วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > ประเมินอนาคต EEC หลังทุนใหญ่ย้ายฐานการผลิต

ประเมินอนาคต EEC หลังทุนใหญ่ย้ายฐานการผลิต

การประกาศยุติการประกอบกิจการ และเลิกทำการผลิตรถยนต์ Chevrolet ของค่ารถยนต์ยักษ์ใหญ่นาม GM หรือ General Motors (ประเทศไทย) เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากจะกลายเป็นข่าวเด่นข่าวดังในระดับสากลแล้ว กรณีดังกล่าวยังส่งผลกระทบและในอีกด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนสภาพเศรษฐกิจและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของสังคมไทย ที่มุ่งเน้นจะผลักดันให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นประหนึ่งหัวรถจักรที่จะฉุดลากเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากังวลใจไม่น้อยเลย

แม้ว่าการหายไปของโรงงานผลิตรถยนต์ของ GM อาจถูกแทนที่ด้วยการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ในนาม Great Wall Motors (GWM) แต่นั่นไม่ได้หมายความถึงการเป็นสมการของการเข้ามาแทนที่ทดแทนกันในรูปการณ์แบบเดิม เพราะภายใต้โครงสร้างการผลิตของ “ศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย” หรือ “โรงงานผลิตรถยนต์” ที่จังหวัดระยอง ซึ่งเริ่มสายการผลิตมาตั้งแต่ปี 2543 หรือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการของระบบการผลิต รวมถึงเทคโนโลยีในการประกอบรถยนต์ในปัจจุบัน การเข้ามาของ GWM อาจไม่ได้เติมเต็มช่องว่างของการว่างงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้

ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกนอกจากผลกระทบในเรื่องแรงงานของ GM โดยตรงแล้ว สิ่งที่ยังน่าเป็นกังวลหลังจากการหยุดการผลิตรถยนต์ของเชฟโรเลตคือ ความหวาดวิตกของพนักงานจำนวนนับพันคน ที่อยู่ในกลุ่ม Supplier สายการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในภาพรวม ยังไม่นับผู้ประกอบการในฐานะตัวแทนจำหน่ายที่กำลังจะสูญเสียธุรกิจที่ได้ลงทุนไปแล้วโดยปริยาย

ก่อนหน้านี้ GWM ได้ประกาศว่าบริษัทมีแผนที่จะสร้างโรงงานบนพื้นที่ 800,000 ตร.ม. มีกำลังการผลิตจำนวน 100,000 คันต่อปี ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณหมื่นล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศไทยและอาเซียน และได้ประสานหาเครือข่ายติดต่อกับซัปพลายเออร์ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทย และจะมีซัปพลายเออร์บางส่วนจากจีนตามมาลงทุนในไทยด้วย

ความเป็นไปของ EEC นับจากนี้จึงเป็นกรณีที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีเป้าประสงค์ที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกด้วยการหวังพึ่งพาการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศ ภายใต้ความมุ่งหวังที่ว่าจะนำพาเม็ดเงินการลงทุน การจ้างงาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการปรับตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยดูจะดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ภายใต้นโยบายที่ขาดความชัดเจน หากแต่การยุติการผลิตรถยนต์ของ GM และการเข้ามาของ GWM ที่ประกาศตัวชัดเจนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอาจจะเป็นปัจจัยที่เร่งปฏิกริยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตขนาดใหญ่ โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้รับการกล่าวถึงในฐานะทางเลือกใหม่ในห้วงเวลาที่สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เช่นในปัจจุบัน

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและสอดรับกับแนวโน้มการผลิตที่กำลังปรับเปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ที่การประกาศร่วมลงนามในสัญญาระหว่าง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. กับบริษัทไทยทากาซาโก จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid ด้วยมูลค่าสัญญารวมประมาณ 295 ล้านบาท เมื่อรวมอุปกรณ์ที่จัดซื้อโดย GPSC แล้วจะมีมูลค่าโครงการกว่า 1,100 ล้านบาท

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 12 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตภายในเดือนธันวาคม 2563 โดยโรงงานแห่งนี้นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Semi Solid

การคัดเลือกไทยทากาซาโก เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในครั้งนี้ เกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทแห่งนี้เป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่และโรงงานที่ต้องการใช้ระบบการควบคุมความชื้น หรือ Dry Room เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานยา และมีประสบการณ์มากกว่า 39 ปี GPSC จึงเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีและประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงงานที่ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะด้าน จะทำให้โรงงานแบตเตอรี่ของบริษัทฯ สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ความน่าสนใจของโรงงานแห่งนี้ อยู่ที่การเป็นรูปแบบโรงงานต้นแบบที่ต่อยอดมาจากการผลิตระดับห้องทดลอง เพื่อนำผลวิจัยที่ได้มาขยายขนาดผลิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตอยู่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) จะเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายปีนี้ จากนั้นจะขยายกำลังการผลิตไปที่ 100 MWh ในช่วงปี 2564

เป้าประสงค์ของโรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้ในเบื้องต้นจะผลิตแบตเตอรี่เพื่อป้อนให้กับกลุ่ม ปตท. และพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตตามความต้องการของตลาดไปสู่ระดับภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากทิศทางของการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศในอาเซียน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งหากได้รับการตอบสนองที่ดีจากตลาด ก็จะขยายไปตั้งโรงงานระดับการผลิตเชิงพาณิชย์ ที่มีกำลังการผลิต 2 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อไป ซึ่งจะต้องขยายไปตั้งในพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ. ระยอง หรือพื้นที่อื่นของกลุ่ม ปตท. ที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

แม้ว่าการลงทุนต่อยอดจากกำลังการผลิตที่ 30 MWh ไปสู่ 100 MWh จะใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะได้ลงทุนอาคาร ระบบต่างๆ รองรับไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว แต่การขยายไปสู่ระดับโรงงานขนาดใหญ่ 2 GWh จะใช้เงินลงทุนสูงและน่าจะต้องร่วมทุนกับพันธมิตรที่เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านพลังงานที่จะรองรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งรวมถึงทิศทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและการใช้พลังงานสะอาดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ ซึ่งกำลังจะมีการพัฒนาสมาร์ทซิตี้หลายจุดในพื้นที่อีอีซี

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือในปัจจุบันทั่วโลกมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่เทคโนโลยี 24M อยู่ 2 ที่คือที่ไทย และญี่ปุ่น โดยโรงงานที่ญี่ปุ่นก็เป็นระดับโรงงานต้นแบบเหมือนกับที่ไทย เพิ่งเริ่มก่อสร้างในปีที่ผ่านมา ซึ่งการลงทุนของ GPSC ในครั้งนี้ทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับสตอเรจที่ใช้สำรองไฟฟ้า และแบตเตอรี่ในรถยนต์ ช่วยรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ภายใต้ความมุ่งหวังว่าโครงการลงทุนนี้จะช่วยผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียนเรื่องนวัตกรรมไฟฟ้า

การเคลื่อนไหวของ GPSC ในครั้งนี้ ยังดำเนินควบคู่ไปกับการร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่ม ปตท. และผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า เพื่อนำไปทดสอบใช้งานจริง และนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยในช่วงแรกจะผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ในอุปกรณ์ที่ไม่เคลื่อนที่ เช่น สตอเรจกักเก็บไฟฟ้าในธุรกิจต่างๆ ของเครือ ปตท. เพื่อลดการใช้พลังงานภายนอก และร่วมกับผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊ก และรถบัส นำแบตเตอรี่ไปผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า และในอนาคตจะขยายไปสู่การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าต่อไป

ประเด็นว่าด้วยแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเป็นกรณีที่มีการถกเถียงกันมากพอควรในกลุ่มผู้ประกอบการยานยนต์ในประเทศไทย เพราะในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าได้รับการประเมินว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากแต่ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายต่างๆ ยังอยู่ในราคาที่สูงกว่ารถยนต์เชื้อเพลิงอื่นๆ ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ขณะที่ผู้ประกอบการจากจีนสามารถใช้ช่องทางจากข้อตกลง อาเซียน-จีน ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนสามารถเข้ามาทำตลาดด้วยราคาที่ต่ำลงมากและกำลังจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของตลาดยานยนต์ในประเทศไทยด้วย

บางทีการหายไปของ GM และเข้ามาแทนที่ด้วย GWM ในพื้นที่จังหวัดระยองและ EEC รวมถึงการขยายการลงทุนของ GPSC ในโรงงานแบตเตอรี่ อาจเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ที่จะกระตุ้นทั้งพัฒนาการของ EEC และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังมากขึ้นก็เป็นได้

ใส่ความเห็น