วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > ไฟน์ ฟู้ด แนวรบใหม่ของสิงห์

ไฟน์ ฟู้ด แนวรบใหม่ของสิงห์

 
ธุรกิจอาหารเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจที่สันติ ภิรมย์ภักดี บอสใหญ่ของสิงห์กำหนดเป็นนโยบายไว้ ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มสิงห์เริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจอาหาร โดยประเดิมเปิดร้าน EST 33 เมื่อหลายปีก่อน และประสบผลสำเร็จ จนมีถึง 3 สาขาในปัจจุบัน
 
การรุกคืบของสิงห์ในสมรภูมิธุรกิจอาหารครั้งใหม่เริ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ สิงห์เปิดตัวบริษัท ไฟน์ ฟู้ด แคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่เป็นบริษัทในเครือบุญรอด บริวเวอร์รี่ เมื่อตุลาคม 2555 หรือเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นธุรกิจอาหารทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้การบริหารของธีระ วงศ์พัฒนาสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฟน์ ฟู้ด แคปปิตอล จำกัด
 
ภายใต้ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โครงสร้างของกลุ่มธุรกิจอาหาร ได้เริ่มเดินเครื่องเสริมทัพเป็นจักรกลให้กับบริษัท ด้วยการประเดิมเปิดร้านอาหาร ชื่อ “ร้าน พาคาต้า” จำนวนสองสาขา โดยสาขาแรกในไทยที่ถนนข้าวสาร เมื่อเดือนธันวาคม 2555 ด้วยคอนเซ็ปต์ร้านที่นำเสนอเป็นแบบ Fast Fusion Food ที่ทั้ง hip และ chic ไปในคราวเดียว
 
แต่บริบทของการรุกในธุรกิจอาหารที่ว่านี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น เมื่อสิงห์รุกเปิดสาขาสองของ ร้าน “พาคาต้า” ที่เมือง โคเวนต์การ์เดน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา พร้อมกับเปิดแนวรุกสู่ฐานลูกค้าต่างประเทศ ด้วยการเน้นคอนเซ็ปต์ Asian fusion comfort food และเป็นร้านอาหารเต็มรูปแบบ ที่มีบาร์บริการเครื่องดื่มสิงห์อีกด้วย
 
การเปิดร้านอาหารสาขา 2 ที่อังกฤษ ในด้านหนึ่งนอกจากจะเป็นผลมาจากโอกาสในการเติบโตของธุรกิจอาหารไทยที่เปิดกว้างและนับเป็นตลาดใหญ่ของเบียร์สิงห์แล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นการต่อยอดและดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดควบคู่กับที่สิงห์ได้ผูกพันธมิตรกับสโมสรฟุตบอลชั้นนำของอังกฤษไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งย่อมเป็นการนำร่องถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย 
 
ขณะเดียวกัน ด้วยรสชาติของอาหารไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับและชื่นชอบของคนอังกฤษ ที่สามารถสร้างกระแสการตอบรับที่ดี ทำให้ไฟน์ ฟู้ดมีแผนเปิดร้านพาคาต้า สาขาสองในอังกฤษปลายปีนี้ ควบคู่กับแผนการรุกครั้งใหญ่ด้วยการเปิดสาขาใหม่ในอังกฤษ 5-10 สาขาต่อปี ซึ่งแผนที่ว่านี้จะเริ่มในปี 2558 โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปีเปิดครบ 50 สาขา ด้วยงบลงทุนสาขาละ 20 ล้านบาท เบื้องต้นวางงบลงทุนไว้ที่ 300-400 ล้านบาท ในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ 
 
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงแรก ไฟน์ ฟู้ดกำหนดบทบาทไว้ที่การลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ โดย 5 สาขาในปีหน้าบริษัทเป็นผู้ลงทุนเอง แต่ในอนาคตจะเปิดโอกาสและแสวงหาพาร์ตเนอร์ในแต่ละประเทศเข้ามาร่วมทุน รวมถึงการขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์ด้วย ซึ่งนอกจากอังกฤษแล้ว คาดว่าจะสามารถขยายการลงทุนสู่อเมริกาได้ในอนาคตอันสั้น
 
นอกจากกลุ่มร้านอาหารแล้ว กลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมทาน (ready to eat) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจอาหารของบริษัท ไฟน์ ฟู้ด แคปปิตอล ที่กำลังจะเสริมทัพการรุกให้สิงห์ทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดตัวแกงกะหรี่ญี่ปุ่นเนื้อ และแกงกะหรี่ญี่ปุ่นไก่ ภายใต้แบรนด์ “สตาร์เชฟ” (Star Chefs) ด้วยการทุ่มงบ 50 ล้านบาท ดึงเชฟชื่อดัง ระดับมิชลิน สตาร์ มาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ ซึ่งถือเป็นงบลงทุนเพื่อการประเดิมสร้างแบรนด์ การันตีรสชาติและคุณภาพ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ในตลาดอาหารพร้อมทานของไทย และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดอีกส่วนหนึ่งก็ว่าได้
 
“กลุ่มเป้าหมาย คือ คนรุ่นใหม่ที่เร่งรีบ เน้นลูกค้าคนไทย อาจมีต่างชาติที่เป็นคนญี่ปุ่นบ้าง ซึ่งการที่เราเลือกเมนูอาหารญี่ปุ่นเนื่องจากคนไทยคุ้นเคยและชอบอาหารญี่ปุ่น ที่พิเศษคือ เมนูอาหารของเราอยู่ในอุณหภูมิห้องได้” ธีระระบุ
 
การลงทุนในสตาร์เชฟด้วยงบประมาณจำนวนมากดังกล่าว ย่อมมิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่จำกัดไม่กี่รายการ ในทางตรงข้าม ไฟน์ ฟู้ดกำลังเตรียมเมนูอาหารญี่ปุ่นอีก 2-3 รายการ และเมนูอาหารนานาชาติอีกประมาณ 5 รายการ เพื่อให้สอดคล้องสำหรับแบรนด์สตาร์เชฟ ซึ่งนอกจากจะบุกตลาดไทยแล้ว ยังมีแผนบุกตลาดต่างประเทศในกลุ่มอินโดจีน ทั้ง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และรวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้าผ่านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก่อนที่จะขยายตลาดสู่ระดับภูมิภาคต่อไป 
 
สำหรับกลุ่มลูกค้าคนไทยจะเน้นเมนูอาหารต่างชาติที่คนไทยชื่นชอบ ในขณะเดียวกันกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ บริษัทฯ เลือกแกงเขียวหวาน แกงเผ็ด บุกตลาดต่างชาติ ซึ่งในการขยายตลาดหรือเครือข่ายยังคงขยายตามเบียร์สิงห์เช่นกัน โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นชนชั้นกลาง และคนรุ่นใหม่ ที่มีฐานการเติบโตสูง ประมาณ 20-30% และเน้นสัดส่วนลูกค้าในกรุงเทพฯ: ต่างจังหวัด ที่ 70 : 30 
 
แม้ว่าสัดส่วนรายได้ในช่วงเวลา 2 เดือนหลังของปีนี้ คาดว่าจะปิดที่ประมาณ 100 ล้านบาท โดยในปีหน้าตั้งเป้าไว้ประมาณ 250 ล้านบาท แต่ผู้บริหารของไฟน์ ฟู้ด เชื่อว่า โอกาสในการเติบโตของไฟน์ ฟู้ด ค่อนข้างสดใส และตั้งเป้าหมายการเติบโตในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ไว้อย่างน่าสนใจที่ประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยคิดสัดส่วนรายได้ ในประเทศไทย 70% อินโดจีน30% และคาดว่าสัดส่วนรายได้ที่มาจากการดำเนินธุรกิจในประเทศและต่างประเทศจะอยู่ที่ 50 : 50 ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าด้วย
 
นอกเหนือจากสตาร์เชฟ แล้ว อีกหนึ่งแบรนด์อาหารที่อยู่ในกลุ่ม ready to eat ของบริษัทไฟน์ ฟู้ดฯ ที่จะมาเสริมแนวรุกด้านอาหารอยู่ที่ แบรนด์ เด็ด เอเชีย (That’s Asia) อาหารพร้อมทาน ที่ผลิตให้เหมาะสมกับคนที่มีอาการแพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว กลูเตน และอื่นๆ ที่เน้นรสชาติ ความเป็นพื้นเมืองของประเทศนั้นๆ แบรนด์นี้มุ่งเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยได้เริ่มขายที่ญี่ปุ่น อินเดีย และมีแผนที่จะขยายไปที่ยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
 
ประเด็นที่น่าสนใจในการรุกของไฟน์ ฟู้ด ในธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน หรือ ready to eat ซึ่งได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าการตลาดประมาณ 5-6 พันล้านบาท ก็คือ ตลาดที่ว่านี้เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงมากและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่ระดับประมาณ 30% ต่อปี ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากประพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของสังคมเมืองที่ขยายตัว และกำลังสร้างฐานกำลังซื้อที่สำคัญให้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ในอนาคต
 
ธุรกิจของไฟน์ ฟู้ด ที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่การรุกเข้าสู่ตลาด HoReCa: Hotel Restaurant Catering ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องราวของวัตถุดิบ และเครื่องปรุงรสเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาชนะใส่อาหาร หรือแม้กระทั่งการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการในธุรกิจอาหารอย่างครบวงจรในอนาคตด้วย
 
แม้ว่า แบรนด์สิงห์ จะเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งและอยู่คู่กับสังคมไทยมานานกว่า 80 ปี แต่การเปิดแนวรุกครั้งใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารในครั้งนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสิงห์แต่อย่างใด
 
จริงอยู่ที่ว่า ธุรกิจใหม่นี้อาจให้ภาพการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารซึ่งสิงห์อาจมีความคุ้นเคย และสามารถใช้ความแข็งแกร่งของสิงห์เป็นกลไกในการกระจายสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
หากแต่ในสมรภูมินี้ สิงห์อาจไม่ใช่ราชาเจ้าสังเวียน เพราะในธุรกิจอาหารที่กว้างใหญ่นี้ยังมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีความชำนาญและครองความเป็นเจ้าอย่างหนาแน่นอีกมากหน้าหลายตาเช่นกัน 
 
มิพักต้องกล่าวถึงการรุกที่กำหนดเป้าหมายไว้ที่การมุ่งสู่ตลาดโลก ซึ่งเป็นความพยายามที่จะหนุนนำแนวคิดของสันติ ภิรมย์ภักดี ที่ต้องการให้แบรนด์สิงห์ แบรนด์ไทย ได้ก้าวไปสู่โกลบอลแบรนด์อย่างแท้จริง
 
ดูเหมือนว่าบทบาทและย่างก้าวของไฟน์ ฟู้ด กำลังเป็นสิ่งที่ท้าทาย เป็นการเดินทางเข้าสู่แนวรบใหม่ที่กำลังจะขยายและแตกไลน์กลายเป็นสงครามครบวงจร ที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้ได้รับความสูญเสียจากการสัประยุทธ์นี้อย่างไร
 
เวลาและฝีมือในการบริหารไฟน์ ฟู้ด คงเป็นปัจจัยที่จะชี้ขาดอนาคตขององค์กรแห่งนี้อย่างไม่ควรกะพริบตา
 
 
Relate Story