วันอังคาร, มีนาคม 19, 2024
Home > Cover Story > กินเจเงินสะพัดหมื่นล้าน เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว?

กินเจเงินสะพัดหมื่นล้าน เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว?

ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) ของทุกปี เทศกาลกินเจ หรือการถือศีลกินผัก ประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ธงสีเหลืองที่มีตัวอักษรจีนที่บรรดาห้างร้านมักจะนำมาปัก เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเข้าสู่เทศกาลกินเจแล้ว

แต่ละปีช่วงเทศกาลกินเจ หลายค่ายมักจะเผยผลวิเคราะห์ หรือผลสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งนี้รายงานดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงเม็ดเงินที่จะถูกใช้จ่ายในช่วงเทศกาล โดยในแต่ละปีจะมีเม็ดเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านบาท

และแน่นอนว่าปี 2560 หอการค้าไทยคาดการณ์ว่าจะมีเงินสะพัดช่วงเทศกาลกินเจปีนี้ราว 4.5 หมื่นล้านบาท โดย ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจปี 2560 ซึ่งเป็นผลจากกลุ่มตัวอย่าง 1,177 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนจากกลุ่มตัวอย่าง 36.5 เปอร์เซ็นต์ ตัดสินใจกินเจปีนี้ โดยให้เหตุผลว่า ต้องการถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งยังกินเจเป็นประจำทุกปี ขณะที่ 63.5 เปอร์เซ็นต์ให้เหตุผลในการไม่กินเจว่า ราคาอาหารและวัตถุดิบในการปรุงอาหารเจปีนี้มีราคาสูงขึ้น กลุ่มตัวอย่าง 23.6 เปอร์เซ็นต์บอกว่ากินเจปีนี้คงไม่คึกคัก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงโศกเศร้า ขณะที่ 20.4 เปอร์เซ็นต์กลับเห็นว่าเทศกาลกินเจปีนี้น่าจะคึกคัก

แม้ว่าจากผลสำรวจประชาชนจากกลุ่มตัวอย่างที่ตัดสินใจกินเจในปีนี้นั้นจะมีเพียง 36.5 เปอร์เซ็นต์ หากแต่ยังมีการคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในช่วงเทศกาลกินเจต่อคนอยู่ที่ 10,245 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 9,700 บาทต่อคน ตัวเลขค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาจาก 53.9 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า ซื้อของกินของใช้สำหรับเทศกาลกินเจในปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ นอกจากนี้ยังใช้เงินซื้อของกินของใช้ รวมไปถึงการทำบุญที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การประมาณการค่าใช้จ่ายของหอการค้าไทย ทำให้ตัวเลขเงินที่จะใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจปีนี้สูงถึง 45,081 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.5 เปอร์เซ็นต์ หากแต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลกินเจปีก่อนยังถือว่าเป็นการขยายตัวที่น้อยกว่า

โดยปี 2559 เม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลกินเจอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท แต่มีการขยายตัวสูงถึง 4.2 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ทั้งนี้เหตุผลที่ทำให้เทศกาลกินเจปี 2559 ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค น่าจะมาจากเทรนด์การบริโภคอาหารสุขภาพที่มาแรง

แรงกระเพื่อมที่ค่อนข้างเบาบางของเทศกาลกินเจปีนี้ น่าจะเป็นตัวสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าหลายฝ่าย ทั้งจากภาครัฐที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา โดยหวังว่าประชาชนที่เป็นฐานรากทางเศรษฐกิจจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ หากแต่ผลกลับไม่เป็นไปตามที่ภาครัฐคิดหวังไว้

เมื่อผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอยู่พอสมควร ทั้งนี้เหตุผลน่าจะมาจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาสูงขึ้น แม้ว่าราคาสินค้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจเริ่มมีแรงส่งที่ค่อยๆ ดีขึ้น กระนั้นสัญญาณดังกล่าวอาจจะยังไม่ดีพอที่จะสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคใช้จ่ายซื้อสินค้า

การชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค ที่นับได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจจากฐานราก อาจจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาคในอนาคต

เพราะหากจะพิจารณาจากช่วงเทศกาลกินเจแล้ว ผู้ผลิตหลายรายใช้โอกาสในช่วงนี้เปิดตัวสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าที่เหมาะกับเทศกาล เช่น มาลีกรุ๊ป ส่งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำอัลมอนด์ เอาใจผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจ และเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้แพ้นมวัว ขณะที่เซเว่น อีเลฟเว่น เตรียมเมนูอาหารเจเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และรองรับความต้องการของผู้บริโภค แม้ว่าเทศกาลกินเจจะเริ่มในวันที่ 20 ตุลาคม แต่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กลับส่งสินค้าอาหารเจพร้อมรับประทานเข้าจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม ถือเป็นกลยุทธ์ในการช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากที่หอการค้าจะประเมินและคาดการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจแล้ว ยังมีการเปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2560 โดย เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า 91.1 เปอร์เซ็นต์ มีหนี้สินซึ่งเป็นหนี้จากการใช้จ่ายทั่วไป หนี้ในการซื้อทรัพย์สิน หนี้เพื่อชำระหนี้เก่า หนี้ในการประกอบธุรกิจและหนี้เพื่อการศึกษา ในจำนวนนี้แยกเป็นหนี้ในระบบ 42.4 เปอร์เซ็นต์ หนี้นอกระบบ 1.2 เปอร์เซ็นต์ และ 56.4 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

ทั้งนี้หนี้สินค้าโดยเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 299,266 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งประชาชนที่มีหนี้จะมีการผ่อนชำระเดือนละ 15,438 บาท โดย 79.3 เปอร์เซ็นต์บอกว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเคยผิดนัดชำระ เนื่องจากสินค้ามีราคาแพงขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว รวมไปถึงสถานการณ์ภัยพิบัติและมีรายได้ลดลง

กระนั้นหอการค้าไทยยังเห็นว่า ภาครัฐควรออกมาตรการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของหนี้ครัวเรือนภาคประชาชน ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัญหาระดับชาติ มาจากเรื่องของค่าครองชีพและสวัสดิการของประชาชน

โดยสวัสดิการของประชาชนที่หอการค้าไทยเห็นว่าภาครัฐควรต้องเข้ามาดูแลให้ทั่วถึง ได้แก่ เรื่องค่ารักษาพยาบาล การส่งเสริมรายได้ให้แก่ประชาชน การจัดหาแหล่งเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการแก้ปัญหาเรื่องข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน กลยุทธ์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หลังจากที่หอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจเรื่องคนไทยเป็นหนี้ครัวเรือนออกมานั้น ทางด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลังออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า ข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่เป็นทางการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (หนี้ในระบบ) นั้น พบตัวเลขในสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 6 ไตรมาสติดต่อกัน

โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ซึ่งระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 81.2 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งปัจจุบันสถิติล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ผลอยู่ที่ 78.4 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเสริมว่า ผลการสำรวจของหอการค้าไทยเป็นเพียงการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเพียง 1,191 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งในกรณีของหนี้ในระบบนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีตัวเลขที่แท้จริงอยู่แล้ว และเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจาก NPL Ratio ของหนี้ครัวเรือนนั้นพบว่า ข้อมูลล่าสุดในไตรมาส 2 ของปี 2560 อยู่ที่ 3.15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนในระบบนั้นไม่มีสัญญาณของปัญหาในเชิงเสถียรภาพแต่อย่างใด

นอกจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่าสัดส่วนคนเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบนั้นลดลง นั่นหมายความว่ามาตรการจากภาครัฐในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้นได้ผลเป็นอย่างดี

อีกประเด็นที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเห็นแย้งกับหอการค้าไทยคือเรื่อง ผลสำรวจที่ได้จากหอการค้าไทยว่า คนไทยเป็นหนี้สูงถึง 91.1 เปอร์เซ็นต์ และหอการค้าไทยต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ รวมไปถึงบางกรณีที่สถาบันการเงินมีข้อจำกัดทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้นั้น

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกลับเห็นว่า ตัวเลขดังกล่าวน่าจะเป็นการการันตีได้ดีว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการบริการทางการเงินได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งประชาชนยังมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยตัวเลข NPL ratio ในไตรมาส 2 ของปี 2560 ของหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มลดต่ำกว่าในอดีต

แม้ว่าผลสำรวจจากหอการค้าไทยจะมาจากเพียงกลุ่มตัวอย่างบางส่วนในสังคม หากแต่ก็เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ยังคงมีบทบาทและขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานรากของไทย หรือข้อเท็จจริงจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นและสัดส่วนตัวเลขหนี้ครัวเรือนลดลง กระนั้นตัวเลขต่างๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกแถลงกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละบุคคลที่จะพิจารณาว่า อะไรคือความฝัน อะไรคือเรื่องจริง

ใส่ความเห็น