วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
Home > Cover Story > สังคมมายาคติ การต่อสู้ระหว่างข้อเท็จจริงกับภาพลักษณ์

สังคมมายาคติ การต่อสู้ระหว่างข้อเท็จจริงกับภาพลักษณ์

การทยอยปิดตัวลงของบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือกระดาษ หลังจากไม่อาจต้านทานกระแสคลื่นของสังคมออนไลน์ได้อีกต่อไป แม้จะเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับทุกเมื่อเชื่อวันว่า โลกออนไลน์ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

กระนั้นภายใต้การสูญสลายของสื่อสิ่งพิมพ์ในสังคมไทย มีคำถามจากผู้ที่อยู่ในแวดวงของสิ่งพิมพ์จุดประเด็นและชวนให้ขบคิดอยู่ไม่น้อยว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ หากภาครัฐจะเข้ามาให้ความสำคัญต่อวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในมิติที่ว่า “สื่อสิ่งพิมพ์ หรือหนังสือกระดาษ คือมรดกทางภูมิปัญญา เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้ข้อมูลเรื่องราวเท็จจริง และเป็น Hard Copy ที่มีคุณค่าทั้งในปัจจุบันและในอนาคต” สถานการณ์และอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์อาจจะไม่ซบเซาหรือจบลงเช่นที่เป็นอยู่

ท่ามกลางกระแสข่าวการปิดตัวและการล้มหายตายจากของนิตยสาร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความคิดต่อกรณีดังกล่าวว่า “ขอให้ทุกคนช่วยกันดูรายการของสถานีโทรทัศน์และช่วยซื้อหนังสือพิมพ์ รวมทั้งข่าวในโซเชียลมีเดียด้วย เพราะไม่เช่นนั้นสื่อก็ไม่รู้จะไปขายของให้ใคร วันนี้หนังสือก็ขาดทุนไปหลายฉบับ ซึ่งไม่ใช่เพราะฝีมือรัฐบาลนี้ทำ แต่เป็นเพราะโลกมันเปลี่ยนแปลง เราจึงจำเป็นต้องเพิ่มเนื้อหาสาระ มีทั้งความรู้ความบันเทิง การเรียนรู้ ถ้าสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้คนก็จะอ่านหนังสือมากขึ้น ทุกอย่างจะดีขึ้น ไม่ใช่ว่าหนังสือก็ไม่ค่อยอ่านแต่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เกิดประโยชน์ วิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียวไม่มีสาระ รังแต่จะเกิดความขัดแย้ง”

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีต่อกรณีดังกล่าวแม้จะมีประเด็นที่น่าสนใจในอีกแง่มุมหนึ่ง กระนั้นในแง่มุมที่ต่างกันของบรรดาผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์ บรรณาธิการ คงไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาโอบอุ้มหรือต้องการการเยียวยาจากภาครัฐ หากแต่ประสงค์ที่จะเห็นภาครัฐมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือกระดาษ

แน่นอนว่านัยของประเด็นที่ถูกจุดขึ้นจากเหล่าบรรณาธิการ หาใช่เป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งเท่านั้น หากแต่ในห้วงยามนี้ประเด็นดังกล่าวถูกส่งไปยังรัฐบาลที่กำลังทำหน้าที่ดูแลบริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หมุดหมายสำคัญของแต่ละรัฐบาลภายหลังการเข้ามาบริหารงานนั้น คือ การพัฒนาของประเทศในหลายด้าน หลากมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะนั่นคือตัวแปรสำคัญต่อฐานะในตลาดโลก และเป็นการบอกว่าประชากรในประเทศกินดีอยู่ดี หลุดพ้นจากกับดักความยากจน

หากแต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยเกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือการสร้างและสนับสนุนให้ประชาชนเกิดองค์ความรู้อย่างแท้จริง เข้าใจสังคม แน่นอนว่าความรู้ต้องไม่จำกัดแต่เพียงการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น เพราะการสร้างความรู้ เพิ่มความฉลาด สามารถขยายผลจากตัวบุคคลมายังประเทศชาติได้ และเหนืออื่นใด แม้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะย่อโลกให้เล็กลง แต่การก้มหน้ามองเพียงแค่จอสี่เหลี่ยม และใช้เพียงปลายนิ้วเลื่อนฟีดขึ้นลงคงไม่สามารถพัฒนาศักยภาพในสมองได้มากนัก

ขณะที่ประเทศฝรั่งเศสมีการออกกฎหมายบางตัวที่เป็นการส่งเสริมให้ร้านหนังสือทั่วไปตามท้องถนนยังสามารถต่อสู้ท่ามกลางการเติบโตของร้านค้าออนไลน์ได้ เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสห้ามบริการออนไลน์อย่าง Amazon สามารถขายหนังสือลดราคาโดยไม่คิดค่าขนส่ง และกฎหมายนี้ยังบังคับไม่ให้ Amazon และร้านหนังสือออนไลน์อื่นๆ ตัดราคาหนังสือร้านหนังสือทั่วไป ข้อกำหนดดังกล่าวทำให้ร้านหนังสือทั่วไปสามารถอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันทางตลาดออนไลน์ที่สูงขึ้น

ในยุคที่โลกดิจิทัลมีความสำคัญในชีวิตประจำวัน และอุปกรณ์สื่อสารเสมือนอวัยวะชิ้นใหม่ แน่นอนว่าคงไม่มีใครปฏิเสธว่าสื่อออนไลน์ช่วยให้การรับข้อมูลข่าวสาร สาระบันเทิงได้ง่ายมากขึ้น

แต่ตราบใดที่เหรียญมีสองด้านแล้ว โลกดิจิทัลก็คงไม่แตกต่างกันนัก และจากความคิดที่ว่าใครที่มีบัญชีในแอปพลิเคชันก็สามารถเป็นสื่อได้ สามารถโพสต์เรื่องราวที่ประสบพบเจอลงบนแอปพลิเคชันได้ และสำหรับบางคนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจจะไม่ได้กระทำ เพราะต้องการความรวดเร็ว ต้องการเป็นคนแรกที่โพสต์ ในบางครั้งเรื่องราวดังกล่าวที่เผยแพร่ไปอาจจะเป็นเรื่องจริงเพียงครึ่งเดียว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่านั่นอาจเป็นสาเหตุให้เกิด CyberBullying

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมานำเสนอผ่านภาพยนตร์โฆษณาของ CP All ชุด “เจ๊ดา ตลาดแตก” ที่สะท้อนภาพผู้คนที่นำเสนอเรื่องราว คลิปผ่านโลกออนไลน์ ปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภาพมายาที่ปรากฏกลายเป็นกระแสวิจารณ์หลังจากถูกส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อผู้ที่ปรากฏอยู่ในคลิปหรือภาพนั้นๆ

หลายคนอาจจะหลงเข้าใจไปว่าการมีชื่อบัญชีในแอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดียนั่นคือพื้นที่ส่วนตัว โดยลืมข้อเท็จจริงที่ว่า “บนโลกออนไลน์ ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว” และนั่นอาจทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคนขาดการตระหนักถึงความถูกต้องที่ควรจะมีก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์

ความแยบคายที่บริษัทโฆษณานำเสนอในภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ ฉายภาพความเป็นจริงของสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ด้วยคือความจริงที่ว่า การรับรู้ข่าวสารของคนส่วนใหญ่จากโลกออนไลน์ และการตัดสินเรื่องราวที่ปรากฏจากสิ่งใด จากทัศนคติของพื้นฐานแบล็กกราวน์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน สื่อออนไลน์ เพจดัง

นี่คือความแตกต่างระหว่างโลกออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือกระดาษ สิ่งที่ปรากฏอยู่บนโลกโซเชียล สังคมออนไลน์ เนื้อหา ภาพ คลิปวิดิโอบางส่วนไม่ได้ถูกคัดกรองข้อเท็จจริง หรือตรวจสอบความถูกต้องก่อนการเผยแพร่ ในขณะที่เนื้อหาที่จะถูกตีพิมพ์ลงกระดาษจะต้องถูกตรวจทานตัวสะกด คำถูกผิด และเหนืออื่นใดคือ ความจริง

ใส่ความเห็น