วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Life > “บ้านนพวงศ์” จับตำนานมาปั้นมูลค่า

“บ้านนพวงศ์” จับตำนานมาปั้นมูลค่า

“ความโบราณ” จะถูกลดคุณค่าเป็นเพียง “ความเก่า” ทันทีที่ไร้ซึ่งเรื่องราวเชื่อมร้อย “อดีต” กับวัตถุแห่งความทรงจำ แต่กลับมี “มูลค่า” ขึ้นทันที เมื่อทุกอย่างเชื่อมโยงกันเป็นตำนาน ถึงจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ก็ตามที

ท่ามกลางความแออัดของรถราบนถนนราชดำเนินกลาง ถนนสายนี้ไม่ได้มีแต่ภาพอดีตความวุ่นวายทางการเมือง แต่ยังอบอวลไปด้วยอดีตทางสังคม ที่สวยงาม เพียงแค่หลบหนีความจอแจบนท้องถนนใหญ่เข้าไปในซอยดำเนินกลางใต้ จนไปหยุดยืนอยู่หน้าบ้านไม้สไตล์โคโลเนียลสีครีมหลังหนึ่ง กลิ่นอาย บ้านโบราณเบื้องหน้าบวกกับบรรยากาศเงียบสงบละแวกนั้น อาจทำให้หลายคนเผลอรู้สึกราวกับได้หลุดเข้ากระจกย้อนเข้าไปอยู่อีกภพ

ณ ปัจจุบัน “บ้านนพวงศ์” เป็นโรงแรมบูติกสไตล์บ้านไทยโบราณ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนในปีที่ผ่านมา

“นพวงศ์” เป็นชื่อราชสกุลซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส หรือพระองค์เจ้าชายนพวงศ์ วรองค์อรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 1 ในรัชกาลที่ 4 ประสูติกับเจ้าจอมมารดาน้อย ธิดาของพระอินทรอำไพ (สมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับกรมหลวงบริจาภักดี ศรีสุดารักษ์) มีบุตรธิดารวม 21 คน หนึ่งในนั้นคือ หม่อมเจ้าถนอม นพวงศ์

หม่อมเจ้าถนอม นพวงศ์ มีบุตรธิดาอีกมากมาย อาทิ หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง วชิรญาณวงศ์) เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และหม่อมราชวงศ์กมล นพวงศ์ (พระยาวิเศษ ภักดี) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสิงห์บุรี โดยได้สมรสกับคุณหญิงบุญมา วิเศษภักดี มีบุตรธิดา 6 คน หนึ่งในนั้นได้แก่ หม่อม หลวงดิศพงศ์ นพวงศ์ อดีตข้าราชการกรมสรรพสามิต ผู้สร้างและเป็นอดีตเจ้าของบ้านหลังนี้

“กันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา” ทายาทรุ่นหลานเล่าว่า บ้านนพวงศ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ช่วงที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยวัสดุแรกเริ่มในการก่อสร้างบ้านเกือบทั้งหลัง อาทิ ไม้สัก ไม้ยาง สังกะสี และเหล็ก ล้วนได้มาจากค่ายทหารญี่ปุ่นช่วงที่เข้ามาสร้างฐานทัพในประเทศไทย แปลนบ้านออกแบบโดย “หลวงบุรกรรมโกวิท” 1 ใน 7 คณะผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

กาลเวลาผ่านไป บ้านนพวงศ์เริ่มถูกปรับเปลี่ยนไปจากบ้านพักอาศัย ของตระกูล ถูกกั้นห้องและปรับเป็นห้องเช่าสำหรับนักเรียน นักศึกษา มานานกว่า 10 ปี ก่อนจะกลายเป็นบ้านเช่ารายเดือนสำหรับพนักงานหรือข้าราชการที่ทำงานอยู่ย่านราชดำเนินหรือใกล้เคียงแถบนี้ โดยสมาชิกที่เป็นลูกหลานอดีตเจ้าของบ้านย้ายไปอยู่บ้านไม้อีกหลัง ซึ่งอยู่ถัดไปทางด้านหลังของบ้านนพวงศ์

กระทั่งตัวบ้านเดิมเริ่มทรุดโทรม “ศิปภา นพวงศ์ ณ อยุธยา” ลูกสาวของ มล.ดิศพงศ์ ในฐานะเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ได้ปรึกษากับลูกชายเพื่อ ปรับปรุงบ้านเก่าหลังนี้ให้มีคุณค่ามากขึ้นในแง่ความทรงจำของครอบครัว

“พอดีที่สังคมไทยเริ่มมีกระแสการอนุรักษ์ความเป็นไทย เรารู้สึกว่าบ้านหลังนี้มีประวัติและเรื่องราวที่มีคุณค่าก็ควรรักษาเอาไว้ และบ้านหลังนี้ ก็มีความทรงจำเกี่ยวกับคุณตาคุณยาย เกี่ยวกับครอบครัวของเรา ก็น่าจะดี ที่เราจะเก็บรักษาความทรงจำที่ดีของบ้านหลังนี้ไว้” กันตศมกล่าวในฐานะ บุตรชายของศิปภา

ย้อนกลับไปราว 3 ปีก่อน ครอบครัวนพวงศ์เริ่มปรึกษากันเพื่อฟื้นฟู และรักษาอดีตของบ้านไม้หลังเก่าหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ณ เวลานั้น กันตศมยังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เขาจึงได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวในการบูรณะ บ้านนพวงศ์หลังเก่า

“เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของบ้านไทยโบราณสไตล์โคโลเนียลไว้ในทุกรายละเอียดให้ได้มากที่สุด ผมเลยตัดสินใจทำเองทั้งหมด เริ่มจากค้นคว้าและวิจัยข้อมูลต่างๆ จากตำรา บ้าง จากการเยี่ยมชมบ้านสไตล์ขนมปังขิง เพื่อดูรายละเอียดการฉลุไม้ ที่สำคัญคือ การเยี่ยมชมพระที่นั่งวิมานเมฆและพระที่นั่งมฤคทายวัน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของบ้านนพวงศ์ เมื่อครั้งแรกสร้าง เกือบร้อยปีมาแล้ว” กันตศมเล่าจุดเริ่มต้นการทำงานของตน

ใช้เวลารวบรวมข้อมูลร่วมปี จากนั้นกันตศมเริ่มออกแบบและปรับปรุงโดยหัวใจในการปรับปรุงครั้งนี้คือ การรักษาเอกลักษณ์บ้านเดิมให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด อาทิ พื้นไม้สัก ประตูและหน้าต่างไม้สักยังคงสภาพเหมือนในอดีต ระแนงไม้และช่องแสง ขณะที่ ฝาไม้ยางซ้อนเกล็ดของเดิมถูกปรับเป็นฝ้าเพดานเพื่อความเหมาะสมและสวยงาม เป็นต้น

“สิ่งที่ผมอยากนำเสนอในโรงแรมคือ บ้านไทยโบราณที่มีความร่วมสมัย ซึ่งความยากในการปรับปรุงบ้านไทยสไตล์โคโลเนียล สัดส่วนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ความยาก ที่สุดในการปรับปรุงบ้านเก่าให้เป็นโรงแรมก็คือ การรักษาสมดุลระหว่างความเป็นไทยโบราณและความร่วมสมัย” กันตศมใช้เวลาร่วม 2 ปีสำหรับการปรับปรุงบ้านเป็นโรงแรม

ปัจจุบันโรงแรมบ้านนพวงศ์ มีห้องทั้งหมด 7 ห้อง โดยชื่อห้องได้แรงบันดาลใจจาก อัญมณีทั้ง 9 ของไทย ทุกห้องรวมทั้งล็อบบี้ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าของครอบครัวที่ถูกนำมาปรับปรุงซ่อมแซมกลับมาใช้ใหม่ ถึงแม้จะคงกลิ่นอายความเก่าเอาไว้เป็นอย่างดี แต่ที่โรงแรมบ้านนพวงศ์ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องครบถ้วน รวมถึงมีบริการ Wi-Fi ให้ลูกค้าได้ใช้ฟรี

นอกจากความเป็นบ้านไทยที่มีตำนานของตระกูลนพวงศ์ อีกจุดขายที่กันตศมตั้งใจสร้างให้เป็นคาแรกเตอร์ของโรงแรมบ้านนพวงศ์ นั่นคือการบริการแขกด้วยความอบอุ่น และเป็นกันเองประหนึ่งญาติมิตร อันเป็นธรรมเนียมการต้อนรับแขกแบบคนไทยสมัยก่อน

ทั้งนี้ สนนราคาค่าห้องเริ่มต้นตั้งแต่ 2,000-4,400 บาท สำหรับช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และเริ่มต้นตั้งแต่ 2,500-4,900 บาท สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยว จากการเปิด ตัวเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา กันตศมเล่า ว่า แขกส่วนใหญ่ร่วม 90% เป็นต่างชาติ

“ความคาดหวังของผม แค่อยากให้แขกได้มานั่งนิ่งๆ มาใช้ชีวิตช้าๆ แล้วค่อยๆ เดินดูรอบๆ บ้าน ค่อยๆ เห็นจิตวิญญาณของบ้านเดิมที่ถูกปรับให้มีความร่วมสมัย อยากให้เขาได้สัมผัสถึงความอบอุ่นที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้”

กันตศมทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกที่ไม่ใช่ แค่ในฐานะผู้ออกแบบและปรับปรุง และเจ้าของบ้าน แต่ยังเป็นฐานะทายาทของอดีตเจ้าของบ้านที่มีตำนานมากว่า 80 ปี ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของ “ถนนราชดำเนิน” ถนนที่ได้ชื่อว่ามีความเปลี่ยนแปลงทาง การเมืองและสังคมเกิดขึ้นมากมาย