วันพฤหัสบดี, กันยายน 12, 2024
Home > New&Trend > ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนา Asia PKI Consortium ผนึกกำลัง รับมือความเสี่ยงการใช้เทคโนโลยี ให้ทันท่วงที อย่างมั่นคงปลอดภัย

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนา Asia PKI Consortium ผนึกกำลัง รับมือความเสี่ยงการใช้เทคโนโลยี ให้ทันท่วงที อย่างมั่นคงปลอดภัย

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ร่วมมือกับ Business and Application Working Group ภายใต้ Asia PKI Consortium (APKIC) จัดงานสัมมนาเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ในหัวข้อ “The Common Denominators–Collaboration of Cross-Region on e-Government Application, Cloud Computing and Security” ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนา มีสมาชิก Asia PKI Consortium จากต่างประเทศเข้าร่วม อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า รวมทั้งประเทศอื่นๆ เช่น บังกลาเทศ
 
จรัมพร โชติกเสถียร ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคุณสุรางคณา วายุภาพ Chairperson of Thailand PKI Association & Vice Chair of APKIC, Mr.Philip Leung APKIC Chairperson และ Ms.Karen Chang Leader of Business Case/Application Working Group, APKIC ร่วมงาน ณ ห้องกมลทิพย์  โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
 
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ.และดำรงตำแหน่ง Vice Chair of APKIC ระบุว่า ปัจจุบันแนวโน้มการใช้งานอินเตอร์เน็ต และมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือซึ่งทำให้เกิดปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้พฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงไป และข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถูกใช้งาน รวมทั้งการส่งต่อผ่านระบบเครือข่ายจะมีมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจมีประโยชน์ในบางกรณี เช่น การนำข้อมูลธุรกรรมการใช้บัตรเครดิตซึ่งมีปริมาณมากมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมการขายให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
 
“แต่ก็มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยซึ่งแฝงอยู่ซึ่งผู้ใช้งานอาจไม่ทราบหรือไม่ได้ตระหนักว่ามีความเสี่ยง ไม่ระวังในการให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับผู้ประสงค์ร้าย อาจทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกล่วงรู้หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อทรัพย์สินหรือชื่อเสียง ปัญหาเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาระดับนานาชาติเลยทีเดียว เพราะผู้ใช้งานไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดสามารถประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ได้”
 
ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการรวมกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้สนใจในประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ จากนานาประเทศ อาทิเช่น กลุ่ม Cloud Security Alliance (CSA) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้ให้บริการ Cloud Service จากนานาประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อร่วมมือกันกำหนดมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยในการให้บริการ Cloud Service หรือกลุ่ม CERTs (Computer Security Emergency Response Team) ซึ่งดูแลด้านภัยคุกคามในระบบคอมพิวเตอร์หรือสมาคม Asia PKI Consortium ซึ่งดูแลด้านการส่งเสริมความร่วมมือในการใช้งานเทคโนโลยี PKI (Public Key Infrastructure) ในกลุ่มประเทศแถบเอเชีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกรรมด้าน E-Commerce อย่างมั่นคงปลอดภัย ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการแล้วเช่นกัน ภายใต้ชื่อ Thailand PKI Association และเข้าร่วมเป็นสมาชิก Asia PKI Consortium
 
ดังนั้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะนายกสมาคม Thailand PKI Association และดำรงตำแหน่งรองนายกสมาคม Asia PKI Consortium (APKIC) ตระหนักและเล็งเห็นถึงความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Social Media, Big Data, Open Data, Cloud Computing ซึ่งมีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งความมั่นคงปลอดภัย ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและผลักดันในการต่อสู้และรับมือต่อปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ จึงร่วมมือกับ Business and Application Working Group ภายใต้ Asia PKI Consortium จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “The Common Denominators – Collaboration of Cross-Region on e-Government Application, Cloud Computing and Security” ขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ เพื่อวิเคราะห์ถึงภัยคุกคามที่แฝงมากับการใช้งาน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม ให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีอย่างถูกต้องและมีมาตรฐาน และร่วมมือกันหาแนวทางในการลดผลกระทบจากการใช้งานข้อมูลหรือเทคโนโลยีในทางที่ไม่เหมาะสม
 
โดยมีสมาชิก Asia PKI Consortium จากต่างประเทศเข้าร่วม อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเก๊า รวมทั้งประเทศอื่นๆ เช่น บังกลาเทศ เป็นต้น รวมทั้งผู้เข้าร่วมงานซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญด้านความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ กว่า 150 ท่าน โดยคาดหวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมไทยให้เกิดความตระหนักด้านความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นต่อไป”