วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > แสตมป์ในยุคดิจิตอล ความโรแมนติกที่เลือนราง

แสตมป์ในยุคดิจิตอล ความโรแมนติกที่เลือนราง

 
 
“การไปรษณีย์ของเรา ซึ่งได้ใช้อยู่เฉพาะแต่ที่กรุงเทพฯ นั้น บัดนี้ได้ขยายออกไปตามหัวเมืองทั้งปวงตลอดลำน้ำเจ้าพระยาฝ่ายเหนือจนถึงเมืองเชียงใหม่ บัดนี้ เราได้เตรียมการที่จะเข้าสัญญา ชื่อว่า สากลไปรษณีย์ ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าโลกทั้งปวงจะมีประโยชน์ทั่วกัน แลเมืองเรานี้จะได้ประโยชน์วิเศษด้วย” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และกงสุลต่างประเทศในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2426 ถูกจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ “แสตมป์นิทรรศน์ 100 ปี สถานีรถไฟกรุงเทพฯ” ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสานเสนใน 
 
ในยุคสมัยที่การติดต่อสื่อสารกันทางจดหมายยังคงมีความสำคัญและเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยในการเชื่อมโยงผู้คนที่อยู่คนละซีกโลกหรือคนละจังหวัด ให้สามารถส่งข่าวคราวถึงกันได้ 
 
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ในห้วงเวลานั้นการรอคอยการมาถึงของบุรุษไปรษณีย์เพื่อนำส่งจดหมาย จึงเป็นช่วงเวลาที่มีค่า เมื่อเนื้อความในจดหมายอัดแน่นไปด้วยข้อความสำคัญที่อาจจะมาจากการเขียนด้วยความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งการแสดงความห่วงใย ความคำนึงถึง หรือการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของแต่ละฝ่าย เมื่อไม่ได้พบปะกันเป็นเวลานาน 
 
นอกเหนือจากจดหมายที่เป็นสื่อกลางในการส่งข่าวระหว่างผู้รับและผู้ส่งแล้ว ไปรษณียบัตรเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่ชื่นชอบการเขียน ซึ่งกระดาษเปลือยเปล่าที่ผู้ส่งมักเขียนถ่ายทอดความรู้สึกหรือความประทับใจจากสถานที่ท่องเที่ยวและส่งต่อไปยังผู้รับหรือแม้กระทั่งตัวเอง 
 
นอกจากเนื้อความในจดหมายที่เฝ้ารออ่านอย่างใจจดใจจ่อ แสตมป์เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่หลายคนให้ความสนใจ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2423-2426 ที่มีการทดลองและเริ่มต้นกิจการไปรษณีย์ครั้งแรกในสยาม โดยแสตมป์ชุดแรกของไทยถูกจัดพิมพ์ขึ้นในประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2426 ชื่อชุด “โสฬศ” โดยเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 6 ราคา คือ 1 โสฬส 1 อัฐ 1 เสี้ยว 1 ซีก 1 เฟื้อง และ 1 สลึง ทั้งนี้ในช่วงแรกที่เริ่มดำเนินกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทยนั้น ยังนิยมใช้ภาพพระมหากษัตริย์เป็นรูปในแสตมป์ กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงเริ่มมีการนำภาพอื่นมาใช้พิมพ์เผยแพร่ในแสตมป์มากขึ้น 
 
แสตมป์แผ่นเล็กๆ ที่นอกจากจะแสดงราคาที่สามารถทดแทนค่าธรรมเนียมในการส่งจดหมายได้แล้ว บนพื้นที่เล็กๆ ประมาณหนึ่งตารางนิ้ว ยังถูกใช้เป็นเสมือนช่องทางของไปรษณีย์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นจดหมายเหตุเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญๆ วิวัฒนาการของแสตมป์ส่งผลให้หลายคนให้ความสนใจและเริ่มหันมาเก็บสะสมแสตมป์มากขึ้น นอกเหนือไปจากความสวยงามที่มากไปด้วยความหมายและคุณค่าที่ถูกพิมพ์อยู่ในแสตมป์แล้ว ตราประทับที่อยู่บนตราไปรษณียากรแต่ละดวงก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางได้เป็นอย่างดี
 
จากความรู้สึกที่ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นกระดาษผ่านน้ำหมึกปากกา ตัวหนังสือจากลายมือที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคลที่สามารถส่งต่ออารมณ์ในขณะนั้นของผู้ส่งได้ และจะกลายเป็นความทรงจำที่สามารถรื้อค้นมาดูเพื่อทบทวนเรื่องราว กลายเป็นหน้ากระดาษสีขาวที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่มาพร้อมตัวอักษรที่เรียงร้อยกันอย่างเป็นระเบียบแต่ขาดเสน่ห์ แม้ว่าอรรถรสของเรื่องราวในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จะยังสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น 
 
การส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตรทางไปรษณีย์ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อตัวช่วยหรือช่องทางที่จะทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายขึ้นนั้นมีมากขึ้น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้การส่งจดหมายรูปแบบเดิมค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา 
 
ไม่ได้มีเพียงแค่จดหมายหรือไปรษณียบัตรเท่านั้นที่ถูกลดทอนความสำคัญ แสตมป์ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทั้งเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในภาพ หรือตราประทับจากต้นทาง แต่ยังส่งผลถึงจำนวนนักสะสมแสตมป์ที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าหมายความถึงรายได้ของกิจการไปรษณีย์ที่ในช่วงเวลานั้นจำต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ และมองหากลยุทธ์อื่นๆ เพื่อความอยู่รอดทั้งระบบ
 
ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงธุรกิจไปรษณีย์ทั่วโลกต้องปรับตัว ซึ่งสำหรับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หันมาใช้กลยุทธ์ธุรกิจการบริการโลจิสติกส์เต็มรูปแบบ ซึ่งสอดรับกับกระแสการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ช เมื่อบรรดาเจ้าของกิจการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ทั้งการท่องโลกออนไลน์เพื่อมองหาสินค้า หรือบริการ 
 
ซึ่งการปรับตัวอย่างต่อเนื่องของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ส่งผลให้ตัวเลขผลประกอบการในปี 2558 ช่วงเดือนมกราคม ถึงตุลาคม บริษัทไปรษณีย์ไทย มีรายได้ 18,701 ล้านบาท กำไร 2,253 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งมีรายได้ 8,909 ล้านบาท หรือ 48 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวม ขณะที่กลุ่มธุรกิจสื่อสาร เช่น การบริการจดหมาย ไปรษณียบัตร สิ่งตีพิมพ์ในประเทศ มีรายได้ 8,014 ล้านบาท หรือ 43 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม บริษัท ไปรษณีย์ไทยยังมีการตั้งเป้ารายได้ในปี 2559 ไว้ที่ 24,000 ล้านบาท เมื่อยังมีปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเมืองไทยยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
 
การเดินทางสู่ความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการสื่อสารทั้งในไทยและทั่วโลกที่ยังคงดำเนินไปอย่างก้าวกระโดดนั้น ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบตลอดเวลา ส่งผลต่อการเลือนหายไปของวิถีเก่าทั้งการเขียนจดหมาย การส่งไปรษณียบัตร หรือการสะสมแสตมป์ มาถึงเร็วจนแทบจะจำความรู้สึกของการรอคอยการมาถึงของบุรุษไปรษณีย์ หรืออารมณ์ความโรแมนติกของการเขียนจดหมายแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป