วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Cover Story > “ฮอร์โมน เดอะซีรีส์” ภาพสะท้อน สังคมไทยยุค 4G

“ฮอร์โมน เดอะซีรีส์” ภาพสะท้อน สังคมไทยยุค 4G

 

“แม่กำลังจะมีน้อง…” คุณแม่ Single Mom เอื้อนเอ่ยความในใจ

“แล้วเม่ท้องกับใคร… แม่ไม่ได้ป้องกันหรือ…แม่ไม่ได้มีแฟนนิ” เด็กวัยรุ่นเพศหญิงถามกลับด้วยความสงสัย

ข้อความที่ดูเหมือนจะกลับตาลปัตร สลับข้างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของบทละครที่ดำเนินไปด้วยบทสนทนาและประโยคแรงๆ โดนๆ และตรงไปตรงมาจาก “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่หนุนส่งให้ซีรีส์วัยรุ่นเรื่องนี้กลายเป็นกระแสยอดฮิตที่กำลังเป็น ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ ในขณะนี้

ปรากฏการณ์ที่สะท้อนผ่านออกมาเป็นบทละครนี้ นอกจากจะกำลังสื่อสารข้อความว่าด้วยความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา ความเป็นไปของผู้คนต่างวัย และวิถีชีวิตของวัยรุ่น ที่กำลังถูกทำให้เป็นประหนึ่งเรื่องราวที่หลบมุมและเข้าใจยาก ทั้งที่ความเป็นไปเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องราวปกติธรรมดาของผู้คนในห้วงอายุและช่วงวัยแล้ว

ในอีกมิติหนึ่ง ความเป็นไปและกระแสที่เกิดขึ้นจาก “ฮอร์โมน เดอะซีรีส์” ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ในโลกยุคดิจิตอลนี้ ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเสพรับ “คอนเทนต์” ต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง ในลักษณะที่อาจกล่าวได้ว่า ไร้ข้อจำกัดกันเลยทีเดียว
 
พัฒนาการและการมาถึงของเครื่องมือในยุคสมัยใหม่ได้ทลายกำแพงและข้อจำกัดด้านเวลาการออกอากาศในลักษณะดั้งเดิมลงอย่างสิ้นเชิง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ผลิตสื่อ เจ้าของผลิตภัณฑ์ และผู้บริโภคที่เสพงานได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้อย่างเต็มที่
 
ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ดำเนินไปควบคู่กับพัฒนาการของอุปกรณ์-เครื่องมือ และระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นมารองรับกับยุคสมัยแห่งดิจิตอลนี้ไม่ว่าจะเป็น 3G หรือ 4G ซึ่งเป็นประหนึ่งประตูที่เปิดกว้างให้ผู้คนผ่านเข้าออกได้อย่างสะดวกและเป็นปัจจัยให้เกิดการผลิตซ้ำที่ช่วยกระตุ้นให้ยอดผู้เข้าชม “ฮอร์โมน เดอะซีรีส์” มีสูงถึงในระดับเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 ล้านครั้งในแต่ละสัปดาห์
 
จำนวนยอดผู้เข้าชมคลิปรายการจำนวนมากขนาดดังกล่าวนี้ หากนำเข้ามาถอดรหัสในสมการรายได้ บางทีอาจจะพบเห็นตัวเลขที่วิ่งไปไกลกว่าค่าโฆษณาที่เกิดขึ้นในช่องทางของฟรีทีวี ที่เชื่อกันว่ามีเรตติ้งดีบางรายการก็เป็นได้ และย่อมไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลไปในอนาคตหรือเป็นไปไม่ได้
 
ประเด็นดังกล่าวนี้ ส่งผลสั่นสะเทือนต่อภูมิทัศน์ของวงการโทรทัศน์ไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านและอยู่บนทางแยกของการเลือกระหว่างการพัฒนาเป็นทีวีดาวเทียม เป็นดิจิตอลทีวี หรือแม้กระทั่งการใช้ช่องทาง อินเทอร์เน็ตทีวี ที่น่าสนใจอย่างยิ่งและกำลังเป็นสมรภูมิที่ทวีความเข้มข้นทุกขณะ
 
นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังกำลังทำให้ content industry ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวางเค้าโครงทางธุรกิจใหม่กันอย่างขนานใหญ่ เพราะลำพังการเป็นผู้ครอบครองสิทธิใน content ที่ปรากฏเป็นตัวอย่างในกรณีของการไปประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬาย่อมไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต หากแต่ยังต้องสามารถ generate content ให้ “อยู่และโดน” ด้วย
 
ความเป็นไปที่เกิดขึ้นจากมิติมุมมองของสังคมไทยในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปสู่ 3G- 4G ยังขยายบริบทไปสู่ข้อเท็จจริงในเชิงสังคมวิทยา และมิติในเชิงวัฒนธรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
 
“ฮอร์โมน เดอะซีรีส์” กำลังผลิตสร้าง sub-culture ของกลุ่มวัยรุ่นให้กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักสำหรับผู้คนในวงกว้าง ซึ่งไม่ใช่เพราะเนื้อหาโดนๆ แรงๆ เท่านั้น ที่ทำให้กลุ่มคนในวัยคุณพ่อคุณแม่ ต้องหันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะโดยทั่วไปฟรีทีวีก็มีละครที่มีเนื้อหาสาหัสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพียงแต่เป็นเรื่องราวที่ไม่ได้เฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น
 
หากแต่เป็นเพราะในหลายกรณีช่องห่างของวัยกำลังถูกทดสอบว่าจะร้าวแยกลึกลงไป หรือจะรักษาตัวคงสภาพในรูปแบบใดได้บ้าง
 
ประเด็นปัญหาที่ดูเหมือนจะทำให้คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ถูกร้องทักให้ต้องหันมาดูละครซีรีส์เรื่องนี้ร่วมกับกุลบุตรกุลธิดาอยู่ที่ว่า สื่อมีความสามารถและอิทธิพลทางความคิดต่อบุตรหลานมากกว่าผู้เป็นพ่อแม่ หรือผู้ปกครองไปโดยปริยาย
 
ทั้งที่เรื่องราวใน “ฮอร์โมน” ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ผู้ปกครองแต่ละคนไม่เคยผ่านประสบการณ์แต่อย่างใด
 
ความไม่สามารถในการสื่อสารหรือถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่หรือผู้ปกครองไปสู่บุตรหลานโดยตรง แต่ต้องมารอให้ ละครซีรีส์ “ฮอร์โมน” ทำหน้าที่เป็น edu-tainment อย่างที่หลายบ้านกำลังทำอยู่ คงเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจไม่น้อยสำหรับนักวิชาการบางกลุ่ม
 
แม้ว่าเนื้อหาสาระในละครเรื่องนี้ จะมีประเด็นในเชิงสังคมและตีแผ่แง่มุมชีวิตในช่วงวัยรุ่นเบียดแทรกอยู่ในแต่ละบทแต่ละตอนของซีรีส์ทั้งประเด็นว่าด้วยการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การใช้ยาเสพติด การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง หรือยกพวกตีกัน รวมถึงการกล่าวถึงประพฤติกรรมไม่เหมาะสมของผู้คนรอบข้างทั้งที่เป็นพ่อแม่หรือแม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นครูอาจารย์
 
ภาพลักษณ์ของ “ฮอร์โมน” อาจจะเป็นละครวัยรุ่นและมีเป้าหมายเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นชัดเจน หากแต่ในความเป็นจริง ซีรีส์เรื่องนี้กลับกำลังสะท้อนภาพกว้างของสังคมไทยที่หลงตัวเอง ขาดวุฒิภาวะ และสุ่มเสี่ยงได้อย่างตรงไปตรงมาและหนักแน่นที่สุดโดยที่ยังไม่มีใครออกมาวิพากษ์ในทางลบ
 
ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มคนที่มีทัศนะตรงข้ามและมีความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ “ล้าหลัง” ในมิติของเทคโนโลยี หรือมีข้อจำกัดในช่องทางที่จะรับสารจาก “ฮอร์โมน”นี้
 
ขณะเดียวกัน ภาพสะท้อนที่ถูกนำเสนอผ่านบทของตัวละครในซีรีส์ “ฮอร์โมน” แต่ละรายล้วนฉายภาพความไม่สมบูรณ์ที่ประกอบส่วนเป็นสังคมไทยได้อย่างแยบคายและเป็นจริงอย่างยากจะปฏิเสธ
 
ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับละคร “ฮอร์โมน” เรื่องนี้ กล่าวไว้อย่างน่าฟังเมื่อไม่นานมานี้ว่า อยากให้ เปิดใจในการดู เพราะเขาอยากจะสื่อสารปัญหา หากประเมินว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา แต่ไม่ประสงค์จะฟันธง หรือสรุปในว่า วิธีทางออกหรือการแก้ปัญหามันคืออะไร เพราะผมรู้สึกว่า ถ้าเราเข้าใจปัญหา แล้ว เราน่าจะมีวิธีการในการหาทางออกหรือการแก้ปัญหา ได้ด้วยวิธีการเราเอง
 
สอดรับกับที่ Anton Chekhov เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วว่า “บทบาทของนักเขียนและศิลปินไม่ได้อยู่ที่การแก้ปัญหา หากแต่ต้องนิยามปัญหาและบอกกล่าวต่อสังคม”
 
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า “ฮอร์โมน” ตั้งประเด็นคำถามให้สังคมไว้อย่างไร และใครจะเป็นผู้ให้คำตอบ

 

Related Stories

1. จาก Club Friday ถึงกระแส Hormones วิถีบริหาร “คลังคอนเทนต์” แบบแกรมมี่