วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > จากอดีตสู่อนาคต “สยามแม็คโคร” ในร่มเงา ซีพี

จากอดีตสู่อนาคต “สยามแม็คโคร” ในร่มเงา ซีพี

 
ย้อนกลับในปี 2532 หรือกว่า 25 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นของศูนย์จำหน่ายสินค้าในรูปแบบ Cash and Carry ในนาม สยามแม็คโคร คงสร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการค้าปลีกไทยไม่น้อย แต่บริบทที่เกิดขึ้นกับ สยามแม็คโคร ในวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ธุรกิจค้าปลีกไทย ไปไกลเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการถึง
 
บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิก แบบชำระเงินสดและบริการตนเอง ภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” ด้วยการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2531 หลังจากที่ SHV Holding บรรษัทที่มีโครงข่ายธุรกิจหลากหลายสัญชาติจากเนเธอร์แลนด์ รุกเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกในเอเชีย ซึ่งควบคู่กับการรุกเข้าไปทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
 
การเข้ามาในเมืองไทยของบรรษัทต่างชาติอย่าง SHV ในครั้งนั้น ย่อมต้องดำเนินไปโดยมีพันธมิตรธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย เป็นส่วนหนึ่งของย่างก้าวก่อนที่จะลงหลักปักฐาน ซึ่งไม่แปลกที่ในครั้งนั้นชื่อของเครือเจริญโภคภัณฑ์จะปรากฏเป็นพันธมิตรสำคัญตั้งแต่เริ่ม
 
“25 ปีที่แล้ว กลุ่มซีพีได้ชักชวนให้ SHV Holding เปิดแม็คโครในเมืองไทย ในขณะที่ซีพี ก็เปิด 7-11  ซึ่งถือได้ว่า เราได้เป็นพี่น้องตระกูลเดียวกัน มาปีนี้เราได้มาผนวกกำลังกัน เพื่อพร้อมรับ AEC” คำกล่าวของก่อศักดิ์  ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ปรากฏอยู่ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวการซื้อสยามแม็คโคร จากกลุ่ม SHV เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2556 ซึ่งสะท้อนวิธีคิดและรากฐานความสัมพันธ์ของทั้งสองกลุ่มธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างดี และบ่งบอกนัยความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการขยายธุรกิจค้าปลีกไทยไปสู่ตลาดสากลในอนาคตได้อย่างชัดเจน
 
แม้ว่าการเข้าซื้อกิจการ Makro ในประเทศไทยของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในสายตาของผู้ประกอบการหรือนักลงทุนจำนวนไม่น้อยอาจประเมินว่าเป็นดีลที่ over price แต่สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์แล้ว พวกเขาเชื่อว่า การได้สยามแม็คโครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายธุรกิจ จะสามารถเสริมจุดแข็งและสร้างความมหัศจรรย์ของการลงทุนให้เกิดขึ้นได้
 
การทุ่มลงทุนที่ถือว่าเป็นดีลที่ยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ของสังคมธุรกิจไทย ด้วยมูลค่ารวมเป็น “เลขมงคล” กว่า 188,880 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นแม็คโครของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จากกลุ่มบริษัท เอสเอชวี โฮลดิ้ง เอ็นวี (เอสเอชวี) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และบริษัทในเครือไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้รากฐาน หากแต่เป็น “จิ๊กซอว์” ทางยุทธศาสตร์ธุรกิจตัวสำคัญของธนินท์ เจียรวนนท์ ในการขยายอาณาจักรธุรกิจอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ “ซีพี” อย่างครบวงจร โดยเฉพาะการปรับกระบวนทัพยึดทุกช่องทางค้าปลีก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจำนวนมหาศาล
 
เพราะในขณะที่แม็คโครเป็นผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์ค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตัวเอง (Cash & Carry) มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ร้านค้าปลีก ร้านโชวห่วย โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจจัดเลี้ยง (โฮเรก้า) สถาบันการศึกษา และสำนักงานต่างๆ ในรูปแบบสมาชิกจำนวนมากกว่า 2.4 ล้านคนทั่วประเทศ และยังไม่มีคู่แข่งชัดเจน การซื้อหุ้นแม็คโครจึงเท่ากับการขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการให้ซีพีทันที
 
ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอิ่มสะดวก “เซเว่น-อีเลฟเว่น” เคยกล่าวไว้ในงานแถลงข่าวการปิดดีลครั้งสำคัญเมื่อปีที่ผ่านมาว่า บริษัทได้สิทธิในการขยายสาขาภายใต้แบรนด์แม็คโครในทุกประเทศของเอเชีย ยกเว้นอินเดียที่ติดเรื่องไลเซนส์ โดยวางเป้าหมายสำคัญ คือการรุกขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสู่ทุกประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมทั้งจีน โดยเฉพาะแถบประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า
 
ทั้งนี้ แม็คโครจะเป็นช่องทางกระจายสินค้าจากไทยไปทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อขยายฐานผู้บริโภคที่มีมากกว่า 600 ล้านคน ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบเกษตร อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสินค้าหลักของเครือซีพี
 
“เราจะเอาจุดเด่น จุดแข็งของทั้ง 2 องค์กรมาสร้างสิ่งมหัศจรรย์ในการเข้าสู่ยุคเออีซี ซีพีออลล์มีจุดแข็งและความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรทั้งระดับพนักงาน และผู้บริหาร เอื้อต่อการขยายธุรกิจของศูนย์ค้าส่งแม็คโครทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ผู้ผลิตไทย สินค้าไทย โอทอปและเอสเอ็มอี จะได้ประโยชน์จากการขยายตลาดของแม็คโคร เป็นช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้า ทำการตลาดได้อย่างมีระบบไปทั่วทั้งภูมิภาค ดีลนี้เมื่อซื้อแล้วต้องไม่แพง ภายใน 2-3 ปีน่าจะคุ้มมูลค่าการลงทุน”
 
ซีพีปรับโครงสร้างกลุ่มค้าปลีกอย่างเข้มข้นในช่วง 1-2 ปี เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าภายในประเทศและต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศ และเมื่อซีพีมี “แม็คโคร” เข้ามาเติมเต็มและขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายค้าปลีกด้านอาหารที่สอดรับกันทำให้การบริหารต้นทุนต่างๆ ลดลง ซื้อสินค้าได้ถูกลง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้มากขึ้น
 
การรุกเข้าสู่ค้าปลีกขนาดใหญ่อีกครั้งในรอบนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ทดสอบครั้งใหญ่ หลังจากที่เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ซีพีออลล์ เป็นผู้ชักชวนให้แม็คโครเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยและร่วมถือหุ้น 51% ก่อนที่จะขายหุ้นดังกล่าวทิ้งไป ในห้วงเวลาใกล้เคียงกับการที่ซีพีถอยออกจาก “โลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์” ในช่วงที่เผชิญกับวิกฤตจนต้องขายหุ้นเกือบทั้งหมดให้ “เทสโก้” กลุ่มค้าปลีกจากประเทศอังกฤษ
 
แต่วันนี้ สยามแม็คโครได้กลับมาสู่ร่มเงาของเครือซีพีอีกครั้ง และกำลังจะเป็นจักรกลสำคัญในการขยายแนวรุกครั้งใหม่ให้กับเครือซีพีทั้งระบบ ซึ่งอาจเป็นการเติมเต็มชิ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่หายไปให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
อนาคตของแม็คโครจึงไม่ได้ดำเนินไปอย่างโดยเดี่ยวหากเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของจังหวะก้าวไปข้างหน้าของเครือซีพี ที่น่าสนใจติดตามไม่น้อยเลย
 
Relate Story