วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > การเดินทางของไม้โกงกาง เรื่องเล่าจากคนเอาถ่าน “เขายี่สาร” (ตอนจบ)

การเดินทางของไม้โกงกาง เรื่องเล่าจากคนเอาถ่าน “เขายี่สาร” (ตอนจบ)

MGR Features

หลังจากทำความเข้าใจขั้นตอนการเผาถ่านในเบื้องต้นไปแล้ว ถึงเวลาที่ต้องลงเรือบุกป่าชายเลน เข้าไปดูขั้นตอนการตัดไม้โกงกาง

เราเปิดประสบการณ์ครั้งนี้ด้วยการลงเรืออีป๊าบจากท่าน้ำของโรงเผาถ่าน ไปยังป่าปลูกของกำนันปริญญา สองข้างคลองมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นเรียงรายทอดกิ่งระริมน้ำ ทั้งต้นลำพู โกงกาง แสม ต้นจาก ต้นตะบูน มีเสียงนก เสียงจั๊กจั่น ขับขานรับเราเป็นช่วงๆ กระทั่งถึงทางแยกเข้าไปในแพรกหนึ่ง คนขับเรือจึงดับเครื่องยนต์ แล้วใช้ไม้พายพายแทน

เกือบ 20 นาที เราเดินทางมาถึงป่าปลูก จุดที่คนงานกำลังลงมือตัดไม้ สุนัขมอมแมม 3 ตัวเห่าต้อนรับคนแปลกหน้า สร้างความกริ่งเกรงไม่น้อย จากเสียงเห่าที่บอกว่า “เอาจริง”

เสียงเลื่อยยนต์เงียบไปชั่วอึดใจก่อนเราจะจอดเรือเทียบท่า ที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยไม้โกงกาง “กำลังพักเที่ยง” เสียงคนงานบอกเล่า หลังเราแนะนำตัวและบอกจุดประสงค์ที่ดั้นด้นมา

เพิงพักแบบง่ายๆ ที่เพียงแค่กันแดด กันฝน ยามที่ต้องตัดไม้เท่านั้น ภายในมีมุ้ง เสื่อ หมอน และจานชามเพียงไม่กี่ใบ เนื่องจากที่พักแห่งนี้ไม่ได้ใช้อยู่แบบถาวร

หลังจากพักกินข้าวกินปลา ดื่มน้ำดับกระหาย พร้อมมวนยาสูบ คนงานชายหยิบเลื่อยยนต์ มุ่งหน้ากลับเข้าไปในป่าโกงกาง ตัดไม้อีกครั้ง ชายหนุ่มค่อยๆ เลื่อยเพื่อตัดรากโกงกางที่ยึดลำต้นออกอย่างชำนาญ ต้นโกงกางที่ไร้รากยึดเหนี่ยวแล้ว ค่อยๆ ล้มลงไปยังทิศทางเดิมทุกครั้ง

กิ่งก้านใบ รวมไปถึงรากโกงกางถูกลิดออกทับถมลงบนโคลนจนสามารถเดินได้ แม้จะทุลักทุเลอยู่บ้าง คนงานแบกไม้จากในดงออกมาบริเวณริมน้ำ หลังจากตัดไม้ได้จำนวนหนึ่ง เพื่อให้สะดวกต่อการตัดเป็นท่อนตามขนาดที่ต้องการ ขณะที่คนงานอีกสองคนกำลังนั่งทุบไม้โกงกางเพื่อให้เปลือกไม้ค่อยๆ ล่อนออก

เสียงทุบไม้ดังเป็นจังหวะสม่ำเสมอ คนงานหญิงบอกเล่าเกี่ยวกับรายได้ว่า “รายได้เหมาไป ทั้งตัด ทั้งทุบ ตกท่อนละ 3 บาท บางวันก็ได้ 800 ท่อน บางวันก็น้อยกว่า” ตัวเลขรายได้ต่อวันทำให้เราตาโต “แต่หาร 3 คนนะ แบ่งกันพี่น้อง 3 คนนี่” เธอว่าขณะชี้มือไปที่คนงานชายอีก 2 คน

นับว่าไม่น้อยเลยกับรายได้โดยเฉลี่ยต่อคนต่อวันที่ 800 บาท แม้ว่าหากมองผิวเผินงานจะหนักไปสักหน่อยสำหรับแรงงานผู้หญิง แต่เมื่อพิจารณาจากรายจ่ายที่มีเพียงค่าอาหาร 3 มื้อ ไม่น่าแปลกใจที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านต้องการเดินทางเข้ามาค้าแรงงานในไทยจำนวนมาก

หลังจากการบุกป่าโกงกาง ลุยน้ำคลอง เพื่อเข้าให้ถึงพื้นที่จริง เป้าหมายต่อไปคือขั้นตอนการนำถ่านออกจากเตาหลังจากปล่อยให้ถ่านเย็นตัวลงเกือบ 2 สัปดาห์

เราเดินทางกลับมายังโรงเผาถ่านของกำนันปริญญาอีกครั้ง เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ต้องนำถ่านออกจากเตา เสียงหัวเราะสรวลเสเฮฮาดึงดูดให้เราเร่งฝีเท้าเดินเข้าไปหาต้นเสียง หญิงสาวหลายคนแบกถ่านออกจากเตาด้วยท่าทีทะมัดทะแมง บ้างใส่รองเท้า บ้างเดินเท้าเปล่า ทุกคนสวมเสื้อแขนยาวที่บอกไม่ได้ว่าเดิมทีเสื้อตัวนั้นเคยเป็นสีอะไรมาก่อน เพราะฝุ่นผงจากถ่านเปรอะเปื้อนแทบทั้งตัว

“ไม่พักเที่ยงกันหรือคะ” ฉันเอ่ยถามเมื่อเห็นว่าเป็นเวลาเที่ยงตรง หลายคนส่งยิ้มพิมพ์ใจมาให้ก่อนตอบ เสมือนว่าคำถามของฉันช่างไร้เดียงสาเสียจริง “พักไปแล้วตอน 9 โมง เราเริ่มทำงานกันตั้งแต่ตี 3 ขนถ่านเสร็จไป 1 เตาแล้ว นี่เตาที่ 2”

นั่นหมายความว่า ถ่าน 1 เตา คนงานใช้เวลา 6 ชั่วโมงในการขนถ่านออกมา โดยน้ำหนักของไม้โกงกางที่บรรจุเข้าเตาก่อนเผานั้นหนักประมาณ 30 ตัน แต่เมื่อผ่านกรรมวิธีแปรรูปเป็นถ่านแล้วเหลือน้ำหนักเพียง 7 ตันเท่านั้น

คนงานหญิงทยอยขนถ่านที่ยังคงรูปร่างดีอยู่ไปด้านหนึ่งของโรงถ่าน ซึ่งมีแรงงานชายอาวุโสนำถ่านไม้บรรจุลงในกระสอบปุ๋ย เพื่อรอการตัดเป็นท่อนสั้นๆ อีกที ขณะที่เศษถ่านจะถูกขนมาอีกด้าน แม้ว่าจะเป็นถ่านที่ไม่เป็นชิ้นตรงตามคุณภาพที่ต้องการ แต่ก็ยังขายได้

ขณะที่เรากำลังนั่งมองคนงานขนถ่านอย่างสนอกสนใจ “ไม่น่าไปยอเลย เตาที่ 2 เสียซะเยอะ ไม่ค่อยดีเลย” หญิงสาวบ่นรำพัน ขณะที่มือกำลังกวาดกอบเศษถ่านที่แตกลงบุ้งกี๋ แน่นอนว่าถ้อยคำนั้นสร้างความฉงนให้เราไม่น้อย ฉันสอบถามเพื่อให้ใครสักคนช่วยไขความกระจ่าง

“เตาแรกถ่านสวย แทบไม่แตก คือแตกน้อย แต่นี่เตา 2 แตกเสียเยอะ เพราะไปยอไงว่า เตานี้ถ่านสวยดีจัง” สิ้นคำอธิบาย หลายคนเออออห่อหมก เห็นด้วยกับคำตอบนั้น เป็นการสนับสนุนว่าจริงอย่างไม่ต้องสงสัย

เราลองเดินเข้าไปในเตาเผาถ่านขณะที่คนงานพักดื่มน้ำ ทั้งด้วยความอยากรู้อยากเห็นเป็นทุนเดิม กอปรกับต้องการพิสูจน์ว่าอากาศภายในเตาที่แม้จะถูกทิ้งให้เย็นตัวแล้วเป็นอย่างไร ความร้อนที่ยังคงกรุ่นๆ แม้จะเจือจางไปตามกาล ทว่ายังรู้สึกได้ อีกทั้งการหายใจเข้าไปทำได้ไม่เต็มปอดนักแม้จะใส่หน้ากากอนามัยก็ตาม

คนงานส่วนใหญ่อาศัยความเคยชินเพราะส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำที่ถาวร เป็นเพียงแม่บ้านที่ออกมาหารายได้พิเศษเท่านั้น เพราะคนงานที่ขนถ่านออกจากเตาเป็นผู้หญิงทั้งหมด แม้จะแตกต่างกันที่ช่วงวัย แต่ทุกคนล้วนแข็งแรง ที่สำคัญคือ ทุกคนดูมีความสุขกับการทำงาน เพราะตลอดเวลาที่ต้องแบกขนถ่านออกจากเตา ยังมีคำพูดที่เรียกรอยยิ้ม หรือมุกตลกที่ชวนหัว นี่เองที่ช่วยให้การทำงานรื่นเริงแม้จะผ่านไปนานหลายชั่วโมง

แม้ปัจจุบัน “ถ่าน” จะถูกก๊าซหุงต้มเข้ามาแทนที่ แต่ด้วยความที่ถ่านถูกให้ค่าว่าเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ถ่านไม้โกงกางยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด ด้วยคุณลักษณะของถ่านไม้โกงกางที่ให้ความร้อนสูงและนาน ควันน้อย ไม่แตกง่าย เมื่อมูลค่าตลาดธุรกิจปิ้งย่างมีมูลค่าถึง 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดพรีเมียม 2,000 ล้านบาท และตลาดแมส 5,000 ล้านบาท

ถ่านไม้โกงกางที่ให้ความร้อนในการประกอบอาหารเพียงเวลาไม่นาน แต่ขั้นตอนกว่าจะมาเป็นถ่านไม้รอบหนึ่งนานกว่า 12 ปี นับตั้งแต่สารตั้งต้นของต้นโกงกาง ผ่านการบ่มเพาะฟูมฟักจากธรรมชาติ กระทั่งสู่ขั้นตอนของภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งหมายถึงอาชีพที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

แม้ทีมงานจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการลงพื้นที่ แต่ทุกครั้งสิ่งที่ประสบพบเจอล้วนแล้วแต่ต้องยอมรับโดยดุษณี ว่า “คนเอาถ่าน” อาชีพนี้ไม่ง่ายเลย

ใส่ความเห็น