วันศุกร์, เมษายน 26, 2024
Home > Cover Story > TrueMoney Wallet จินตนาการครั้งใหม่ ของทรูฯ

TrueMoney Wallet จินตนาการครั้งใหม่ ของทรูฯ

 

นับเนื่องเป็นเวลาเกือบ 10 ปี หลังจากที่บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2546 ก่อนที่ “true money (ทรู มันนี่)” จะถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2548 ในฐานะ 1 ใน 5 เครือข่ายธุรกิจหลักตามยุทธศาสตร์ “คอนเวอร์เจนซ์” ของ “ทรูคอร์ปฯ”
 
หากย้อนกลับไปวัตถุประสงค์แรกเริ่มของ “ทรู มันนี่” ก็คือให้บริการเทคโนโลยีด้านธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มทรู โดยเฉพาะการรับชำระค่าบริการของบริษัทในกลุ่ม นอกจากเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าของทรูคอร์ปฯ ที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังเป็นการลดต้นทุนให้กับกลุ่ม และเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท โดยเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ
 
ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทรูมันนี่พยายามขยายบริการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นยอดผู้ใช้บริการและจำนวนธุรกรรมให้เพิ่มขึ้น ภายใต้บริการหลักคือ “เติม-จ่าย-โอน-ถอน” ผ่านมือถือทรูมูฟได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ผลงานอาจยังไม่ประสบความสำเร็จในมิติของรายได้และยอดธุรกรรมเท่าที่ควร

และนั่น นำมาสู่การประกาศปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และบริการใหม่ของทรูมันนี่ ภายใต้ธีม true money : ‘Re-Imagine money’ หรือ “จินตนาการครั้งใหม่เกี่ยวกับเงินยุคดิจิตอล” ซึ่งทรูมันนี่ใช้เวลานานร่วม 8 เดือนในการระดมไอเดียเพื่อนำมาสู่บทสรุปของการเงินในจินตนาการใหม่ครั้งนี้
 
การแถลงข่าวเริ่มต้นด้วยปาฐกถาย่อของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ถึงแนวโน้มการใช้จ่ายรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “e-money” ทั่วโลก อันนำมาสู่ความเชื่อว่าระบบบริการทางการเงินของโลกจะเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด และผู้บริโภคจะเข้าสู่ “คอนเวอร์เจนซ์ ไลฟ์สไตล์” อย่างแท้จริง 
 
ศุภชัยยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่ารวมของ e-commerce ในปี 2013 สูงถึง 2.62 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ปี 2009 มีมูลค่ารวมเพียง 1.2 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ปี 2017 สูงถึง 3.7 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 11 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท)
 
แนวโน้มที่น่าสนใจอีกประการคือ พฤติกรรมการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ของผู้บริโภค ซึ่งพบว่านิยมจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตเพียง 33% อีก 67% นิยมจ่ายผ่านระบบ Paypal ซึ่งเป็นระบบ e-money คล้ายกับ ทรูมันนี่ ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคสบายใจที่จะส่งข้อมูลส่วนตัวให้กับผู้ให้บริการรายเดียวมากกว่าจะส่งให้กับร้านค้าออนไลน์ทุกรายมากกว่า
 
เมื่อบวกกับสถิติจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างแอฟริกา พบว่า จำนวนบัญชีเงินฝากบนระบบมือถือ (mobile money account) กลับมีจำนวนมากกว่าบัญชีเงินฝากในธนาคาร (bank account) เนื่องจากเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายได้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ จึงช่วยเติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานและสาขาของธนาคารที่ยังเข้าไม่ถึง
 
“ความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ซึงเกิดจากการขยายเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย ทำให้รูปแบบของการเติมเงิน/โอนเงิน การจ่ายบิล การซื้อของออนไลน์ กำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด แบบที่เรียกว่า สาขาธนาคารได้ย้ายไปอยู่บนมือถือ” ศุภชัยทิ้งท้าย
 
“ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู มันนี่ คนปัจจุบัน ถือเป็น “โต้โผ” ของการรีดีไซน์เงินยุคดิจิตอล โดยเขากลับมาทำงานกับทรูมันนี่อีกครั้งเมื่อ 8 เดือนก่อน และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการรีเฟรช “ทรูมันนี่” ครั้งใหม่ โดยใช้ประโยชน์เต็มที่จากประสบการณ์ 6 ปีของการทำงานที่สิงคโปร์ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุน ของ “เทมาเส็ก” ซึ่งมีโอกาสลงทุนในบริษัทเกมอยู่หลายแห่ง และประสบการณ์ในฐานะผู้อำนวยการฝ่าย Mobile Financial Services ของ “ซิงเทล” ซึ่งดูแลธุรกิจที่คล้ายกับทรูมันนี่
 
นอกจากรูปลักษณ์แบรนด์ที่เปลี่ยนไป อีกรูปธรรมของทรูมันนี่โฉมใหม่ในเวอร์ชั่นแรกคือ การเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “TrueMoney Wallet” หรือ “กระเป๋าทรูมันนี่” ซึ่งมีบริการ 3 บริการ คือ จ่ายบิล, เติมเงิน และโอนเงิน

อันที่จริง ทรูมันนี่รูปแบบเก่าก็มีบริการเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ความพิเศษอันดับแรกของการทรูมันนี่โฉมใหม่ คือการเปิดบริการกับมือถือทุกค่าย ไม่เฉพาะกับค่ายทรูมูฟ เหมือนรูปแบบเดิม
 
ความพิเศษอื่นยังอยู่ที่ความสามารถในการให้บริการที่มากขึ้น อาทิ บริการจ่ายบิล ซึ่งครั้งนี้มีบิลในลิสต์ให้ลูกค้าได้ชำระกว่า 80 บิล ทั้งบิลบัตรเครดิต, ประกัน, ลีสสิ่ง เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงบิลของกลุ่มทรู ค่าน้ำ ค่าไฟ และพันธมิตรอีกไม่กี่ราย และในอนาคตยังจะรวมบิลของค่ายมือถืออื่นด้วย
 
นอกจากนี้ ลูกค้ายังสะดวกมากขึ้นด้วยฟังก์ชั่น Scan & Pay ในแอป TrueMoney Wallet โดยสแกนบาร์โค้ดผ่านกล้องมือถือ เหมือนยกเคาน์เตอร์เซอร์วิสส่วนตัวบริการ 24 ชั่วโมง มาอยู่บนมือถือ
 
“ความปลอดภัยในการทำธุรกรรมของเราเทียบเท่า Net Banking ของธนาคารชั้นนำ เพราะเราได้รับใบอนุญาตและต้องถูกตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นกัน” ปุณณมาศย้ำ
 
ส่วนบริการเติมเงิน (Top up) ซึ่งเป็นบริการส่วนใหญ่ที่ลูกค้าทรูมันนี่เวอร์ชั่นเก่านิยมใช้มากที่สุด คือการเติมเงินเข้ามือถือ เติมเงินเล่นเกม และซื้อคอนเทนต์ออนไลน์ โดยทรูมันนีเป็นเจ้าตลาดเติมเงินเข้าเกมในสัดส่วนสูงถึง 60% โดยในอนาคตอันใกล้ ลูกค้าทรูมันนี่จะสามารถเติมเงินเข้ามือถือข้ามเครือข่ายได้ด้วย
 
ขณะที่บริการโอนเงิน ทั้งผู้โอนและผู้รับเงินต้องเป็นผู้ที่มีบัญชีทรูมันนี่ด้วยกัน โดยเมื่อปลายทางได้รับเงินแล้ว สามารถนำเงินออกมาใช้ได้ด้วยการนำรหัสไปกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงศรี หรือไปแสดงตัวขอรับเงินที่ทรูช้อป โดยในอนาคตจะสามารถโอนเข้าบัญชีธนาคารได้
 
ด้วยเหตุที่การรับเงินโอนต้องอาศัยบัญชีทรูมันนี่ค่อนข้างใช้เวลา จึงเกิดธุรกิจแลกเงินสดจากยอดโอนทรูมันนี่ โดยส่วนต่างของยอดโอนหักค่าธรรมเนียมจะเป็นรายได้ของผู้ทำธุรกิจนี้ โดยที่ผ่านมาก็มีมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาหลอกให้ลูกค้าทรูมันนี่โอนยอดไปฟรีๆ ก็มี
 
ในทางตรงกันข้าม เนื่องจากร้านรับซื้อยอดทรูมันนี่หลายร้านไม่ระบุให้ลูกค้าต้องแสดงตน กลายเป็นช่องว่างในการนำทรูมันนี่ไปใช้ในการซื้อขายธุรกิจผิดกฎหมายได้ง่ายขึ้น อาทิ การซื้อบริการทางเพศ หรือการเล่นพนันผลฟุตบอล ฯลฯ
 
อีกความพิเศษคือ ลูกค้าสามารถเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินทรูมันนี่ได้สูงสุดถึง 5 หมื่นบาทต่อวัน แต่หลังจากลูกค้ามาแสดงตัวพร้อมบัตรประชาชนที่ทรูช้อป จากนั้นก็สามารถเติมเงินได้ไม่จำกัดวงเงิน จากเดิมที่สามารถเติมเงินเข้าได้เพียง 3 หมื่นบาทต่อวัน รูปแบบใหม่ โดยสามารถเติมเงินเข้าบัญชีทรูมันนีได้หลายช่องทาง คือ ธนาคารชั้นนำ, บัตรเครดิต, ทรูช้อป, ทรูมันนี่คีออสตาม MRT, ซีพี เฟรชมาร์ท และทรูมันนี่เอ็กเพร็ส ที่มากว่า 4 พันจุดทั่วประเทศ
 
“ตอนนี้ ทรูมันนี่มีลูกค้าที่มีบัญชีทรูมันนี่ราว 6 ล้านราย แต่มีแอคทีฟจริงเพียง 5 แสนราย เราหวังว่าทรูมันนี่โฉมใหม่จะเพิ่มยอดแอคทีฟเป็น 1 ล้านรายในสิ้นปีนี้ โดยอีก 5 แสนรายที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นลูกค้ามือถือค่ายอื่นรวมอยู่ด้วย ส่วนยอดรายได้ตั้งเป้าไว้ที่ 1.9 พันล้านบาท หรือโต 15% จากปีที่แล้ว”  
 
แม้รายได้จากค่าธรรมเนียมเพียง 1.9 พันล้านบาท จะเทียบเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ของกลุ่มทรู แต่ความน่าสนใจของธุรกิจนี้อยู่ที่ “โอกาส” ของตลาด e-money ซึ่งหากวัดจากมูลค่าค่าธรรมเนียม จากธุรกรรมการเติมเงินมือถือ การจ่ายบิล และการเติมเงินเข้าเกม เท่านี้ก็มีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งมีมูลค่าอีกมหาศาล
 
แต่ประเด็นสำคัญคือ ปัจจุบันคนไทยมีบัตรเครดิตการ์ดราว 22 ล้านใบ แต่มีผู้ถือบัตรจริงเพียง 8 ล้านคน นั่นหมายความว่า หากอีก 50 กว่าล้านคน ต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ “โซลูชั่น” ที่ดีของเขาก็คือ e-money นอกจากนี้ ยังมีอีกตัวเลขที่น่าสนใจคือ อัตราการเติบโตของตลาด e-money อาจสูงถึง 30-40% ในช่วงระยะแรกนี้
 
สำหรับขั้นต่อไปของทรูมันนี่โฉมใหม่ คือ การออกบัตรเดบิตวีซ่าให้กับลูกค้าทรูมันนี่ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้าในห้างร้าน ซึ่งอย่างช้าคาดว่าจะเปิดตัวได้ในเป็นไตรมาส 1 ปีหน้า และราวสิ้นปี 2557 ยังคาดว่าทรูมันนี่น่าจะไปเปิดบริการคล้ายกันนี้ในตลาดอินโดนีเซียหรือเวียดนาม ซึ่งมีผู้ประกอบการด้านเกมของไทยขยายธุรกิจไปแล้ว
 
นอกจากนี้ ปุณณมาศยังเชื่อว่า ทรูมันนี่จะมีโอกาสต่อยอดไปสู่บริการเสมือนตัวแทนสาขาให้กับธนาคารขนาดกลางและเล็ก ซึ่งไม่ต้องการเปิดสาขาในทุกจังหวัด โดยหนึ่งในบริการที่อาจเพิ่มเข้ามาในเวอร์ชั่นถัดๆ ไป คือบริการเงินกู้ ซึ่งนี่จะทำให้สิ่งที่เรียกว่า “สาขาธนาคารบนมือถือ” ยิ่งสมบูรณ์ขึ้น
 
ในอนาคต เมื่อทรูมันนี่มีฐานข้อมูลลูกค้า ร่วมกับฐานข้อมูลห้างร้านบริษัทมากขึ้น ทรูมันนี่อาจจะกลายเป็นตัวกลางในการดีไซน์โปรโมชั่นให้กับแบรนด์เพื่อนำเสนอสู่ลูกค้าแต่ละรายในแต่ละช่วงเวลาของลูกค้าคนนั้น เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ การเป็น “กระเป๋าอัจฉริยะในมือทุกคน” หรือ Smart Wallet in Every Hand
 
“จากโร้ดแม้ปที่เราตั้งใจไว้ ณ จุดนี้เรียกว่าเราก้าวมาแค่ 1.5% เพราะส่วนหนึ่งของการทำตรงนี้ คือเราต้องเข้าใจด้วยว่าลูกค้าพร้อมหรือยัง” ปุณณมาศทิ้งท้าย
 
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ไม่เพียงนำมาซึ่งความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต แต่ก็อาจนำมาซึ่งอันตรายต่อทรัพย์สินในรูปแบบใหม่ๆ หากเทคโนโลยีนั้นมี “ช่องโหว่”
 
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับทรูมันนี่เวอร์ชั่นใหม่ ก็คือ ยิ่งยอดเงินในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น แรงดึงดูดมิจฉาชีพให้เข้ามาใช้บริการเพื่อทำ “ธุรกิจสีเทา” ก็ยิ่งมากขึ้น ดังนั้นคงต้องถือเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของทรูมันนี่โดยตรง ในการสอดส่อง ป้องกัน และปราบปราม ให้หนักยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ก้าวสำคัญของทรูคอร์ปฯ กลับทำร้ายสังคมได้ในวันหน้า