วันพุธ, เมษายน 24, 2024
Home > On Globalization > ธุรกิจบริการขุดเจาะน้ำมันรวยเงียบและรุ่ง

ธุรกิจบริการขุดเจาะน้ำมันรวยเงียบและรุ่ง

ความสำเร็จของ Schlumberger ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสมดุลแห่งอำนาจครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน

เทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันแบบ “directional drilling” กำลังเปลี่ยนแปลงสมดุลแห่งอำนาจในธุรกิจพลังงาน เทคโนโลยีที่ว่าสามารถควบคุมทิศทางการขุดบ่อน้ำมันเป็นเส้นตรงได้ลึกหลายกิโลเมตร และสามารถเลี้ยวหักศอกเพื่อขุดต่อไปในแนวนอน ได้อีกไกลถึง 12 กิโลเมตร

ลองคิดดูเล่นๆ ว่า หาก Schlumberger บริษัทให้บริการขุดเจาะน้ำมัน (oilfield services: OFS) สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ นี้ไปประยุกต์สำหรับวางท่อส่งน้ำมันในแนวตั้งตรงดิ่งลงมาจากตึกสูงระฟ้าอย่าง Empire State จากนั้นก็หักเลี้ยวท่อน้ำมันต่อไปในแนวนอน จนไปถึงรถทุกคันที่จอดอยู่ในถนนใกล้เคียงได้ อะไรจะเกิดขึ้น

เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยขยายการทำงานของแท่นเจาะให้ครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่นบ่อน้ำมันที่ Schlumberger ขุดให้แก่บริษัทน้ำมันในแคนาดาแห่งหนึ่งมีความลึก 4,000 เมตร (13,000 ฟุต) บวกกับการเจาะในแนวนอนที่สามารถเจาะไปได้ไกลถึง 2,000 เมตร (6,500 ฟุต) ห่างจากแท่นเจาะ

นอกจากนี้อุปกรณ์ขุดเจาะที่อยู่ในเครื่องมือที่เรียกว่า drill-string ซึ่งเป็นเหล็กกล้ายังสามารถวัดและอ่านค่าต่างๆ ของสภาพแวดล้อมใต้ดินได้มากขึ้นอีกหลายสิบค่า อย่างเช่น ค่ากัมมันตภาพรังสีในหินที่อยู่โดยรอบ ค่าความต้านทานแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น นี่คือความสามารถและเทคโนโลยีขั้นเอกอุของ บริษัทประเภท OFS ซึ่งยากจะหา บริษัทใดมาเทียบได้

บริษัท OFS อย่างเช่น Schlumberger เป็นเสมือนม้าใช้ที่ปิดทองหลังพระตัวจริงในอุตสาหกรรมน้ำมันโลก บริษัทเหล่านี้รับทำงานหนักส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการสำรวจ ค้นหาและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซเกือบทั้งหมด

แต่กลับไม่เคยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เหมือนกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งเรารู้จักกันดีอย่างเช่น Exxon-Mobil หรือ BP อย่างไรก็ตาม บริษัท OFS ก็ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการมีรายได้ที่งดงามและร่ำรวยมหาศาลแบบเงียบๆ

Schlumberger ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในปารีสและฮุสตันและ มีสำนักงาน 34 แห่งในเมือง Aberdeen เมืองน้ำมันในสกอตแลนด์ มีผลกำไรสุทธิ 5,000 ล้านดอลลาร์ จากรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย 40,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีกลาย (2011) มูลค่าบริษัทตามราคาตลาดเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในเวลาเพียง 10 ปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้บริษัทมีมูลค่า 91,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังสูงกว่ามูลค่าของบริษัท น้ำมันข้ามชาติยักษ์ใหญ่บางรายที่มีชื่อเสียงมากกว่าเสียอีก ไม่ว่าจะเป็น ENI (8,200 ล้านดอลลาร์), Statoil (75,000 ล้านดอลลาร์) และConoco-Philips (71,000 ล้านดอลลาร์)

ความสำเร็จของ Schlumberger ชี้ให้เห็นว่า สมดุลแห่งอำนาจในอุตสาหกรรมน้ำมันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในอดีต บริษัท OFS เคยมีขนาดเล็กและไม่อาจเทียบชั้นกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ส่วนต่างกำไร (margin) ก็ต่ำมาก ทั้งๆ ที่ทำแต่งานหนักและแสนยาก อย่างการขุดเจาะบ่อน้ำมันเป็นแนวตรง ทว่านับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป

ราคาน้ำมันที่สูงเป็นเครื่องล่อใจให้บริษัทน้ำมันข้ามชาติ ต้องรีบเร่งตะเกียกตะกายออกสำรวจและค้นหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายแสนแพง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในการสำรวจและผลิตน้ำมันพุ่งขึ้นถึง 4 เท่าตัว แต่การผลิตน้ำมันกลับเพิ่มขึ้นเพียง 12% เท่านั้น ในระหว่างนั้นบริษัทให้บริการขุดเจาะน้ำมันหรือ OFS ซึ่งเน้นลงทุนหนักในการ พัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจและผลิตน้ำมันก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นประมาณ 10% ต่อปี จนถึงปัจจุบัน บริษัท OFS มีมูลค่ารวมกันประมาณ 750,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2011

 บริษัท OFS แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกผลิตและขายอุปกรณ์ราคาแพงที่ใช้กับแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือใต้ทะเลลึก บริษัทในกลุ่มแรกก็เช่น บริษัท FMC, Cameron และ National Oilwell Varco แต่ละแห่งล้วนเป็นบริษัทใหญ่โตที่มีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป กลุ่มที่ 2 เป็นเจ้าของและให้เช่าแท่นขุดเจาะ ได้แก่ บริษัท Transocean, Seadrill, Noble และ Rowan ส่วนกลุ่มสุดท้ายทำงานเกี่ยวกับการสำรวจ ค้นหาและผลิตน้ำมัน กลุ่มนี้มี 4 ยักษ์ใหญ่ครองตลาดอยู่คือ Schlumberger, Halliburton, Baker Hughes และWeatherford International ในปัจจุบัน บริษัท OFS ยังไม่ค่อยมีการแข่งขันกันมากนัก เนื่องจาก OFS รายใหญ่แต่ละแห่งล้วนมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ส่วนบริษัทรายเล็กๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ต่างก็มีความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะอย่าง ทำให้ไม่เป็นคู่แข่งกัน

บริษัทเหล่านี้ยังเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เห็นว่า งานขุดเจาะบ่อน้ำมันไม่คุ้มค่าที่จะต้องลงมือทำด้วยตัวเอง เนื่องจากส่วนต่างกำไรต่ำ ดังนั้น จึงตัดสินใจเลิกทำงานขุดเจาะด้วยตนเอง และหันไปว่าจ้าง บริษัทจากภายนอกให้ทำแทน นั่นก็คือโอกาสที่ทำให้บริษัทให้บริการขุดเจาะน้ำมันเริ่มเติบโตตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา และโตเร็วยิ่งขึ้นอีกในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อตลาดน้ำมันที่ตึงตัวในช่วงเวลานั้น กดดันให้ต้องแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการขุดเจาะน้ำมันให้ได้ปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันขนานใหญ่

อย่างเช่นเทคโนโลยีการสำรวจหาน้ำมัน ด้วยเทคนิคการวัด คลื่นความไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ (3D seismology) และเทคนิค การขุดเจาะแบบ directional drilling ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น เทคโนโลยีใหม่นี้ทำให้สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาจากใต้ทะเลลึก ได้มากขึ้น ทั้งยังสามารถสูบน้ำมันขึ้นมาจากบ่อน้ำมันเก่าที่น้ำมัน เกือบหมดแล้วจนถูกทิ้งร้างไปได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ประดิษฐกรรมใหม่แต่ละอย่างกว่าจะได้มาก็ต้องลงทุนลงแรงไม่ใช่น้อย Schlumberger ต้องทุ่มเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับการวิจัยและพัฒนา และไม่เคยลดเงินลงทุนต่ำกว่านี้เลย แม้ในช่วงเกิดวิกฤติการเงินโลกในปี 2008 เงินลงทุนดังกล่าวมากพอๆ กับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง ExxonMobil เลยทีเดียว จนขณะนี้บริษัท OFS กลายเป็นเจ้าของสิทธิบัตรการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านการขุดเจาะและผลิตน้ำมัน แซงหน้าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ไปแล้ว

อุตสาหกรรมน้ำมันยังดูเหมือนจะต้องพึ่งพาบริษัท OFS ที่มีมันสมองเหล่านี้มากยิ่งขึ้นอีกในภายภาคหน้า เนื่องจากบ่อน้ำมันเก่าๆ ถูกสูบน้ำมันขึ้นมาจนแทบจะหมดบ่อ ทำให้การผลิตน้ำมัน จากบ่อน้ำมันเก่าที่มีอยู่เดิมลดลง 2-6% ต่อปี โดยเฉพาะการผลิต น้ำมันในทะเลเหนือลดลงถึง 6% ต่อปี จนใครต่อใครพากันกลัวว่า จะเกิดวิกฤติน้ำมันขาดแคลนอีก และการที่ราคาน้ำมันมีแต่แพงขึ้นทุกวัน (น้ำมันดิบ Brent ราคาประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา) รวมไปถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา (ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1-2% ต่อปี) ปัจจัยเหล่านี้กำลังกดดันให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต้องเร่งสำรวจและค้นหาน้ำมันในพื้นที่ห่างไกลและยากต่อการสำรวจ อย่างเช่นในทวีปอาร์กติก และใต้ทะเลลึกนอกชายฝั่งประเทศบราซิล เป็นต้น

แต่การจะเข้าไปถึงสถานที่อันไกลโพ้นนั้นได้ แน่นอนว่าจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสำรวจและขุดเจาะน้ำมันที่ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องมาพร้อมกับค่าบริการสำรวจและขุดเจาะ น้ำมันที่แพงระยับ เพราะต้องใช้เทคโนโลยีขุดเจาะที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนแท่นขุดเจาะใต้ทะเลลึกที่ต้องเสียค่าเช่าแพง ซึ่งมีบริษัท OFS เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีศักยภาพสูงพอจะให้บริการ สำรวจและค้นหาแหล่งน้ำมันในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี ที่ซับซ้อนได้ ทำให้จำนวนบริษัท OFS เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่สูงกว่ามากได้

ในช่วงเวลาที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง Exxon หรือ BP กำลังถูกบริษัท OFS แย่งอำนาจในอุตสาหกรรมน้ำมันอยู่นี้เอง ก็ยังต้องมาเจอคู่แข่งใหม่ที่น่ากลัวพร้อมกันอีก เมื่อรัฐวิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติ ยักษ์ใหญ่ตัวจริงในอุตสาหกรรม เพิ่งก้าวขึ้นมาเบ่งกล้ามโชว์ความใหญ่โตที่แท้จริงบนเวที หลังจากที่ได้คุยอวดมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นเจ้าของบ่อ น้ำมันเก่ามากที่สุด โดยที่บรรดาบริษัท OFS นั่นเองที่ทำให้รัฐวิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติเหล่านี้ มีบ่อน้ำมันอยู่ในครอบครองมากที่สุด

ครั้งหนึ่งรัฐวิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติเคยต้องพึ่งพิงว่าจ้างให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของเอกชนทำงานให้ แต่มาวันนี้พวกเขาสามารถบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ได้ด้วยตนเองแล้ว และยังหวนไปว่าจ้างบริษัท OFS โดยตรง ให้ทำงานทางด้านเทคนิคให้ โดยไม่จำต้องผ่านบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เอกชนเหมือนในอดีตอีกต่อไป การจับมือระหว่างรัฐวิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติกับบริษัท OFS เช่นนี้ บางครั้งมีลักษณะของการแบ่งความรับผิดชอบในการแบกรับความเสี่ยง คล้ายๆ กับการร่วมทุนปกติระหว่างบริษัทน้ำมันเหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่นการที่ Schlumberger ยอมรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบ payment-for-performance ในสัญญาจ้างงาน ขนาดใหญ่กล่าวคือ หากบริษัทสามารถขุดเจาะน้ำมันจากบ่อน้ำมันได้มากกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา ก็มีสิทธิ์เรียกค่าตอบแทนที่สูงขึ้นได้ บริษัท OFS บางแห่งยังก้าวหน้าถึงขนาดเข้าไปถือหุ้นบางส่วนในโครงการสำรวจค้นหาแหล่งน้ำมันด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังไม่ปักใจว่าบริษัทให้บริการขุดเจาะน้ำมัน หรือ OFS ที่กำลังรุ่งสุดขีดในขณะนี้จะสามารถสั่นสะเทือนอำนาจของบริษัทน้ำมันข้ามชาติยักษ์ใหญ่ได้ แม้ว่าในวันนี้ OFS จะสามารถแย่งเอาเทคโนโลยีการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันที่ซับซ้อนไปเป็นของตัวเองได้เกือบหมดแล้ว จนรัฐวิสาหกิจ น้ำมันแห่งชาติไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของบริษัทน้ำมันข้ามชาติอีกต่อไป นอกจากนี้ OFS ยังเต็มใจยอมมีส่วนร่วมแบกรับความเสี่ยงในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันเช่นเดียวกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติอีกด้วย

แต่นักวิเคราะห์ก็ยังเห็นว่ายังเร็วเกินไปที่จะโบกมือลาบริษัท น้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างเช่น Exxon เพราะแม้บริษัท OFS รายใหญ่อย่างเช่น Schlumberger จะมีรายได้มหาศาลจากสัญญาการจ่าย ค่าตอบแทนตามประสิทธิภาพ (performance-based contract) ดังที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับการได้เป็นเจ้าของ ครอบครองแหล่งสำรองน้ำมันเอง ซึ่ง Schlumberger เองเคยยืนยันแล้วว่า ไม่เคยคิดจะเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันแบบบริษัทน้ำมันข้ามชาติแต่อย่างใด

นอกจากนี้บริษัท OFS ยังเทียบกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ไม่ได้ ในอีกหลายด้าน OFS ขาดสินทรัพย์จำนวนมหาศาล เท่ากับที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่มี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการบริหารความเสี่ยงที่สูงมากในการสำรวจหาแหล่งน้ำมัน บริษัท OFS ยังไม่มีความชำนาญเท่ากับ Exxon ในการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ บริษัท OFS ก็ยังลังเลที่จะทำตัวเป็นคู่แข่งกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ซึ่งก็คือลูกค้าของพวกเขาเอง สิ่งสุดท้ายที่ OFS ยังขาด คือทักษะการเลือกว่าจะสำรวจหาน้ำมันในพื้นที่ใด และจะสำรวจอย่างไร ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ยุ่งยากมากกว่าที่คิด และเป็นความเชี่ยวชาญที่เป็นจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่

ดังนั้น Schlumberger จึงตัดสินใจมุ่งที่จะก้าวเดินไปในทางที่ตนถนัดที่สุด นั่นคือการพัฒนาเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมันให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และช่วงนี้ก็กำลังขะมักเขม้นกับการกว้านซื้อ know-how มาเก็บไว้กับตัวให้มากที่สุด อย่างเช่นการซื้อ Smith Internationalบริษัทผลิตหัวเจาะในสหรัฐฯ ด้วยเงิน 11,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อจะทำให้ตัวเองเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการสำรวจและ ผลิตน้ำมันให้มากที่สุด เพราะ Schlumberger กำลังคิดการใหญ่ ที่จะรื้อปรับระบบ (re-engineering) กระบวนการสำรวจและผลิต น้ำมันทั้งกระบวนการ

รางวัลที่ OFS จะได้รับในการมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพก็คุ้มค่า เงินทองที่จะไหลมาเทมาไม่แพ้ปริมาณน้ำมันที่ไหลออกมาจากบ่อน้ำมันที่พวกเขาเป็นผู้ลงมือขุด และรายได้จากค่าเช่าแท่นขุดเจาะน้ำมันใต้ทะเลลึกขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บค่าเช่าได้แพงถึงวันละครึ่งล้านดอลลาร์ ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือนจึงจะขุดบ่อน้ำมันได้สำเร็จ ยิ่งบริษัท OFS  รายใดสามารถลดเวลาการขุดให้น้อยลงกว่านี้ได้อีก ความร่ำรวยและรุ่งโรจน์ก็อยู่เพียงแค่เอื้อมเท่านั้น

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง อิโคโนมิสต์