วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
Home > On Globalization > ฉัพพรรณรังสี

ฉัพพรรณรังสี

 
Column: AYUBOWAN
 
ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า ฉัพพรรณรังสี และคงนึกสงสัยว่ามีความหมายว่าอย่างไรบ้างไหมคะ
 
รากฐานของฉัพพรรณรังสี มีที่มาจากคำสมาสในภาษาบาลี โดย “ฉ” หมายถึง หก และ “วณฺณ” หมายถึง สี และ “รํสี” หมายถึง รังสีหรือรัศมี รวมความก็จะได้ความหมายว่า รังสี 6 สี ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นรังสีที่แผ่ออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า 
 
หากประเมินจากกรณีที่ว่านี้ อาจเรียกได้ว่าฉัพพรรณรังสี ก็คือ Aura’s Spectrum ของพระพุทธเจ้านั่นเอง ซึ่งแสงและสีทั้ง 6 นี้ ถือเป็นสีมงคลของพุทธศาสนิกชนอีกด้วย
 
เมื่อฉัพพรรณรังสี เป็นสีมงคล สำหรับพุทธศาสนิกชนแล้ว การที่ได้รับรู้ว่าสีทั้งหก ที่เรียกว่าฉัพพรรณรังสีนี้ ประกอบด้วยสีใดและมีความหมายอย่างไรกันบ้าง ก็คงเป็นสิ่งที่ศาสนิกชนผู้สนใจในธรรมควรได้ศึกษาต่อเนื่องออกไปอีกใช่ไหมคะ
 
เริ่มจากสีนีละ ซึ่งหมายถึงสีเขียวเหมือนดอกอัญชัน หรือสีน้ำเงินนั่นเอง เป็นสีที่เป็นตัวแทนและสื่อความหมายไปถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแผ่ไพศาลไปทั่วสากลจักรวาล
 
สีปีตะ หรือ สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง ซึ่งสื่อแสดงถึงมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง คือ การหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งปวง
 
ติดตามมาด้วย สีโรหิตะ หรือ สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน สื่อถึงการอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จ สมบูรณ์พร้อมด้วยสติปัญญา คุณงามความดี ความเป็นผู้มีโชคและเกียรติยศทั้งปวง
 
สีโอทาตะ เป็น สีขาวเงินยวง ที่แทนนัยความหมายแห่งความบริสุทธิ์แห่งพระธรรม ซึ่งเป็นของที่ไม่จำกัดกาล (อกาลิโก) และนำชนไปสู่ความหลุดพ้น
 
สีมัญเชฏฐะ หรือสีแสดเหมือนหงอนไก่ ซึ่งสื่อถึงพระปัญญาคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
และสุดท้ายคือสีประภัสสร ซึ่งเป็นสีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก (คือสีทั้ง 5 ข้างต้นรวมกัน) ซึ่งแทนนัยความหมายแห่งความจริงทั้งหมดในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
แนวความคิดว่าด้วยฉัพพรณรังสีนี้ ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติ ความว่า ครั้งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลา 7 วัน และเสด็จไปเสวยวิมุติสุขในสถานที่ต่างๆ ในบริเวณนั้นอีก 6 แห่ง 
 
ช่วงเวลาที่เกิดฉัพพรรณรังสีเป็นสถานที่ที่ 4 ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยมีเทวดามาเนรมิตเรือนแก้ว ถวายให้เป็นที่ประทับ เรียกว่า รัตนฆรเจดีย์ ในสถานที่นั้นพระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกอยู่เป็นเวลา 7 วัน แสงรัศมีทั้ง 6 ประการนี้พวยพุ่งแผ่ซ่านออกมาจากพระวรกายพร้อมกัน แสงรัศมีไม่ทำให้เกิดเงาและความร้อน รัศมีนี้จะเกิดขึ้นแต่เฉพาะพระพุทธเจ้าและเทวดาเท่านั้น
 
แต่สัญลักษณ์ที่ทำให้ฉัพพรรณรังสีแผ่กระจายออกสู่การรับรู้ของผู้คนทั่วไปอย่างกว้างขวาง คงต้องยกให้กับการเกิดขึ้นของธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับให้เป็นสัญลักษณ์สากลของพุทธศาสนา และใช้แพร่หลายอยู่ในเกือบทุกประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะในย่านเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกฉียงใต้
 
ประวัติการณ์แห่งการเกิดขึ้นของธงฉัพพรรณรังสีที่ว่านี้ เกี่ยวเนื่องกับวิถีความเป็นไปของพุทธศาสนาในศรีลังกาอย่างมีนัยสำคัญ และดำเนินควบคู่กับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของดินแดนที่ตกอยู่ในอาณานิคมของชาติตะวันตกเป็นเวลาเนิ่นนานกว่า 400 ปี แห่งนี้ด้วย
 
เนื่องเพราะตลอดเวลาที่ศรีลังกาตกอยู่ในภายใต้การครอบงำของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ประเพณีทางพุทธศาสนาหลายประการถูกรัฐบาลอาณานิคมสั่งยกเลิก ยังไม่นับรวมการที่พุทธศาสนิกชนถูกลิดรอนสิทธิทั้งในด้านการประกอบกิจกรรมทางศาสนาและในด้านเศรษฐกิจ 
 
โดยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะได้รับอย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาที่รัฐบาลอาณานิคมสนับสนุนในขณะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่นโยบายสนับสนุนศาสนาคริสต์ดังกล่าวของรัฐบาลอาณานิคมจะส่งผลให้ชาวพุทธจำนวนมากต้องเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กลับคืนมา
 
ความคับข้องในหมู่พุทธศาสนิกชนดังกล่าว ติดตามมาด้วยการเกิดขึ้นของคณะกรรมการป้องกันพุทธศาสนา (Buddhist Defense Committee) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2428 หรือเมื่อกว่า 130 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นตัวแทนในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันแก่ชาวพุทธศรีลังกาในสมัยอาณานิคม
 
และความพยายามที่จะหาสัญลักษณ์สากลเพื่อสื่อแสดงถึงพุทธศาสนาในบริบทที่ใกล้เคียงกับการที่ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาของคณะกรรมการฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกาที่ว่านี้ นับได้ว่าเป็นกระบวนการที่ท้าทายเจ้าอาณานิคมไม่น้อยเลย
 
ธงฉัพพรรณรังสี ได้รับการเชิญขึ้นสู่ยอดเสาครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2428 หลังจากที่ พันเอกเฮนรี สตีล โอลคอตต์ (Colonel Henri Steel Olcott) อดีตนายทหารชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการฟื้นฟูพุทธศาสนา แนะนำและปรับแก้แบบดั้งเดิม ที่ แคโรลิส ปูชิถะ คุณวรรเทนะ (Carolis Pujitha Gunawardena) ซึ่งเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการฯ ได้ออกแบบรูปลักษณ์และสีสันของธงไว้ ก่อนหน้าให้มีรูปลักษณ์และขนาดใกล้เคียงกับธงชาติ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
 
พัฒนาการของธงฉัพพรรณรังสีดำเนินสู่ยอดเสาสูงต่อมาอีกขั้นหนึ่ง เมื่อธงนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นธงของชาวพุทธทั่วโลกในการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (World Fellowship of Buddhists: WFB) ซึ่งประชุมครั้งแรกในศรีลังกา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 หรืออีก 65 ปีต่อมา
 
เดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งถือเป็นเดือน Vesak ที่รวบรวมความสำคัญและเป็นไปของพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน จึงถือเป็นวาระโอกาสครบรอบ 130 ปี ที่ธงฉัพพรรณรังสีได้เชิญขึ้นสู่ยอดเสา และครบรอบ 65 ปีที่ ธงฉัพพรรณรังสี ได้รับการสถาปนาเป็นสัญลักษณ์ของชาวพุทธนานาชาติทั่วโลก แม้ในเวลาต่อมาจะมีการตีความและปรับเปลี่ยนคู่สีไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ประเทศบ้างก็ตาม
 
กระนั้นก็ดี ธงฉัพพรรณรังสีซึ่งถือกำเนิดขึ้นในศรีลังกานี้ ก็เป็นตัวอย่างของความพยายามที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศที่เปี่ยมด้วยความหลากหลาย แม้จะไม่ใช่ประเทศพุทธศาสนาขนาดใหญ่ เพราะศรีลังกามีประชากรรวมเพียง 22 ล้านคน แต่สามารถสร้างสัญลักษณ์สะท้อนบริบทของความเชื่อถือศรัทธาให้กลายเป็นสัญลักษณ์ระดับนานาชาติได้
 
ขณะที่บางประเทศซึ่งประกาศตัวเป็นเมืองพุทธ และพยายามจะเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา ยังคงอยู่ในวังวนแห่งวัฏสงสารของการยึดโยงศรัทธาเข้ากับบุคคล อย่างที่ยากจะก้าวข้ามไปสู่ความจำเริญของสัมมาฌานที่มีความเป็นสากลได้
 
คิดแล้วก็ได้แต่ เปล่ง สาธุ ในความเป็นไปนะคะ