วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024
Home > Cover Story > CPF ปรับทัพรุกร้านอาหาร ดัน “ห้าดาว-เชสเตอร์” โตดับเบิล

CPF ปรับทัพรุกร้านอาหาร ดัน “ห้าดาว-เชสเตอร์” โตดับเบิล

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ลุยจัดกระบวนทัพธุรกิจปลายน้ำ แปลงโฉมบริษัทย่อย “ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง” เป็น “ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น” หรือ CPFGS ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ อาหารและร้านอาหารในเครือ เป้าหมายไม่ใช่แค่ความคล่องตัว ความชัดเจน แต่ต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งและเร่งเติบโตแบบดับเบิลตั้งแต่ปี 2566

ขณะเดียวกัน บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จํากัด (มหาชน) ได้ยื่นคําขออนุญาตและยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อเตรียมระดมเงินทุนก้อนใหญ่

ตามร่างหนังสือชี้ชวนของ CPFGS ระบุว่า เป้าหมายของซีพีเอฟต้องการให้ CPFGS เป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านการบริการอาหารแบบครบวงจร (food solutions) โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและบริการด้านอาหารแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านอาหารและผู้บริโภคผ่านช่องทางที่หลากหลายในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย

ธุรกิจหลักของ CPFGS แบ่งได้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อเป็ด ไข่ไก่ เนื้อกุ้ง และเนื้อปลา ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป รวมถึง ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ ไส้กรอก ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งมีแบรนด์หลากหลายมาก เช่น บุชเชอร์ (Bucher) บีเคพี (BKP) ซูเปอร์เชฟ (Superchef) มีทซีโร่ (Meat Zero) เอเอ (AA) ซีพี เวจ อิท อัพ (CP Veg It Up) มิสเตอร์แฟรงค์ (Mr. Frank) อินโน วี-เนส  (iNNO Weness)

ขณะที่มีแบรนด์รุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งเน้นการจัดจำหน่ายอาหารแปรรูปและอาหารพร้อมรับประทาน เช่น ซีพี (CP) คิทเช่น จอย (Kitchen Joy) ซีพี ออเธ็นติค เอเชีย (CP Authentic Asia) เคป เมอร์แชนท์ (Cape Merchant) กัปตันส์ แพ็ค (CAPTN’S PACK) กัปตันส์ ไพรด์ (CAPTN’S PRIDE) และคาริสมา (CARISMA)

กลุ่มที่ 2  ธุรกิจร้านอาหาร ได้แก่ กิจการห้าดาว (Five Star) ร้านเชสเตอร์ (Chester’s) ศูนย์อาหารฟู้ดเวิลด์ การให้บริการจัดเลี้ยง และร้านอาหารอื่นๆ  ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,101 แห่งทั่วประเทศไทย และกลุ่มที่ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมและอาหารสัตว์เลี้ยง แบรนด์ Jerhigh และ Jinny

แน่นอนว่า เครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่ายกว้างขวางมาก ทั้ง B2B2C, B2B และ B2C ผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี ท็อปส์ เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ ร้านในเครือเดอะมอลล์ รวมถึงลูกค้าผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง (HoReCa) ผู้ประกอบการในกลุ่มผลิตอาหาร ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีลูกค้าเชิงพาณิชย์กว่า 34,000 ราย และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าผูกพันยาวนานกว่า 20 ปี

หากดูรายได้งวดสิ้นปีที่ผ่านมา CPFGS มีรายได้รวมจากการขายสินค้า 170,830 ล้านบาท และมีกำไร 6,173 ล้านบาท โดยระหว่างปี 2563 และ 2565 รายได้และกำไรมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 18.4% และ 120.3%

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า การปรับกระบวนทัพครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ธุรกิจในอนาคตอย่างร้านอาหาร ซึ่งใช้เงินทุนสูงมากขึ้นต่อเนื่อง เพื่อขยายสาขารูปแบบใหม่ๆ และเปิดเกมรุกด้านการตลาด โดยเฉพาะห้าดาวและเชสเตอร์

ก่อนหน้านี้ซีพีเอฟปรับภาพลักษณ์และรีเฟรชแบรนด์ “ห้าดาว” ปรับชื่อแบรนด์จากไก่ย่างห้าดาว เป็น Five Star เพื่อขยายธุรกิจหลายอย่าง ไม่จำกัดอยู่แค่ไก่ย่างที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมเท่านั้น รวมทั้งต้องการสร้างความทันสมัยและความชัดเจนในการสร้างแบรนด์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งกลุ่มครอบครัวและคนรุ่นใหม่

มีการปรับโมเดลการขายแฟรนไชส์รูปแบบซุ้มสวยงามมากขึ้น 2 รูปแบบหลัก คือ 1. คีออสก์พรีเมียม พื้นที่ประมาณ 10 ตารางเมตร มีทั้งย่างกับทอด ได้ซุ้ม อุปกรณ์การขาย วัตถุดิบ และเข้าคอร์สอบรมก่อนเปิดขาย ทั้งหมดใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 บาท

2. Five Star Stand Alone ขนาดใหญ่กว่าซุ้ม พื้นที่ 9-15 ตารางเมตร มีห้องกระจกพร้อมที่นั่งรับประทานที่เรียกว่า Five Star Glass House พร้อมตกแต่ง ลักษณะให้ยืม เนื่องจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ต้องลงทุนเอง รูปแบบนี้ใช้เงินลงทุนรวม 80,000 บาท

นอกจากนั้น ขยายรูปแบบร้านอาหารที่มีร้านกาแฟสตาร์คอฟฟี่ หรือร้านอาหารตามสั่ง “กระทะเหล็ก” รวมอยู่ด้วย เพื่อเพิ่มความหลากหลาย มีเมนูสตรีตฟูดทั้งเนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อไก่ กุ้ง เช่น เมนูผัดกะเพรา ผัดคะน้า สปาเกตตี ข้าวผัด และผัดฉ่า ขนาดพื้นที่ประมาณ 20-25 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 200,000-450,000 และร้านขนาดใหญ่ พื้นที่ 50-100 ตารางเมตร ลงทุน 450,000-600,000 บาท โดยแฟรนไชส์ร้านกาแฟสตาร์คอฟฟี่ เสียค่าแรกเข้า 5,000 บาทครั้งเดียว ไม่มีค่ามาร์เกตติ้งฟี ไม่มีค่ารอยัลตี้ฟี

หากดูภาพรวมธุรกิจห้าดาวหรือ Five Star มี 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย ร้านไฟว์สตาร์ (Five Star) คือ ไก่ย่างไก่ทอดดั้งเดิม ร้านข้าวมันไก่ห้าดาว ร้านเป็ดย่างเจ้าสัว ร้านกระทะเหล็ก และร้านสตาร์คอฟฟี่  (Star Coffee)

ด้านร้านเชสเตอร์ (Chester’s) ตามแผนปี 2566 ซึ่งซีพีเอฟหมายมั่นเปิดเกมรุกมากขึ้นและคาดหวังตัวเลขรายได้เติบโตเป็นดับเบิล โดยทุ่มงบทำตลาดและเม็ดเงินลงทุนมากกว่าปกติ ทั้งการขยายสาขาเพิ่มขึ้น การใช้งบการตลาดมากขึ้น การขยายช่องทางใหม่ๆ เมนูใหม่ๆ และรุกขยายกลุ่มเป้าหมาย เพราะประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามามากขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคดีขึ้น รวมทั้งการแข่งขันของธุรกิจอาหารที่รุนแรงทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและได้รับประโยชน์มากขึ้น

เบื้องต้น บริษัทจะเปิดร้านเชสเตอร์ใหม่ไม่ต่ำกว่า 20 สาขา จากเดิมในอดีตเปิดสาขาใหม่เฉลี่ย 7-10 สาขาต่อปีเท่านั้น และขยายโมเดลใหม่ๆ หลังทดลองโมเดลแกร็บแอนด์โกรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการซื้อแบบกลับบ้านมากขึ้น

ส่วนโมเดลเดิมที่เป็นร้านขนาดใหญ่จะทยอยปรับโฉมใหม่ทั้งหมด เน้นความสดใสทันสมัย แต่ลดขนาดพื้นที่จากเดิมเฉลี่ย 200 กว่าตารางเมตร เหลือ 100 กว่าตารางเมตร เพราะธุรกิจร้านอาหารในอนาคตไม่จำเป็นต้องเปิดขนาดใหญ่ ไม่เน้นการรับประทานในร้านจำนวนมาก แต่สามารถสร้างรายได้จากการดีลิเวอรีและเทกอะเวย์เพิ่มมากขึ้น

เท่าที่เก็บข้อมูลพบว่า สัดส่วนรายได้มาจากการนั่งรับประทานในร้านกับดีลิเวอรีอยู่ที่ 50:50 เท่ากัน เพิ่มขึ้นกว่าอดีตที่ดีลิเวอรีมีสัดส่วนเพียง 20%

นอกจากกลุ่มร้านอาหารแล้ว CPFGS ยังต้องการลุยตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งถือเป็นดาวเด่นในอนาคตที่มีศักยภาพเติบโตสูง ทั้งตลาดในและต่างประเทศ โดยข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอเมริกัน วิจัยและวิเคราะห์ตลาด Frost & Sullivan ระบุภาพรวมตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโลกมียอดขายปลีก 131,000-135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 4.8 ล้านล้านบาท และเติบโตแข็งแกร่ง เฉลี่ย 5.5-5.8% ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ไม่ว่าจะเป็นพิษโควิดหรือวิกฤตเศรษฐกิจ

ที่สำคัญ หลังจากนี้ถึงปี 2569 ภาพรวมตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโลกจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 7.1% จากกระแส Humanization เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวและเต็มใจใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมียม อาหารสัตว์เลี้ยงที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงอาหารคน บวกกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือนเดี่ยวและคู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตร ซึ่งมีแนวโน้มอยากเลี้ยงสัตว์มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนครัวเรือนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง

แน่นอนว่า การที่บริษัทแม่มีฐานการผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่บวกนวัตกรรมใหม่ๆ ย่อมถือเป็นความได้เปรียบเหนือคู่แข่งด้วย.