วันอังคาร, เมษายน 16, 2024
Home > Life > ความสุขจากการอ่าน

ความสุขจากการอ่าน

หลังจากที่กรุงเทพมหานคร ประกาศตัวเป็นเมืองแห่งการอ่าน บรรดาชาวคณะของเราในกองบรรณาธิการ ผู้จัดการ 360 ก็ตั้งปณิธาณจะขอร่วมด้วยช่วยกันเป็นช่องทางเล็กๆ ในการแนะนำหนังสือน่าอ่านและชวนอ่านให้กับทุกท่านผ่านหน้าเวปไซต์แห่งนี้นะคะ
 
หลังจากตั้งท่าเตรียมการกันมาเนิ่นนาน วันนี้คุณบรรณาธิการใจดี หยิบหนังสือจากเครือข่ายพุทธิกาส่งมาให้สองเรื่องควบเลยค่ะ เป็นหนังสือแนวธรรมะ ชื่อ “อยู่ทุกที่ ก็…มีสุข” และ “เจอทุกข์…ใจไม่ทุกข์” โดยท่านเจ้าคุณ พระไพศาล วิสาโล เป็นหนังสืออ่านง่าย แถมรูปเล่มก็น่ารัก
 
เนื้อหาในหนังสือ “อยู่ทุกที่ ก็…มีสุข” เน้นย้ำการนิยามความสุขว่าเกิดขึ้นกับตัวเราทุกที่ ทุกขณะ ไม่ได้เกิดขึ้นจากปฏิกริยาหรือสิ่งเร้าจากภายนอก อย่างที่หลายคนไปหลงเข้าใจ
 
“คนจำนวนมากเข้าใจว่า ความสุขอยู่นอกตัว แต่ถ้าเรา ใคร่ครวญให้ดี ก็จะรู้ว่าความสุขอยู่กับตัวเราแล้วทุกขณะ แม้กระทั่งตอนนี้ และเดี๋ยวนี้”

บทเกริ่นนำในหน้าแรกเริ่มต้นขึ้น ก็พลันให้นึกถึงคำสอนของท่านเจ้าคุณพุทธทาส อินทปัญโญ ว่าด้วยเรื่อง “ที่นี่ และเดี๋ยวนี้” ขึ้นมาจับใจ
 
เมื่อได้อ่านผ่านลึกเข้าไปข้างใน พบเจอกับข้อความ “ความทุกข์ความสุขไม่ได้เกิดขึ้น เพราะสถานที่เพียงอย่างเดียว มันไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แต่มันอยู่ที่ตัวเรา” ยิ่งทำให้นึกถึงเพื่อนฝูงที่ยังติดบ่วงห้วงกรรม ด้วยการเสาะแสวงหาสถานที่นั่งดื่มนั่งเสพ ด้วยหวังจะลดทอนความทุกข์แต่กลับทุกข์หนักกว่าเดิมอีกหลายครั้งไม่น้อยนะคะ
 
ยิ่งในยุคสมัยที่ โซเชียลมีเดีย กำลังทำหน้าที่ส่งเสริมให้ต้อง “อัพเดท สเตตัส” ปล่าวร้องให้ผู้คนในแวดวงได้รู้จุดรู้ตำแหน่งว่าอยู่ที่ไหนแล้ว ยิ่งเห็นความกระจ่างในเรื่องที่ว่านี้เข้าไปอีกนะเจ้าคะ
 
เพราะบางครั้งบางที หลงเข้าไปอยู่ในมุมอับ ไม่สามารถใช้อาวุธสื่อสารในระบบ 3G-WiFi ได้ขึ้นมาก็ถึงกับเป็นทุกข์เป็นร้อนกันโดยไม่ได้นัดหมายกันเลยทีเดียว
 
สาเหตุที่ทำให้เป็นทุกข์กันโดยทั่วหน้า พระไพศาล ชี้ว่า เกิดขึ้นจากเรื่องง่ายๆ คือการไม่ยอมรับความจริง ก็เพราะหนึ่ง ผู้คนส่วนใหญ่ “อาลัยในอดีต” และสอง “กังวลกับอนาคต” ฟังดูคล้ายกับสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังเผชิญอยู่ยังไงก็ไม่รู้นะคะ…ว่าไหม
 
ทางออกที่จะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ที่ว่านี้ จึงต้องเร่งเสริมภูมิคุ้นกันด้วยการ ฝึกยอมรับความเป็นจริง เพราะเมื่อเรายอมรับความเป็นจริงได้ เราก็จะเปิดใจกว้างรองรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังเดินทางเข้ามาสู่ชีวิต และเราก็จะสามารถ “มีความสุขได้ทุกที่ มีความสุขได้ทุกสถานการณ์ นี่เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้และควรทำทุกเวลาด้วย”
 
อ่านผ่านเล่มแรกไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังติดใจว่าแล้วเราจะหาหนทางขจัดทุกข์ ที่เป็นภัยรบกวนจิตใจได้อย่างไร จึงหันไปหา “เจอทุกข์…ใจไม่ทุกข์” ขึ้นมาอ่านเพื่อหาคำตอบเป็นเล่มถัดไปไม่ชักช้า
 
เล่มนี้ต่างจากเล่มแรกตรงที่ พระไพศาลใช้วิธี “สาธก” ยกเป็นเรื่องเล่า คล้ายประหนึ่งจะเป็น case study ว่าด้วยเรื่องความทุกข์ และการรับมือกับความทุกข์แบบง่ายๆ สไตล์พุทธศาสนิกแบบไทยกัน
 
เริ่มจากระดับ “ความชินทำให้ไม่ทุกข์” ฟังดูอย่างนี้คล้ายจะบอกให้ ไม่ต้องทำการณ์สิ่งใด เพราะเดี๋ยวก็ชินจนลืมความทุกข์ไปเอง เข้าใจว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยคงรับธรรมข้อนี้มาใส่เกล้าไว้นานแล้ว เพราะทุกคนยังยิ้มได้เมื่อเจอสภาพการจราจรติดขัดเป็นจลาจล ที่แท้ชาวเราก็ชินไปแล้วนี่เอง เลยไม่ทุกข์
 
ถัดมาเป็นเรื่องของ “ไม่ทุกข์เพราะมองแง่บวก” คือ มองว่า อะไรจะเกิดขึ้นก็ดีทั้งนั้น ดีที่ไม่แย่ไปกว่านี้ การมองแบบนี้คงช่วยคนไทยให้หายทุกข์ไปได้มากทีเดียวเพราะ หากจะมีเหตุการณ์ใดๆ ก็คงไม่เหลือพื้นที่ให้ความเลวร้าย เพราะดีที่ไม่แย่ไปกว่านั้นแล้ว เช่นกัน
 
และสุดท้าย “สติรักษาใจ” ข้อนี้เป็นการเน้นที่จะต้องเจริญสติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้เราฉลาดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการรู้เท่าทันใจและอารมณ์ของเราเอง การแก้ไขความทุกข์ในข้อนี้ สอดรับกับเรื่องที่ “คนส่วนใหญ่คิดแต่การแก้ไขภายนอก แทนที่จะใช้ปัญญาภายในตัวเราเองแก้ไขความทุกข์”
 
บทสรุปส่งท้ายจึงเน้นว่า หากจะแก้ไขความทุกข์ต้องแก้ไข ด้วยธรรมะ ต้องอาศัยสติ และปัญญา
 
ถ้าในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ท่านผู้อ่านยังไม่มีภารกิจไปที่ไหน ลอง อัพเดท สเตตัส ว่าอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน ดูบ้างก็คงเก๋ไก๋ไปอีกแบบ โดยเฉพาะ “อยู่ทุกที่ ก็…มีสุข” และ “เจอทุกข์…ใจไม่ทุกข์” ซึ่งคงช่วยให้ท่านผู้อ่านสุขกายสบายใจไม่ต้องระเห็จออกไปนอกเมือง เพื่อปีนป่ายหน้าผาสูงชันหรือรอรับลมอยู่ริมทะเลนะคะ