล่าวในด้านหนึ่งอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยดำเนินไปในทิศทางที่สูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบายว่าด้วยการกำหนดราคายา การขาดระบบควบคุมราคายาที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีหน่วยงานที่กำกับดูแลการกำหนดราคายาให้เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งกรณีเช่นว่านี้ก่อให้เกิดปัญหาการเข้าถึงยา โดยเฉพาะยาที่มีราคาแพงและยาที่ผูกขาดตลาดโดยเจ้าของรายเดียวหรือน้อยรายไปโดยปริยาย

ข้อเท็จจริงแห่งความเป็นไปของยา ในด้านหนึ่งอยู่ที่การเป็นสินค้าที่มีลักษณะผูกขาดในตัวเอง ที่สืบเนื่องมาจากระบบสิทธิบัตร ขณะที่ผู้ป่วยหรือผู้บริโภคไม่สามารถเลือกใช้ได้ด้วยตนเอง ยังไม่นับรวมถึงประเด็นว่าด้วยคุณภาพสินค้า ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของยา นอกจากนี้ธุรกิจยายังเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีการผูกขาดในตลาดโลก และเป็นผู้กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยาอย่างไม่อาจเลี่ยง

ท่ามกลางความพยายามของกลไกรัฐที่วางเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจไทย ภายใต้แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 และการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการปรับเปลี่ยนระดับของเทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และเวชภัณฑ์กลายเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ด้วยทัศนะที่เชื่อว่ากรณีดังกล่าวจะช่วยให้สามารถลดปริมาณการนำเข้ายาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลถูกลง

แม้มาตรการจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI จะช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ผลิตยาที่ต้องใช้เงินลงทุนเพื่อปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐานการควบคุมการผลิต GMP (Good Manufacturing Practice) ตามแนวทาง PIC/S (Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) โดยผู้ผลิตที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2560-2561 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี ส่วนผู้ผลิตที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี โดยคาดว่าจะจูงใจให้ผู้ผลิตยารายใหม่เข้ามาลงทุนมากขึ้น

หากแต่ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่ม “การผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค” แม้จะมีผู้ประกอบการสัญชาติไทยจดทะเบียนอยู่มากถึงร้อยละ 66.5 โดยมีผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่น ร้อยละ 12 อินเดียร้อยละ 3.9 สวิตเซอร์แลนด์ ร้อยละ 3.3 และสัญชาติอื่นๆ อีกประมาณร้อยละ 14 โดยมีรายได้รวมของธุรกิจทั้งกลุ่มอยู่ในระดับ 6.8 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ในระดับ 6.7 พันล้านบาท กลับปรากฏว่าผู้ผลิตยาที่มีรายได้รวมสูงสุด 10 อันดับแรกล้วนเป็นบรรษัทผู้ประกอบการจากต่างประเทศ

ขณะที่ใน “หมวดการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์” ซึ่งมีรายได้รวมของทั้งหมวดธุรกิจอยู่ในระดับที่มากกว่า 4 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวมของทั้งหมวดธุรกิจอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนของผู้ประกอบการจากต่างประเทศมากถึงกว่าร้อยละ 53 และครอบครองส่วนแบ่งรายได้และผลกำไรจากการประกอบการมากกว่าร้อยละ 60

ความเป็นไปจากข้อมูลเปรียบเทียบระหว่าง “หมวดธุรกิจการผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค” และ “หมวดการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์” จะพบว่าธุรกิจการผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคนั้น มีรายได้รวมและกำไรสุทธิต่ำกว่ามาก ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นเพราะผู้ผลิตยาเอกชนในประเทศที่มีผู้ประกอบการไทยถือหุ้นส่วนใหญ่ ผลิตยาชื่อสามัญทั่วไปที่มีราคาไม่สูง ในขณะที่บรรษัทยาข้ามชาติซึ่งถือครองสิทธิบัตรยามีรายได้สูงกว่าอย่างไม่อาจเทียบ

ภาพสะท้อนของธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ที่มีรายได้สูงเป็นผลมาจากการที่บรรษัทผู้ประกอบการจากต่างประเทศเป็นตัวแทนนำเข้ายาต้นแบบ (Original drugs) มาจำหน่ายในราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นเหตุให้อุตสาหกรรมยาของไทยอยู่ในภาวะที่ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด

ความเสียเปรียบด้านการแข่งขันในตลาดโลกของผู้ผลิตยาไทย อยู่ที่ผู้ผลิตไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบตัวยาสำคัญจากต่างประเทศมาผสมและผลิตเป็นยาสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ โดยไทยนำเข้าวัตถุดิบยาสัดส่วนสูงประมาณร้อยละ 90 ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาสำเร็จรูปทั้งหมด โดยประเทศไทยมีการส่งออกยาประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณการผลิตยาทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 95 ที่ผลิตได้ มีไว้เพื่อจำหน่ายในประเทศ

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายยาอยู่ที่ร้อยละ 20 ดำเนินผ่านช่องทางของร้านขายยาทั่วไป ในขณะที่อีกร้อยละ 80 ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมดดำเนินผ่านช่องทางการจำหน่ายผ่านโรงพยาบาล โดยมีโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 75 ของธุรกรรมการจำหน่ายยานี้ ส่วนอีกร้อยละ 25 ดำเนินผ่านโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเอกชน

การขยายตัวของตลาดยาในระดับร้อยละ 5-6 ต่อปี ในด้านหนึ่งจึงประกอบส่วนอยู่ด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่ขยายตัวต่อเนื่องอย่างไม่อาจเลี่ยง โดยมีการคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในช่วงระหว่างปี 2561-2563 จะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.4 โดยค่ารักษาพยาบาลภาคเอกชนจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อปี ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลภาครัฐจะขยายตัวในระดับร้อยละ 6 ต่อปีเลยทีเดียว

ค่าใช้จ่ายด้านยาและการรักษาพยาบาลของประเทศไทยที่กำลังขยายตัวเติบโตสูงกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากจะสะท้อนข้อเท็จจริงของวลีว่าด้วย “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยมาเนิ่นนานแล้ว

กรณีดังกล่าวยังเป็นประหนึ่งการตอกย้ำความเป็นไปของธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ของไทย และการสาธารณสุข ซึ่งย่อมหมายถึงหลักประกันสุขภาพของสังคมไทยที่ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน แต่จะดำเนินไปด้วยความหวานหรือขมขื่น อย่างไร เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

ใส่ความเห็น