วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ความหวัง ความกังวล เศรษฐกิจฟื้นตัว ทางเลือกที่รัฐต้องเสี่ยง?

ความหวัง ความกังวล เศรษฐกิจฟื้นตัว ทางเลือกที่รัฐต้องเสี่ยง?

ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศไทย ณ ปัจจุบันขณะคงไม่ต่างอะไรกับแผลกดทับที่หลายคนคงทำได้แต่ภาวนาว่าขอให้สถานการณ์เลวร้ายที่รายล้อมอยู่ในขณะนี้คลี่คลายลง

เศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านมานานแรมปี อาทิ ภาวะความถดถอยของการค้าโลก ปัญหาความไม่มั่นคงด้านการเมืองภายในประเทศ และภาวะโรคระบาดที่ดูจะกินเวลามายาวนานถึง 2 ปี ซึ่งปัจจัยหลังน่าจะยังส่งผลต่อเนื่องนานอีกหลายปีทีเดียว

แม้ว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อของไทยจะยังไม่ดีขึ้นมากนัก อาจเรียกได้ว่าเป็นคนป่วยที่ยังอยู่ในอาการทรงๆ เสียมากกว่า กระนั้น ผู้บริหารของไทยคงพิจารณาจากเหตุผลหลายประการด้วยกัน และเห็นชอบกำหนดเวลาเปิดประเทศ ซึ่งธงแห่งความหวังคือ เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยตัวเองในระยะเวลาที่เหลือของปี

แม้จะเป็นความเสี่ยงที่หลายคนยังไม่อาจยอมรับได้ ทว่า เราอาจจำเป็นที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสที่ยังคงแผงฤทธิ์ต่อไป เฉกเช่นเชื้อโรคระบาดชนิดอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

ไม่ว่าจะด้วยแรงกดดันจากภาคเอกชนที่มีต่อภาครัฐ หรือเสียงเรียกร้องจากประชาชนผู้ทำมาหากินที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปพร้อมๆ กับการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะปะทุขึ้นอีกในอนาคต

โดยมาตรการล่าสุดที่น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและอาจเพิ่มสัดส่วนจีดีพีไทยให้ขยายตัวมากขึ้น นั่นคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัดส่วนเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศผ่อนเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) อีกครั้ง หลังจากที่ได้ผ่อนคลายเกณฑ์บางส่วนไปในช่วงก่อนหน้า

รายละเอียดของการผ่อนคลายมาตรการในครั้งนี้คือ 1. ปรับเพดานสัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันของสัญญาซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่สองเป็นต้นไปที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท จากเดิม 70-90% เป็น 100% ขณะที่ในสัญญาซื้อหลังแรกยังคงเดิมอยู่ที่ 100% พร้อมให้เงินกู้เพิ่มอีก 10% เพื่อใช้ในการซื้อเฟอร์นิเจอร์ (รวม 110% จากมูลค่าหลักประกัน) และ 2. ปรับสัดส่วนเพดานเงินกู้ของสัญญาซื้อที่อยู่อาศัยที่ราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทเป็นต้นไปจากเดิม 70-90% เพิ่มเป็น 100% ตั้งแต่สัญญาหลังแรกเป็นต้นไป โดยเริ่มสำหรับสัญญาเงินกู้ตั้งแต่ 20 ต.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2565

หากย้อนมองกลับไปตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด จะพบว่าตลาดที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ดังจะเห็นได้จากกิจกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีจำนวน 1.54 แสนหน่วย หดตัว 33.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลหดตัว 16.8% ส่วนพื้นที่จังหวัดอื่นๆ หดตัว 51.4% ซึ่งมีกว่า 39 จังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยหดตัวมากกว่า 90% และมีประมาณ 6 จังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนต่ำกว่า 10 หน่วย นอกจากนี้ จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมยังทรงตัวระดับสูง ส่งผลทำให้การลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ชะลอลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 18 ปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่า การผ่อนปรนมาตรการ LTV ในช่วงนี้จะสร้างให้เกิดความเสี่ยงภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ หรือไม่ เพราะเหตุผลที่แบงก์ชาติประกาศใช้มาตรการนี้ก็มาจากสาเหตุของการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในระดับ 100 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น

ทว่า ประเด็นเรื่องหนี้เสียคงไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป เมื่อปัจจุบันสถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่รัดกุมมากขึ้น ซึ่งจะคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ในระยะยาวเป็นหลัก

นอกจากนี้ ภาพรวมของหนี้ครัวเรือนไทยที่ปัจจุบันแม้จะอยู่ในอัตราที่สูง แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นหนี้จากบัตรเครดิต และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก ในขณะที่หนี้จากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่แผนการเปิดประเทศกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ฟากฝั่งรัฐบาลพยายามจะงัดนโยบายที่เก็บไว้ในลิ้นชักและทยอยหยิบขึ้นมาใช้งานอย่างต่อเนื่องตามช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่แน่นอนว่าทุกอย่างย่อมต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยก่อนที่จะเกิดวิกฤตโรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจชะลอที่มีอยู่เป็นทุนเดิม แม้รัฐจะมีมาตรการหลายด้านออกมากระตุ้น ทว่า ไม่อาจสัมฤทธิ์ผลทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

สิ่งที่กำลังเข้ามารุมเร้าเศรษฐกิจไทยอย่างหนักในปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ นั่นคือปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นแรง นักเศรษฐศาสตร์ประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในเวลานี้นั้น เป็นหนึ่งความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ที่จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต การลงทุน การบริการ และอาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มต่อเนื่อง นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมาเบรกการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ส่วนสาเหตุที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมาจากอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งการทยอยเปิดประเทศเป็นผลให้อุปสงค์น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นจากการที่ซาอุดีอาระเบียได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องจากสหรัฐฯ ที่ต้องการให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีกเพื่อสกัดราคาพลังงานที่พุ่งขึ้น

ราคาน้ำมันในตลาดโลกแม้จะยังไม่ส่งผลโดยตรงต่อประเทศไทยในเวลานี้ หากแต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะสร้างผลกระทบในเวลา 5 ไตรมาสนับจากนี้ ทว่า ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำลังเป็นที่จับตามอง เมื่อราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบันพุ่งสูงขึ้นกว่า 29 บาทต่อลิตร โดยราคาน้ำมันในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา โดยโฆษกกระทรวงพลังงานได้ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุมาจากกำลังการผลิตน้ำมันในตลาดโลกลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

หลายฝ่ายพยายามกดดันรัฐบาลให้ลดอัตราการเก็บภาษีสรรพสามิตลงเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการภาคขนส่ง ซึ่งแน่นอนว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนี้ย่อมกระทบต่อประชาชนทั่วไปด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมองว่า หากรัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องคงไม่ต่างอะไรกับการเพิ่มภาระให้ประชาชน ซึ่งยังอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากไวรัสโควิด และอุทกภัยที่ต้องเผชิญ

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันคงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วน ซึ่งอาจจะกินเวลาพอสมควร อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจะสร้างความกังวลให้ไม่น้อยนั่นคือ การเปิดประเทศ ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังมองว่า การเปิดประเทศให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัวแม้จะทำตามเงื่อนไขก่อนเดินทางมาถึง แต่อาจมีความเป็นไปได้ว่า จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีกระลอก ที่อาจทำให้ไทยต้องประกาศปิดประเทศหรือล็อกดาวน์อีกครั้ง หากไม่สามารถคุมการระบาดได้

แต่เมื่อพิจารณาแผนการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการเปิดประเทศทั้ง 5 ด้าน 1. เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคตั้งแต่ขั้นตอนลงทะเบียนก่อนเดินทาง การตรวจสอบที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และการเดินทางจากท่าอากาศยานจนถึงโรงแรมในลักษณะปิด และการตรวจหาการติดเชื้อในประเทศ สนับสนุนวัคซีนให้จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เพื่อฉีดให้ประชาชนให้ครอบคลุมเพียงพอ เป็นการควบคุมการระบาดและสร้างความมั่นใจให้ทุกภาคส่วน

2. ตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจหาเชื้อโควิดในผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และการตรวจหาโควิดกลายพันธุ์ 3. มาตรการ Covid Free Setting ในสถานประกอบการพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตาม Thai Stop Covid Plus มีใบรับรองและ QR Code และมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจประเมินทุก 2 สัปดาห์

4. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้สถานพยาบาลประเมินตนเอง พร้อมเข้าสู่การแพทย์วิถีใหม่ ป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล 5. เวชภัณฑ์และการส่งกำลังบำรุง ขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์ 26.2 ล้านเม็ด ยาเรมเดซิเวียร์ 74,284 ขวด และเวชภัณฑ์ต่างๆ ภาพรวมคงคลังประมาณ 3.6 เดือนและสามารถจัดหายาเวชภัณฑ์เพิ่มเติมต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยช่วงที่เหลือของปี ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เมื่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั้งในไทยและประเทศต้นทางยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดว่าจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้เช่นเดิมหรือไม่

หลังวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 คำตอบของทุกสถานการณ์จะค่อยๆ ปรากฏขึ้นว่านโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นการเสี่ยงที่รับได้หรือไม่

ใส่ความเห็น