วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > นัชญ์ ประสพสิน ตั้งมายด์เซตใหม่ สู้ต่อภารกิจโอบอุ้มแมวจร

นัชญ์ ประสพสิน ตั้งมายด์เซตใหม่ สู้ต่อภารกิจโอบอุ้มแมวจร

“เอาจริงๆ ตลอดปีที่ผ่านมา ใช้เวลาพูดคุยกับนักลงทุน คนที่สนใจเยอะเหมือนกัน พบว่า ส่วนมากอยากมาอาศัยที่นี่ฟอกเงิน ธุรกิจสีเทา ใช้ฟอกตัวให้นักการเมือง เราจึงยังส่งมอบที่นี่ให้ใครไม่ได้เลย ปีนี้ตั้งทัศนคติใหม่ มายด์เซตใหม่ ในเมื่อมันไม่ล้มก็ไปต่ออย่างมีสติแล้วกัน….”

นัชญ์ ประสพสิน เจ้าของเพจ “ทูนหัวของบ่าว” และคาเฟ่บ้านพักพิงของเหล่าแมวจร “Catster by Kingdom of Tigers” โพสต์ผ่านเพจ Catster by Kingdomoftigers เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 ในโอกาสครบรอบ 8 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 9

หากย้อนไปเมื่อปี 2565 นัชญ์คิดหนักตั้งแต่ตอนนั้นหลังโดนพิษเศรษฐกิจเล่นงาน ผลพวงวิกฤตโควิดมากกว่า 3 ปี และอาจต้องตัดสินใจยุติภารกิจทั้งหมด เพราะ “ไม่ไหวแล้ว!!” โดยประกาศไม่รับแมวจรเพิ่มและพยายามหาบ้านให้แมวที่อยู่ในบ้านพักพิงให้หมดทั้งร้อยกว่าตัว

เหตุผลเรื่องเงินเป็นหลักและผลกระทบเรื่องสุขภาพจิต รู้สึก Suffer หมดเงินไปหลายล้าน แทนที่จะเอาเงินไปสร้างความสุขให้ตัวเองบ้าง แต่กลายเป็นว่า ต้องเอาเงินมาถม เกิดความเครียดและต้องขอพักก่อน

ครั้งนั้น เธอกล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า หากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของการเป็นคุณบ่าวที่มีความสุขที่สุดเมื่อเกือบสิบปีก่อน การเปิดตัวเพจทูนหัวของบ่าว Kingdom of Tiger เกิดจากความรักและความสนใจส่วนตัว ซึ่งเดิมนัชญ์ทำงานเป็นครีเอทีฟบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งและลาออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง รับผลิตคอนเทนต์ ทำเพจ ทำ Viral ให้ลูกค้า ดูการตลาดให้แบรนด์ต่างๆ โดยใช้ชื่อบริษัท Kingdom of Tiger

ขณะเดียวกัน ความเป็นคนชอบเล่นโซเชียลมีเดีย ชอบอัปรูปแมว ซึ่งมีคนชื่นชอบ แชร์รูปแมวไปมากมาย จึงเปิดเพจทูนหัวของบ่าว เพื่อสร้างสังคมของคนรักแมว แบ่งปันข้อมูลการเลี้ยงดู และวันหนึ่งรับเลี้ยง “แมวอโศก” แมวจรจัด เพศผู้ ตัวสีส้ม ที่มักวนเวียนอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าอโศก คุ้นเคยกับผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาในละแวกนั้น ยิ่งทำให้เพจมีผู้ติดตามมากขึ้น

เธอยังเอาเรื่องราวแมวทั้ง 5 ตัวในบ้าน คือ “แมวอโศก” อดีตแมวจร ผู้เคยเป็นแมวเซเลบประจำสถานีบีทีเอสอโศก “เสือโคร่ง” แมวดาราที่เล่นโฆษณาเเละเล่นละคร “เสือสมิง” แมวอิมพอร์ตจากสกอตแลนด์ “แม่มะลิ” แมวหน้าเหวี่ยงขาใหญ่ประจำบ้าน และ “เสือชีตาร์” ลูกแมวที่คลอดมาพร้อมดราม่าในโลกโซเชียล มาเขียนเล่าคาแรกเตอร์ มุมสนุกๆ รวมถึงความรู้ต่างๆ ทั้งการทำหมันแมว การบริจาคเลือดแมว การเลี้ยงดูแมวท้องและแมวเด็กแรกคลอดอย่างชีตาร์

กระแสตอบรับดีมากๆ ทำให้มีผลงานเล่มที่ 2 “บ้านหลังใหญ่ by ทูนหัวของบ่าว” เล่าเรื่องทูนหัวรวม 9 ตัว และเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว บรรดาลูกๆ ครอกที่สองของเสือโคร่งและเสือสมิง คือ เสือดาว เสือปลา และเสือดำ เสือขาว

ปรากฏว่า Community ผู้ติดตามทูนหัวของบ่าวขยายใหญ่โต มีแฟนเพจพุ่งพรวดถึง 3 ล้านคน พร้อมๆ กับการออกนิตยสาร paw prints เพื่อเป็นพื้นที่ของสัตว์ ไม่ใช่แค่แมว เน้นให้ความรู้ต่างๆ เช่น วิธีการนำแมวเดินทางไปด้วย วิธีปฏิบัติตัวกับแมว และสอดแทรกกระตุ้นเรื่องการดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยความรับผิดชอบเพื่อลดจำนวนแมวจร

ในเวลาต่อมา เพจทูนหัวของบ่าวเพิ่มเว็บไซต์ kingdom of tigers เป็นศูนย์กลางความช่วยเหลือต่างๆ ไม่ว่าจะขอเลือด สัตว์ป่วยหาบ้าน หรือสัตว์หาย และไม่จำกัดเฉพาะแมวเท่านั้น

แน่นอนว่า ช่วงเวลาหลายๆ ปี นัชญ์มีความสุขและสนุกกับการช่วยเหลือแมวจร โดยเฉพาะเมื่อเด็กๆ ได้บ้านอันอบอุ่นหลังใหม่และฐานแฟนเพจที่มีจำนวนมาก จัดงานอีเวนต์หาบ้านให้แมวทุกครั้ง แมวทุกตัวได้บ้านทุกครั้ง เธอตัดสินใจเปิด Catster Café by Kingdom of Tigers ในโครงการหมู่บ้านบิซทาวน์ พระราม3-สุขสวัสดิ์ เป็นศูนย์พักพิงหลังใหม่และเป็นศูนย์กลางให้คนรักแมวที่อยากเลี้ยงแมวสักตัวมาเล่นกับแมวก่อนตัดสินใจเลือกรับเป็นนายอย่างถาวร มีคนรักแมวเข้ามาจองและเลือกแมวที่อยากเลี้ยงทุกวัน หลายครั้งต้องคัดเลือกคุณสมบัติแย่งชิงกันด้วย

รายได้หลักของแคทสเตอร์มาจากค่าเข้าคาเฟ่และการขายหน้าร้าน ลูกค้าเป็นกลุ่มคนรักแมว คนชอบเที่ยวคาเฟ่ เล่นกับแมว มีบริการ 3 โซนหลัก เริ่มจากชั้น 1 โซนขายสินค้าน้องแมวและสินค้า official ของทางร้าน

ชั้น 2 มุมรับประทานขนม มีโต๊ะให้นั่งทำงาน หรือซื้อของกินจากด้านนอกมารับประทานได้ และบริการนวด Cat Therapy โดยแมวพี่เลี้ยง

ชั้น 3 ห้องน้องแมวอดีตเคยจรให้ผู้สนใจอยากรับอุปการะแมว ได้เล่นและทำความคุ้นเคยกับแมว หากถูกชะตาหรือรู้สึกชอบตัวไหนสามารถรับไปได้ทันที ซึ่งแมวทุกตัวที่นี่ผ่านการตรวจเลือดและตรวจโรคเบื้องต้น ให้วัคซีนตามวัยและทำหมัน

แต่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาดอย่างหนักช่วงปี 2563-2564 ภาครัฐกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด การเว้นระยะห่าง ทำให้แคทสเตอร์ปรับรูปแบบการให้บริการเป็นรายชั่วโมง จำกัดลูกค้าเหลือห้องละ 10 คน และตัดบริการนวด Cat Therapy ทำให้รายได้หลักหายไป

ที่สำคัญ โครงการเปิดโรงพยาบาลแมวจร ซึ่งเจรจาไปได้เกิน 50% ต้องพับเก็บไว้ การมาของโควิดทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ร้านปิด ๆ เปิด ๆ เกือบสองปี ต้องควักเงินสำรองมาอุ้มภารกิจต่างๆ ตลอดจนการปิดตัวของบ้านอาสาสมัครหลายบ้านที่รับเอาแมวมาอยู่ด้วย

มิหนำซ้ำ คนเลี้ยงแมวเสียชีวิตจากโควิด แมวไร้บ้านเพิ่มขึ้น ทั้งกิจการห้างร้านปิดตัว คนหนีบ้านเช่า จากเดิมมีแคทสเตอร์แค่ตึกเดียว ขยายเป็น 2 ตึก เต็มทุกชั้นทุกแผนก ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ในที่สุด เธอดันแคทสเตอร์อยู่รอดต่อได้อีก พร้อมๆ กับการเจรจาหาผู้รับช่วงต่อ แต่ยอมรับว่า ท้อบ่อยมาก ขายของทุกอย่าง หาเงินทุกทาง ปีที่แล้วประกาศยกกิจการไป 2 รอบ มีคนสนใจมาพูดคุย แต่ส่วนมากต้องการอาศัยคาเฟ่แมวจรเป็นแหล่งฟอกเงิน พวกธุรกิจสีเทา ฟอกตัวนักการเมือง สุดท้ายจึงต้องลุยต่อเอง

สำหรับแนวทางอยู่ต่อมีหลายหนทาง เช่น การเปิดมูลนิธิ ซึ่งมีข้อดี คือความโปร่งใสในการรับบริจาค แต่มีข้อเสียหลายข้อ เช่น มูลนิธิที่เกี่ยวกับสัตว์ คนบริจาคไม่สามารถเอาไปลดหย่อนใดๆ ได้ ห้ามขายสินค้า เพื่อหารายได้ ต้องระดมทุนอย่างเดียว ต้องมีเงินขอเปิดมูลนิธิอยู่ในบัญชี 500,000 บาท และหากยกเลิกมูลนิธิ เงินก้อนนั้นต้องยกเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งในความจริงแล้ว เงินสดห้าแสน รักษาแมวจรได้เยอะมาก

นัชญ์คิดทันทีว่า ธุรกิจ social enterprise น่าจะเหมาะกับโมเดลธุรกิจของแคทสเตอร์มากที่สุด แต่ยังต้องหาแนวทางไปถึงเป้าหมายนั้น

สมาชิกบางคนเสนอทำคาเฟ่ เปิดบริการด้าน Food & Beverage แต่กังวลเรื่องสุขอนามัย การควบคุมคุณภาพอาหารและบริการ การลงเครื่องกาแฟ หรือ เตาส่วนครัวต้องต่อเติม และมีทุนส่วนนี้มากกว่า 8 แสนบาท ความคิดนี้เลยจบได้ง่าย

บางคนเสนอเปิดธุรกิจร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยง แต่มีปัญหา คือ ไม่สามารถรีวิวสินค้าที่ไม่ได้ใช้ หรืออาหารสัตว์เลี้ยงที่น้องแมวแคทสเตอร์ไม่ได้กิน โดยเฉพาะอาหารทำร้ายไต ข้อนี้คือ give & take เพราะการรับงานหมายถึงทุกตัวถูกสกรีนแล้วว่าโอเค ผ่าน ใช้ได้ ฉะนั้นมันจะอยู่กับเราไปตลอด คุณขายได้ยาว ๆ มากแต่จะมาวางขายเลยไม่ได้ เพราะต้องหมุนเงินทุกบาทมาช่วยแมวจร

หรือจะทำธุรกิจโรงแรมแมว แต่มีข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกวันนี้ คนเอาน้องมาฝากแล้วไม่รับกลับเยอะมาก  พื้นที่เต็มแล้ว ไม่สามารถเพิ่มส่วนประกอบการนี้ได้ ถ้าเพิ่มหมายถึงการต้องเช่าตึกเพิ่ม

สุดท้าย ทุกอย่างกลับมาที่ Passion เดิม

“โชคดีมากๆ ที่นอกจากเรามีแฟนเพจที่แสนดีกับเราแล้ว เรามีทีมงานที่ดีที่สุดในโลก คอยเป็นทุกอย่าง  ได้คนที่หัวใจเดียวกันมาสร้างพื้นที่แห่งความสุขนี้ โชคดีอีกอย่าง คือ เราบริหารแคทสเตอร์แบบคนไม่มีหนี้เลย ที่นี่ไม่เคยค้างค่าใช้จ่ายแมวจรสักโรงพยาบาล อาหาร ทรายแมว ทุกอย่างเกี่ยวกับแมว เราพยายามขายของหาเงินมาจ่ายตลอด เพราะคิดว่าถ้าก่อหนี้สินคงไม่ใช่การบริหารกิจการเพื่อสังคมที่ดีนัก และทำให้ที่นี่ได้เดินต่อทุกครั้งที่ล้ม”

สายตามุ่งมั่นของนัชญ์ ณ เวลานี้ เป้าหมาย คือ กระตุ้นผู้คนให้ลดจำนวนแมวจรในสังคมและให้น้องๆ ในความดูแลได้บ้านมากที่สุด.