วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > Cover Story > ASAVA หวังดันแฟชั่นไทย สวนกระแสเศรษฐกิจ

ASAVA หวังดันแฟชั่นไทย สวนกระแสเศรษฐกิจ

 
ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ร้อนแรงในขณะนี้ที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจหลายประเภท ธุรกิจแฟชั่นแม้จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่กระนั้นธุรกิจนี้ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง
 
“ธุรกิจแฟชั่น เป็นธุรกิจที่หยุดนิ่งไม่ได้  ต้องรู้จักบริหารค่าใช้จ่ายต้นทุน แต่ไม่ควรหยุดกิจกรรมต่างๆ ของแบรนด์ เพราะจะทำให้กระแสนิยมหายไป”  
 
พลพัฒน์ อัศวประภา เจ้าของแบรนด์อาซาว่า (ASAVA) และ เอเอสวี (ASV) แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น ระดับพรีเมียม ได้กล่าวในการเปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่
             
ทั้งนี้ จากภาพรวมของธุรกิจแฟชั่นของประเทศไทย เมื่อปีที่ผ่านมา ถือว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลุ่มเป้าหมายแต่ละแบรนด์อยู่ที่วัยทำงาน ที่มีอำนาจในการจับจ่ายสูง และมีจำนวนคนมากขึ้น ทำให้แฟชั่นไทยได้รับความนิยมมาก ประกอบกับคนไทยเปลี่ยนจากการนิยมแบรนด์นอกหันมาสวมใส่เสื้อผ้าแบรนด์ไทยมากขึ้น ทำให้ตลาดแฟชั่นไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง  
 
ในขณะที่อาจมีมุมมองที่ว่าเสื้อผ้าแฟชั่นไม่ใช่ธุรกิจที่มีความสำคัญมากเท่าไหร่กับวิถีชีวิต แต่ขณะเดียวกันกับเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่ง ณ ปีที่ผ่านมาตลาดเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าที่สูงถึง 86,000 ล้านบาท  
 
ตลาดแฟชั่น ณ ปัจจุบัน นอกจากจะมีการแข่งขันชิงตลาดกันเองแล้ว ยังต้องแข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติที่ตบเท้าเข้ามาช่วงชิงตลาดในไทย เช่น CK, DKNY, MNG เป็นต้น
 
ในขณะที่แบรนด์ต่างชาติจะมีความพร้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะทั้งเงินทุน พนักงานมืออาชีพ และระบบการจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกแบรนด์ต้องมีการตื่นตัว ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงทั้งในและต่างประเทศ ทุกแบรนด์ ต้องมีการวางแผนธุรกิจ ทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงของตลาด ทั้งนี้ เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ดีไซเนอร์ไทยต้องมองภาพรวมของธุรกิจมากขึ้น งานออกแบบไม่ใช่เพียงธุรกิจแบบห้องเสื้อ แต่ต้องลงทุนสร้างตลาดทั้งในและต่างประเทศ และต้องมีการบริหารการจัดการในด้านต่างๆ เช่น การผลิต การตลาด และการประชาสัมพันธ์ 
 
“อาชีพนี้ถ้าไม่รักก็อยู่ไม่ได้ จากเดิมเรามองจากตัวเรา แต่ ณ ตอนนี้ องค์กรเราต้องขยับขึ้นไป ฉะนั้นเราก็ต้องลงทุน ไม่ว่าจะเป็นด้านคน หรือระบบการจัดการต่างๆ ซึ่งการปรับองค์กรนั้น นอกจากจะใช้เงินทุนแล้ว เราต้องใช้พลังอย่างมหาศาล ผมคิดว่าภายใน 3 ปี บริษัทที่ปรับตัวไม่ได้จะลำบาก เพราะธุรกิจแฟชั่น เติบโตแบบก้าวกระโดด ทุกธุรกิจ มีช่องโหว่ แบรนด์อาซาว่ามีมา  5 ปี เรารู้ว่าจุดบกพร่องเราอยู่ตรงไหน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจไม่สำเร็จดังใจ จากปัจจัยหลายๆ อย่าง  ซึ่งทำให้เราต้องมีการลงทุนอย่างรอบคอบ” พลพัฒน์กล่าว
 
ในขณะที่ปัจจุบันตลาดต่างประเทศไม่หอมหวนเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน แม้แนวโน้มเศรษฐกิจของอเมริกาหรือ ยุโรปอาจจะดีขึ้น แต่ตอนนี้ตลาดแรงซื้อได้ย้ายมาทางเอเชียเป็นส่วนใหญ่ 
 
แม้ประเทศไทย จะมีความโดดเด่น ในด้านการรับจ้างผลิต มากกว่าการออกแบบ ซึ่งไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมควร ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของอาเซียน ทั้งนี้ จากปีที่แล้ว มูลค่าตลาดของการส่งออกของการผลิตเครื่องนุ่งห่ม (OEM ) มีมูลค่าสูงถึง  83,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วน การรับจ้างผลิต ร้อยละ  90 แต่มีแนวโน้มลดลง และร้อยละ 10 จะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ออกแบบโดยคนไทย ซึ่งตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า การออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้านั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง  
 
ในขณะที่แบรนด์แฟชั่นไทยจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าคนไทยได้ และทำให้เกิดความได้เปรียบในสากล เพราะในปัจจุบันแฟชั่นไทยมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจน ทั้งนี้ถ้าแบรนด์ไทยมีความแข็งแกร่งจะสามารถสร้างกระแสเทรนด์ไทยได้ เหมือนกับเทรนด์ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
 
“ธุรกิจแฟชั่น หัวใจสำคัญคือโรงงานการผลิต ทั้งนี้ การเปลี่ยนจากประเทศผู้ผลิตไปสู่การสร้างแบรนด์ ค่อนข้างยาก เพราะเป็นศาสตร์ที่อ่อนไหว” พลพัฒน์กล่าว    
 
ในขณะที่อาซาว่าแบรนด์แฟชั่นไทย ที่มีแนวทางการทำธุรกิจด้วยการแตกไลน์ มีแบรนด์ลูก คือเอเอสวี โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายและโพซิชั่นนิ่งอย่างชัดเจน โดยแบรนด์อาซาว่าจะเน้นกลุ่มลูกค้าพรีเมียม  ในขณะที่เอเอสวีจะจับกลุ่มลูกค้ารองลงมา ในขณะที่ภายในปีนี้อาจจะมีการเปิดแบรนด์ใหม่ ซึ่งจะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชาย และเน้นจับกลุ่มลูกค้าผู้ชายวัยทำงานเป็นหลักเช่นกัน
 
สำหรับกลยุทธ์การตลาดในการขยายฐานลูกค้าของอาซาวาที่จะนำมาในปีนี้ ทั้งนี้เพื่อรุกตลาดในวงกว้างมากขึ้นโดยการปรับราคาสินค้าลง ในขณะที่สินค้าไม่ได้ด้อยคุณภาพลงเหมือนราคา  
 
สำหรับแผนการทำตลาดในปีนี้ อาซาวาตั้งเป้าไว้ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะสวนกระแสของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และท่ามกลางเหตุการณ์การเมืองที่ค่อนข้างร้อนแรง และยังหาบทสรุปไม่ได้ โดยแผนดังกล่าวเป็นแผนงานที่อาซาวาได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และต้องรุกตลาดตามแผนที่วางไว้ ตั้งแต่ปี 2012 แต่ทั้งนี้อาจมีการทบทวนเรื่องการลงทุนให้รอบคอบขึ้น แต่ไม่หยุดการขยายตลาดแน่นอน 
 
“ธุรกิจแฟชั่นมีการแข่งขันที่สูงมาก เราจึงพยายามสร้างความเคลื่อนไหวและรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นผู้บริโภค ถึงแม้ว่าธุรกิจสินค้าแฟชั่นจะไม่เน่าไม่เสียก็จริง แต่ก็ต้องตาม trend ตามกำหนดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องกระจายสินค้าออกสู่ตลาดในช่วงเวลากำหนด ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณา จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้สินค้าออกสู่ตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราได้อย่างรวดเร็ว แม้จะต้องแลกกับต้นทุนในการประชาสัมพันธ์ที่สูงด้วยเช่นกัน” พลพัฒน์กล่าวปิดท้าย