วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > นิทรรศการอารต์นูโว

นิทรรศการอารต์นูโว

Pinacothèque เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนย่านปลาซ เดอ ลา มาดแลน (Place de la Madeleine) จัดนิทรรศการอยู่เนืองๆ จึงเป็นโอกาสให้แวะเวียนไป ในฤดูใบไม้ผลิปี 2012 เป็นนิทรรศการ Art nouveau, la révolution décorative ขึ้นจากสถานีรถใต้ดิน เห็นร้านโฟชง (Fauchon) Pinacothèque อยู่ตรงหน้า

 

เคยชมนิทรรศการของเรอเน ลาลิค (René Lalique) แล้วชอบมาก เครื่องประดับและแจกันสวยสไตล์ Art nouveau พบว่าตนเองชอบ Art nouveau มากเพราะดูอ่อนช้อยดี

 

Art nouveau เป็นศิลปะกระแสที่กำเนิดตอนปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เฟื่องฟูอยู่ราวสองทศวรรษ 18901910แล้วก็จางหายไป เปิดทางให้อารต์เดโก (art déco) เข้ามาแทนที่ Art nouveau มิได้มีแต่ภาพเขียน หากแทรกซึมไปในชีวิตประจำวันด้วย ศิลปะบนเครื่องเรือน เครื่องแก้ว เซรามิก เครื่องประดับหรือแม้แต่สถาปัตยกรรม ได้ความบันดาลใจจากธรรมชาติ ต้นไม้ใบหญ้า แมลง ดอกไม้ สัตว์อื่นๆ ในฝรั่งเศสบางครั้งเรียกสไตล์กีมารด์ (Guimard) ตามชื่อเอกตอร์ กีมารด์ (Hector Guimard) ผู้ออกแบบลายเหล็กตรงทางขึ้นลงสถานีรถไฟบางแห่ง และอาคารชื่อ Castel Béranger

 

จุดเริ่มต้นของ Art nouveau มาจากกลุ่ม Arts and crafts ในอังกฤษ ซึ่งต่อต้านความเติบโตของอุตสาหกรรม ประกอบกับภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นจากผลงานของจิตรกรอย่างโฮกูไซ (Hokusai) เผยแพร่เข้ามาในยุโรป ภาพธรรมชาติซึ่งมีอิทธิพลต่อศิลปะแบบ Art nouveau

 

Art nouveau เกิดในบรัสเซลส์ในปี 1893 โดยวิกตอร์ ออร์ตา (Victor Horta) ซึ่งสร้างโรงแรม ตัสเซล (Hôtel Tassel) ซึ่งถือเป็นอาคารสไตล์ Art nouveau แห่งแรก ใช้เหล็ก กระจกสี เซรามิก และภาพเฟรสโก

 

เอ็ดมงด์ ปิการด์ (Edmond Picard) เป็นผู้ใช้คำว่า art nouveau เป็นคนแรกในนิตยสารของเบลเยียมในปี 1894เพื่อเรียกผลงานของอองรี วาน เดอ เวลด์ (Henry Van de Velde) ในฝรั่งเศสเห็นคำนี้ครั้งแรกเมื่อซิกฟริด บิง (Siegfried Bing) เปิดอาร์ตแกลเลอรีชื่อ Maison de l’Art Nouveau ในปารีส แสดงผลงานของอาร์ติสต์อย่างโอกุสต์ โรแดง (Auguste Rodin) หลุยส์ คอมฟอร์ต ทิฟฟานี (Louis Comfort Tiffany) อองรี เดอ ตูลูซ โลเทรก (Henri de Toulouse-Lautrec) เป็นต้น

 

ในฝรั่งเศส Art nouveau มีศูนย์กลางที่เมืองนองซี (Nancy) เรียก Ecole de Nancy สืบเนื่องจากการที่ชาวลอแรน (Lorraine) ไม่ชอบใจที่เยอรมนีผนวกแคว้นนี้เข้ากับประเทศตน จึงอพยพมายังเมืองนองซี ช่างฝีมือสไตล์ Art nouveau รวมตัวเป็น Ecole de Nancy มีเอมีล กัลเล (Emile Gallé) หลุยส์ มาฌอแรล (Louis Majorelle) วิกตอร์ พรูเว (Victor Prouvé) ฌาคส์ กรูเบอร์ (Jacques Grüber) โดม แฟรส์ (Daume Frères) เป็นหลัก อาคารในนองซีเป็นสไตล์ Art nouveau ถึง 20 หลัง

 

สไตล์ Art nouveau ได้รับอิทธิพลจากผลงานของอาร์ติสต์ชาวเช็คชื่อ อัลฟงส์ มูชา (Alfons Mucha) ซึ่งออกแบบโปสเตอร์โฆษณาละครเรื่อง Gismonda เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1895 ละครเรื่องนี้นำแสดงโดยซาราห์ เบิร์นฮาร์ด (Sarah Bernhardt) จึงเรียกสไตล์ มูชา (style Mucha) ซึ่งต่อมาเรียก Art nouveau จึงไม่แปลกที่ซาราห์ เบิร์นฮาร์ดจะเป็นแบบให้อาร์ติสต์ Art nouveau รังสรรค์ผลงานออกมา

 

Art nouveau แพร่หลายในยุโรป มีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น ในเยอรมนี Jugendstil สืบเนื่องจากนิตยสาร Jugend เผยแพร่ศิลปะกระแสนี้ ในเนเธอร์แลนด์เรียก Nieuwe kunst ในอังกฤษเรียก Liberty style ตามชื่อห้าง Liberty และอีกหลายประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี สเปน สวิส ฮังการี เช็ค นอร์เวย์ รัสเซีย เป็นต้น

 

งานศิลป์ Art nouveau นำไปแสดงที่งานเอ็กซ์โปนานาชาติปี 1900 ที่ปารีส ประตูทางเข้าของงานเป็นสไตล์ Art nouveau ผลงานของเรอเน บิเนต์ (René Binet) ซึ่งได้รับอิทธิพลของแฮเกล (Haeckel) ปรากฏว่ามีผู้วิพากษ์แรง เรียกสไตล์นี้ว่า style nouille สไตล์บะหมี่ เสียงวิจารณ์ทำให้อาร์ติสต์ค่อยๆ ปรับตัว จาก style de la liberté สไตล์แห่งเสรีภาพ ค่อยๆ พันผูกไปกับรูปทรงเรขาคณิต และนำไปสู่ยุคอารต์ เดโก (art déco) เมื่อถึงทศวรรษ 1920ต่อเมื่อทศวรรษ 1930 จึงมีผู้เห็นคุณค่า จิตรกรดังอย่างซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ได้เขียนถึงงานของอันโตนี เกาดี้ (Antonio Gaudi) และเอกตอร์ กีมารด์ในนิตยสาร Minotaur โดยมีบราสซาย (Brassaï) เขียนรูปประกอบ และซัลวาดอร์ ดาลีขอให้บราสซายเขียนเกี่ยวกับผลงานของเอกตอร์ กีมารด์ และแมน เรย์ (Man Ray) เขียนเกี่ยวกับอันโตนี เกาดี้ อาร์ติสต์ Art nouveau ชื่อดังของสเปน

 

L’art nouveau, la révolution décorative เป็นชื่อนิทรรศการที่ Pinacothèque นำผลงานกว่า 200 ชิ้นมาแสดง มีทั้งภาพเขียนที่มีเส้นสายชดช้อย ให้ภาพโรแมนติก เขียนรูปผู้หญิงกับพืชพันธุ์ไม้ สวยถูกใจทีเดียว เครื่องประดับของเรอเน ลาลิคและอาร์ติสต์อื่นๆ โคมไฟแก้วและโลหะรูปทรงแปลกตา เครื่องเรือน เครื่องแก้วที่มีแจกันเป็นหลัก ภาพพิมพ์บนไม้ตามแบบญี่ปุ่น โปสเตอร์โฆษณาการแสดงหรืองานต่างๆ ผลงานของเออแจน กราสเซต์ (Eugène Grasset) เตโอฟิลอเล็กซองดร์ สไตน์ไลน์ (Théophile-Alexandre Steinlein) ฌอง การีแอส (Jean Carriès) แอร์เนสต์ ชาเปลต์ (Ernest Chaplet) พี่น้อง โดม (Daum) โอกุสต์ (Auguste) และอองโตแนง (Antonin) จอร์จส์ เดอ เฟอร์ (Georges de Feure) วาน เดอ เวลด์ (Van de Velde) เอกตอร์ กีมารด์ (Hector Guimard) อัลฟงส์ มูชา (Alfons Mucha) เอมีล กัลเล (Emile Gallé) กุสตาฟ คลิมต์ (Gustave Klimt) บูกัตติ (Bugatti)

 

สังเกตว่านอกจากดอกไม้ ต้นไม้ แมลงและสัตว์ต่างๆ แล้ว อาร์ติสต์ Art nouveau ยังชอบนำผู้หญิงสร้างสรรค์ผลงาน ภาพเขียนสาวที่มีผมยาวไหลเลื้อย ทั้งภาพเขียนและประติมากรรม สาวดังในยุคนั้นเป็นแบบให้ เช่น ซาราห์ เบิร์นฮาร์ด (Sarah Benrhardt) ลิอาน เดอ ปูจี (Liane de Pougy) โลอี ฟุลเลอร์ (Loïe Fuller) เคลโอปาทร์ดิอาน เดอ เมโรด (Cléopâtre-Diane de Merode)

 

มองเห็นความวิจิตรบรรจงของผู้คนในยุคนั้น