วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > “เมเจอร์” ทศวรรษที่ 3 ปรับสูตรสยายปีก

“เมเจอร์” ทศวรรษที่ 3 ปรับสูตรสยายปีก

 
“วิชา พูลวรลักษณ์” ทุ่มทุนสร้างอาณาจักรธุรกิจเอ็นเตอร์เมนต์ที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ แต่ประสบการณ์และบทเรียนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ปรับเปลี่ยนบิสสิเนสโมเดลจาก “Total Entertainment Lifestyle Company” สู่ความเป็นเมืองหนังและศูนย์รวมความบันเทิงระดับโลก ที่มีเป้าหมายใหญ่ชัดเจนมากขึ้น ภายใต้ 2 กลยุทธ์หลัก 
 
ด้านหนึ่ง ปูพรมสาขาโรงภาพยนตร์เพื่อเป็นสะพานต่อยอดธุรกิจภาพยนตร์ อีกด้านหนึ่ง ปลุกปั้นธุรกิจภาพยนตร์ลงสาขาที่จะมีมากถึง 1,000 โรง ทั้งในและต่างประเทศ  
 
ความสำเร็จของวิชา  คือ “โรงหนังโต หนังโต รายได้โตดับเบิ้ลอีกหลายเท่า”
 
ที่สำคัญ เป้าหมายการก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 ไม่ใช่แค่ตลาดในประเทศไทย แต่ขยายสู่สมรภูมิต่างประเทศ ทั้งตลาดอาเซียนและเอเชีย หลังชิมลางครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน โดยร่วมถือหุ้นในบริษัท พีวีอาร์ (PVR) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอินเดีย ตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์และโบว์ลิ่ง แต่ดีลครั้งนั้นวิชาไม่ได้เข้าบริหารโดยตรง
 
จนล่าสุด ในปี 2557 บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) จับมือกับบริษัท แพลตินั่ม ซีนีเพล็กซ์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ในกัมพูชาและผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในกลุ่มอาเซียน จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์เมเจอร์  ซีนีเพล็กซ์ ในกัมพูชา โดยเมเจอร์ฯ เป็นผู้ถือหุ้นหลัก 70% และพันธมิตร 30% ประเดิมเปิดเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในโครงการอิออนมอลล์ของอิออนกรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น ใจกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นโรงหนังสาขาต่างประเทศสาขาแรกของเมเจอร์ และตั้งเรือธงต้องการเป็นผู้นำธุรกิจโรงหนังในต่างประเทศ 
 
เฟสแรกพุ่งเป้าเจาะกลุ่ม CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ก่อนขยายแนวรบสู่เอเชีย โดยเฉพาะตลาดยักษ์ใหญ่อย่าง “จีน” 
 
ตามแผนอีก 5 ปีข้างหน้า  ภายในปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เตรียมปูพรมผุดโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นอีก 500 โรง แบ่งเป็นสาขาในประเทศ 400 โรง และสาขากลุ่มประเทศกัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม อีก 100 โรง ทำให้ ณ สิ้นปี 2020 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จะมีโรงภาพยนตร์ครบ 1,000 โรง
         
ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีสาขาทั้งสิ้น 75 สาขา 513 โรง อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 29 สาขา 281 โรง ต่างจังหวัด 45 สาขา 255 โรง และต่างประเทศ 1 สาขา 7 โรง และปลายปีนี้จะเปิดเพิ่มขึ้นอีก 2 สาขาที่ จ.พังงา และมุกดาหาร ทำให้ ณ สิ้นปี 2557 จะมีสาขารวม 77 สาขา 520 โรง และในปี 2558 มีเป้าหมายคงความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์อันดับหนึ่งของเมืองไทย โดยเตรียมงบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท เร่งผุดโรงภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ จะเป็นปีที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ขยายสาขาและโรงมากที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการมา
 
ทั้งนี้ การเริ่มจุดยุทธศาสตร์แรกในอาเซียนถือเป็นสมรภูมิใหม่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจคอมมูนิตี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น มาเลเซียมีอัตราการขยายโรงภาพยนตร์มากกว่า 100 โรงต่อปี ซึ่งวิชาเรียกว่า อยู่ในจุด “บูมสุดสุด” ประกอบกับอุตสาหกรรมหนังต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลลีวูดให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียมากขึ้น มีการจัดการงานเปิดตัวหนังใหม่และเข้ามาถ่ายทำในประเทศแถบเอเชียอย่างต่อเนื่อง
 
ขณะเดียวกันเลือกปักหมุดแรกในกรุงพนมเปญ จุดดาวน์ทาวน์ที่มีประชากรมากกว่า 2 ล้านคน ในเมืองเต็มไปด้วยโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับหรู ทั้งที่พักอาศัย โรงแรม โรงละคร มหาวิทยาลัย บริษัทต่างชาติ และมีโครงการศูนย์การค้าจะเปิดใหม่ในเร็วๆ นี้อย่างน้อยอีก 2-3 แห่ง ประชาชนมีกำลังซื้อสูงขึ้น เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความต้องการและไลฟ์สไตล์หลากหลาย รวมถึงชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยจำนวนมากขึ้น ทั้งชาวญี่ปุ่น  จีน และเกาหลี
 
ที่สำคัญธุรกิจโรงหนังในกรุงพนมเปญยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เนื่องจากเดิมมีโรงหนังเพียง 18 โรงเท่านั้น และเป็นโรงหนังที่ได้มาตรฐาน 10-11 โรง  
 
ขณะที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขาอิออนมอลล์ ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีมาตรฐานระดับโลก ทั้งตัวโรง เทคโนโลยีการฉายและบริการ โดยใช้เงินลงทุนรวม 150 ล้านบาท ประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ 7 โรง จำนวน 1,560 ที่นั่ง และโบว์ลิ่งแบรนด์ “บลูโอริธึม แอนด์ โบว์ล” 13 เลน พื้นที่รวม 6,000 ตารางเมตร ซึ่งตามแผน  5 ปี เมเจอร์ฯ ต้องการขยายโรงหนังในจังหวัดอื่นๆ ของกัมพูชาเพิ่มขึ้นอีก  40-50 โรง และในระยะยาวจะขยายให้ครบ 100 โรง ยึดส่วนแบ่งมากกว่า 50% ของมูลค่าตลาดหนังของกัมพูชา
 
ล่าสุด วิชา พูลวรลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ออกมาย้ำแผนการลงทุนในการแถลงแผนการดำเนินธุรกิจก้าวสู่ปีที่ 21 ว่า ปี 2558 จะลงทุนสาขาในต่างประเทศเพิ่มอีก 1 สาขา ในกรุงพนมเปญ และ ลาว 1 สาขา เฉลี่ยสาขาละ 5-6 โรง ส่วนประเทศพม่าและเวียดนามอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลต่างๆ 
         
แน่นอนว่า การขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV หาใช่แค่การขยายสาขาเพื่อกินส่วนแบ่งตลาดโรงภาพยนตร์ แต่ยังต้องการรุกธุรกิจหนังในเครือเพื่อสยายปีกอาณาจักรธุรกิจเมืองหนังอย่างครบวงจรตามบิสสิเนสโมเดลใหม่ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งมีไลฟ์สไตล์และรูปแบบวัฒนธรรมต่างๆใกล้เคียงกับไทย 
 
วิชาเปรียบ “โรงหนัง” เหมือน “สะพาน” เชื่อมคอนเทนต์ต่างๆ และเป็น “เอาท์เล็ต” จำหน่ายคอนเทนต์หนังต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศชนิดที่ไม่ต้องถูกกินค่าหัวคิวหรือกดราคาหนังเหมือนในอดีต โดยเชื่อมั่นและพูดเสมอว่า หนังทุกเรื่องของเมเจอร์ กรุ้ป มีคุณภาพสูงไม่ต่างจากหนังต่างประเทศระดับฮอลลีวู้ด เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 40-50 ล้านบาทต่อเรื่อง ตัวแสดงระดับแนวหน้า 
 
ถ้าสามารถนำหนังไทยเรื่องหนึ่งเข้าไปฉายในเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ทั้ง 1,000 สาขา แค่ฉายวันแรก หมายถึงเงินรายได้เพิ่มขึ้นทันที
 
ณ วันนี้ หากดูสัดส่วนโครงสร้างรายได้ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เมื่อปี 2556 รวม 7,700 ล้านบาท มาจากกลุ่มธุรกิจโรงภาพยนตร์ถึง 53-55% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 15% โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ 6% ที่เหลือเป็นธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ และธุรกิจอื่นๆ อีก 23-25% 
 
ตามโครงสร้างธุรกิจหลักแบ่งเป็น 6 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วยธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจโบว์ลิ่ง-คาราโอเกะ ธุรกิจให้เช่าพื้นที่และบริการ ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจสื่อภาพยนตร์และธุรกิจอื่นๆในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทต่างๆ แต่ทิศทางตั้งแต่ปี 2558 วิชาวางน้ำหนักอยู่ที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจสื่อภาพยนตร์ โดยเฉพาะธุรกิจสื่อภาพยนตร์ ซึ่งล่าสุดมีบริษัทในเครือ 9 บริษัท ได้แก่ บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนท์, ทีวีฟอรัม, เอ็มพิคเจอร์, เอ็มวีดี, M39, ทาเลนต์ วัน, แปซิฟิค มีเดีย เซลล์, เมเจอร์ กันตนา บรอดคาสติ้ง และทรานส์ฟอเมชั่นฟิล์ม
 
สำหรับ “ทรานส์ฟอเมชั่นฟิล์ม” หรือ “TFF”  ถือเป็นบริษัทค่ายหนังน้องใหม่ในเครือ โดยเอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จับมือกับบริษัท ทรู ไอคอนเท้นท์ จำกัด ในเครือทรูคอร์ปอเรชั่น, บริษัท บางกอกฟิล์ม สตูดิโอ และบริษัท แม็ทชิ่ง สตูดิโอ พลัส ในเครือ บมจ.แม็ทชิ่ง แม็กซิไมซ์ โซลูชั่น วางเป้าหมายผลิตภาพยนตร์ไทยป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ ปีละ 4-6 เรื่อง เสริมกับบริษัทหลักอย่าง “M39” ซึ่งจะผลิตภาพยนตร์ปีละ 4-5 เรื่อง 
 
ที่ผ่านๆ มา หนังหลายเรื่องในเครือเมเจอร์ อย่างเรื่อง สุดเขต สเลดเป็ด, 30 กำลังแจ๋ว, คุณนายโฮ, ความลับนางมารร้าย  หรือ “คู่กรรม” เวอร์ชั่น ณเดชน์ คูกิมิยะ รวมถึงผลงานล่าสุดฝีมือค่าย TFF เรื่อง ตุ๊กแกรักแป้งมาก  แม้ดูเหมือนจะทำรายได้ไม่ได้พุ่งกระฉูด บางเรื่องต่ำกว่าเป้า แต่ทุกเรื่องใช้เงินลงทุนสูง อย่าง “คู่กรรม” ที่ M39 ทุ่มทุนถึง 70 ล้านบาท แต่ทำรายได้รวม 50 ล้านบาท 
 
บทเรียนในแง่รายได้ของหนังหลายๆ เรื่อง วิชายังยืนยันว่าเมเจอร์ กรุ้ป ยังได้กำไรจากธุรกิจหนัง โดยเฉพาะศักยภาพการเติบโตของรายได้ในตลาดต่างจังหวัด ซึ่งมีสัดส่วนลูกค้าคอหนังไทยถึง 60-70% และในตลาดเออีซี อย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งนิยมชมชอบหนังไทยอย่างมาก จากพื้นฐานความนิยมละครไทยเป็นทุนเดิม หากสามารถสร้างโรงหนังครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายย่อมหมายถึงโอกาสทองในตลาดเกิดใหม่
 
ส่วนตลาดจีนหรือในประเทศที่ธุรกิจโรงหนังแข็งแกร่งและมีคู่แข่งจำนวนมาก การเข้าลงทุนเปิดสาขาอาจเป็นเรื่องยากและต้องอาศัยเวลาศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ การจับมือกับพันธมิตร คือทางเลือกแรก ไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนปูพรมสร้างโรงสู้คู่แข่ง ซึ่งอาจไม่คุ้มทุนเท่าใดนัก
 
ที่จริงแล้วการผนึกยูนิต “ธุรกิจโรงหนัง (Cinema)” และ “ธุรกิจสื่อภาพยนตร์ (Movie Content)” เป็นความพยายามของคู่แข่งเบอร์ 2 อย่าง “เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้” ไม่ต่างกัน เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้เอสเอฟยังไม่บุกตลาดอาเซียนอย่างเร่งรีบ ทั้งที่มีพันธมิตรเสนอดีลร่วมทุนหลายราย เจ้าของโครงการบางแห่งถึงขั้นเสนอพื้นที่ฟรีด้วย 
 
สุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ประธานบริษัท เอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด ระบุว่า การทำโรงภาพยนตร์ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ คือคอนเทนต์หรือหนัง ถ้ามีหนัง ไม่มีคอนเทนต์ก็เจ๊ง และแนวทางที่ดีที่สุด คือการลงทุนเองเพราะคล่องตัวมากกว่า ซึ่งสุวัฒน์อยากเป็นเจ้าของค่ายหนังเช่นกัน การมีซอฟต์แวร์หรือคอนเทนต์ที่มีคุณภาพจะทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์เติบโตแข็งแรงต่อไปได้
 
ในอนาคตสมรภูมิเมืองหนังจึงไม่ใช่แค่การเอาชนะเรื่อง “ฮาร์ดแวร์” ตัวโรงและสาขา แต่ “ซอฟต์แวร์” หรือคอนเทนต์ของหนังจะตอบโจทย์ทั้งหมด
 
 
Relate Story