วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
Home > Life > สาเหตุเวียนศีรษะที่คุณคิดไม่ถึง

สาเหตุเวียนศีรษะที่คุณคิดไม่ถึง

 
คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณรู้สึกเวียนศีรษะในวันที่มีอากาศร้อนจัด หรือหลังจากที่ต้องยืนนานเกินไป แต่ปัญหาสุขภาพบางอย่างเป็นสาเหตุให้เวียนศีรษะชนิดที่คุณคิดไม่ถึงได้เช่นกัน
 
ความดันโลหิตสูง
โดยทั่วไปแล้วค่าความดันโลหิตปกติของคนเราอยู่ที่ 90/60 และ 120/80 มิลลิเมตรปรอท โดยค่าตัวเลขที่มากกว่าแสดงถึงแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงร่างกาย ส่วนค่าตัวเลขที่น้อยกว่าเป็นแรงดันขณะที่หัวใจคลายตัวก่อนจะเริ่มสูบฉีดเลือดครั้งต่อไป
 
ค่าความดันที่สูงมากคือเกิน 180/110 มิลลิเมตรปรอท อาจทำให้คุณมีอาการเวียนศีรษะได้
 
ข้อแนะนำ–การสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย บริโภคอาหารรสเค็ม และภาวะอ้วน ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง จึงต้องควบคุมน้ำหนักตัว ลดบริโภคอาหารรสเค็ม โดยเฉพาะอาหารแปรรูปต่างๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที
 
นอกจากนี้ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาต้านการอักเสบ ยาพ่นจมูก และยาแก้ไอบางชนิด มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเช่นกัน วิธีที่ดีที่สุดคือ ปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณ  
 
ภาวะหัวใจผิดปกติ
เมื่อมีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาการเวียนศีรษะอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าหัวใจของคุณมีปัญหาซ่อนเร้นอยู่ ศาสตราจารย์ James Tatoulis หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์แห่งมูลนิธิหัวใจแห่งชาติของออสเตรเลียอธิบายว่า “คุณจะเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าของหัวใจที่เสื่อมถอยลงในลักษณะเดียวกับที่ผิวหนังของคุณเกิดรอยเหี่ยวย่นเมื่อคุณมีอายุมากขึ้น หัวใจอาจเริ่มเต้นช้าลง ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จึงทำให้คุณเวียนศีรษะ”
 
ข้อแนะนำ–รักษาสุขภาพหัวใจของคุณให้แข็งแรงด้วยการบริโภคอาหารอย่างสมดุล รวมทั้งควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ภาวะซึมเศร้าและโดดเดี่ยวเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ จึงควรติดต่อกับมิตรสหายอยู่เสมอ ถ้ารู้สึกเวียนศีรษะบ่อยๆ ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้สั่งจ่ายยาบรรเทาความรุนแรงของอาการ
 
ภาวะขาดน้ำ
ภาวะขาดน้ำทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง และเกิดอาการเวียนศีรษะได้ ในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่สูญเสียน้ำวันละ 2.5–3 ลิตร จึงสำคัญมากที่ต้องดื่มน้ำชดเชยให้เพียงพอ
 
ข้อแนะนำ–ร่างกายส่งสัญญาณเมื่ออยู่ในภาวะขาดน้ำ คือ กระหายน้ำ ริมฝีปากแห้ง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน และปัสสาวะมีสีเข้ม จึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ผู้หญิงต้องการน้ำวันละ 8 แก้ว แต่ผักและผลไม้เป็นแหล่งน้ำสำหรับร่างกายได้ด้วยเช่นกัน
 
ความอ่อนล้า
ปัญหาการดำเนินชีวิตและความผิดปกติทางร่างกายบางอย่าง เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอ่อนล้าได้ เช่น ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน ไข้หวัดใหญ่ ไข้ตาเหลืองตัวเหลือง (glandular fever) ภาวะซึมเศร้า และการอดนอน ที่สำคัญ อาการเวียนศีรษะถือว่าเป็นสัญญาณของความอ่อนล้าได้
 
ข้อแนะนำ–ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยล้าผิดปกติ ให้ปรึกษาแพทย์ และพยายามนอนพักผ่อนให้ได้คืนละ 7–8 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า ให้เข้านอนทันที Dr. David Morawetz ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนแห่งกรุงเมลเบิร์น แนะนำว่า “ขณะที่คุณอ่านหนังสือและรู้สึกง่วงนอน ให้นอนทันที อย่าผัดผ่อนว่าอ่านบทนี้ให้จบเสียก่อน เพราะเมื่อถึงเวลานั้น คุณกลับไม่ง่วงอีกต่อไป เหมือนคุณเล่นกระดานโต้คลื่นที่ต้องไวต่อคลื่นของความง่วงที่เมื่อมากระทบแล้วต้องรีบนอน เพราะไม่อย่างนั้นแล้วคลื่นลูกนั้นจะผ่านพ้นไป ต้องรอคลื่นลูกใหม่ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีก 60–90 นาทีก็ได้”
 
ภาวะขาดธาตุเหล็ก
ภาวะขาดธาตุเหล็กหรือโลหิตจางคือ การที่ร่างกายคุณมีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอสำหรับการนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ และทำให้เวียนศีรษะ ภาวะขาดธาตุเหล็กอาจมีสาเหตุจากการเสียเลือด การบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ หรือป่วยด้วยโรคที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด (septicaemia)
 
ข้อแนะนำ–บริโภคเนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อไก่ เนื้อปลา ถั่วเมล็ดแห้งและถั่วเลนทิล รวมทั้งอาหารเช้าประเภทซีเรียลเสริมธาตุเหล็ก ที่สำคัญคือ วิตามินซีในผักและผลไม้ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้คุณรับประทานธาตุเหล็กเสริมในรูปของยาเม็ดก็ได้
 
ความผิดปกติในช่องหู
Dr. Ronald McCoy แห่ง Royal Australian College of General Practitioners อธิบายว่า “ภาวะติดเชื้อในหูชั้นใน เป็นสาเหตุหลักของอาการเวียนศีรษะ และส่งผลค่อนข้างเร็ว ทำให้คุณรู้สึกว่าบ้านหมุนขึ้นอย่างฉับพลัน เพราะหูชั้นในมีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว”
 
นอกจากนี้ โรคน้ำในหูไม่เท่ากันที่เกิดกับหูชั้นในและมีอาการรุนแรงกว่ามาก ยังนำไปสู่ปัญหาการทรงตัวด้วย
 
ข้อแนะนำ–หากเกิดภาวะติดเชื้อในช่องหู ต้องรีบพบแพทย์ สำหรับโรคน้ำในหูไม่เท่ากันซึ่งไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้นั้น ยาช่วยบรรเทาอาการได้
 
โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Hayfever)
ชาวออสเตรเลียทุกหนึ่งในห้าคนป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อจมูกและ/หรือนัยน์ตาสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น และขนสัตว์ ทำให้มีอาการน้ำมูกไหล คันจมูก จาม น้ำตาไหล และเวียนศีรษะ ร่างกายสร้างเยื่อเมือกขึ้นในช่องไซนัสและหูชั้นกลาง ทำให้เกิดปัญหาด้านการทรงตัวได้เช่นกัน
 
ข้อแนะนำ–หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่กล่าวในข้างต้น และถ้าโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันของคุณ ให้พบแพทย์
 
การอดอาหาร
การอดอาหารอย่างเข้มงวด นั่นคือ บริโภควันละน้อยกว่า 4,600 กิโลจูล (ประมาณ 1,099 กิโลแคลอรี) เป็นสาเหตุให้เวียนศีรษะ เหนื่อยล้า สับสน และหนาวสั่นได้ เมื่อน้ำหนักตัวลดลง สิ่งที่ร่างกายสูญเสียก่อนคือ ของเหลว ตามด้วยไขมันและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ถ้าอดอาหารมากเกินไป จะส่งผลให้ผมร่วง เป็นนิ่วในถุงน้ำดี และประจำเดือนผิดปกติ
 
ข้อแนะนำ–อย่าทำตามโปรแกรมลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ควรตั้งเป้าให้ลดน้ำหนักได้หนึ่งถึงครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์เท่านั้น อย่าอดอาหารบางมื้อ แต่เปลี่ยนเป็นบริโภคในปริมาณลดลงแทน และบริโภคให้ครบทุกหมู่ โดยจำกัดปริมาณอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง รวมทั้งตั้งเป้าออกกำลังกายวันละอย่างน้อย 30 นาทีอย่างสม่ำเสมอ
 
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว