วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > New&Trend > An Oak by the window > จาก Offshore สู่ Onshore: การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจโลก

จาก Offshore สู่ Onshore: การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจโลก

 

คนในรุ่นผม เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกผ่านการโยกย้ายฐานการผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ที่ทนกับต้นทุนค่าแรงและค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในประเทศญี่ปุ่นเองไม่ไหว และออกมามองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นแหล่งลงทุนชั้นดี ประกอบกับการผลักดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา
 
การโยกย้ายฐานการผลิตจึงเป็นเป้าหมายของบริษัทไทยหลายๆ ราย ที่วันหนึ่งจะออกไปหาแหล่งแรงงานถูกเหมือนเหล่านักลงทุนในอดีต  แต่ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้กำลังจะหมดไป การย้ายฐานการผลิตกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอน หรือการมองปัจจัยอื่นแทนข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรงงานกลายเป็นความเชื่อใหม่ ที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าและนักลงทุนระดับโลกกำลังมุ่งหน้าไป  นิตยสาร The Economist เพิ่งทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ผมจึงถือโอกาสนำมาเผยแพร่ต่อ เพราะนี่อาจจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกก็ได้
 
นิตยสาร The Economist เริ่มต้นรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเหล่าผู้มีหน้ามีตาในท้องถิ่นเมือง Whisett รัฐนอร์ทแคโรไลนา มารวมตัวกันเพื่อตัดริบบิ้นเปิดไลน์การผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานแล้ว โดยที่ไลน์การผลิตคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปได้โยกย้ายออกจากประเทศสหรัฐอเมริกามากว่า 30 ปีแล้ว โดยส่วนใหญ่จะผลิตในทวีปเอเชีย  อย่างเช่นเดลล์ได้ปิดโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศอเมริกาตั้งแต่ปี 2008 และปี 2010 โดยย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศจีน ในขณะที่ HP มีเฉพาะการผลิตคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะสำหรับการใช้งานในธุรกิจบางประเภทจำนวนเล็กน้อยในประเทศหรัฐอเมริกาเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม ไลน์ผลิตใหม่นี้ไม่ได้สร้างขึ้นโดยบริษัทสัญชาติอเมริกัน แต่เป็นของ Lenovo ซึ่งเป็นกลุ่มลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของคนจีน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1984 โดยวิศวกรชาวจีนจำนวน 11 คนจาก Chinese Academy of Science โดยได้ซื้อส่วนธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ThinkPad จากไอบีเอ็มในปี 2005 และตอนนี้ Lenovo ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยอยู่เหนือ HP และเป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด
 
การเคลื่อนไหวของ Lenovo ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของนิทานเรื่องโลกาภิวัตน์ ที่เริ่มต้นขึ้นนับจากช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา  โดยแนวคิดเริ่มต้นที่เป็นปัจจัยเบื้องหลังการโยกย้ายฐานการผลิต หรือที่เรียกว่า Offshoring เริ่มจากการที่บริษัทจากซีกโลกตะวันตกซึ่งมีต้นทุนค่าแรงงานที่สูงมองหาช่องทางที่จะสามารถลดค่าใช้จ่ายจำนวนมากโดยการส่งออกงานไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่ามาก
 
ซึ่ง Offshoring หมายถึงการเคลื่อนย้ายงานออกจากประเทศที่บริษัทมีฐานหรือมีบริษัทแม่อยู่ ซึ่งอาจจะรวมถึงการเอาท์ซอร์ส ซึ่งหมายถึงการโอนงานบางส่วนให้กับบริษัทคู่สัญญาอื่นๆ ทำแทน โดยคู่สัญญานั้นอาจจะมีที่ตั้งบริษัทอยู่ในประเทศเดียวกัน หรือห่างไกลกันครึ่งโลกก็ได้   ซึ่ง 2–3 ทศวรรษที่ผ่านมายุทธศาสตร์นี้ก็ดูจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  แต่ตอนนี้ หลายๆ บริษัทก็เริ่มกลับมาคิดถึงผลกระทบจากยุทธศาสตร์นี้
 
The Economist ได้สรุปสามสาเหตุที่ทำให้เหล่าบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ต้องหันมาทบทวนเพื่อเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์
 
โดยเหตุผลแรกซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด คือปัจจัยความได้เปรียบด้านค่าแรงราคาถูกที่เคยเป็นตัวเร่งสำคัญให้บริษัทต่างๆ เร่งส่งออกงานไปต่างประเทศนั้นกำลังจะสูญหายไป โดยค่าแรงในประเทศจีนและอินเดียได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10–20 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วงกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าแรงในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปกลับแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย แม้หลายๆ ประเทศอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะยังคงมีแรงงานราคาถูกอยู่ แต่ยังไม่สามารถทดแทนศักยภาพแรงงานของจีนทั้งในแง่ขนาด ประสิทธิภาพ และห่วงโซ่อุปทานได้  แม้ว่าจะยังคงมีช่องว่างขนาดใหญ่ของแรงงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่ปัจจัยอื่นๆ อย่างต้นทุนการขนส่งสินค้าก็เริ่มค่อยๆ มาทดแทนส่วนต่างเหล่านั้นได้ ซึ่งแม้ต้นทุนค่าแรงของ Lenovo ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาจะยังคงสูงกว่าโรงงานในประเทศจีนและเม็กซิโกอยู่มาก แต่ช่องว่างเหล่านี้ก็ค่อยๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และไม่ได้เป็นเหตุผลหลักสำหรับความจำเป็นต้องไปผลิตในประเทศเหล่านี้อีกต่อไป   และด้วยการผลิตที่เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้นๆ ทำให้สัดส่วนของค่าแรงในค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการผลิตก็หดตัวลงอย่างมากด้วยเช่นกัน
 
เหตุผลที่สอง คือบริษัทอเมริกันหลายๆ แห่งเริ่มสำนึกได้ว่าพวกเขาได้ปฏิบัติการส่งงานออกนอกประเทศมากจนเกินไป และจำเป็นที่จะต้องดึงงานบางส่วนกลับบ้านอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า ‘reshoring’  โดยบริษัทดังๆ อย่างกูเกิ้ล เจนเนอรัล อิเล็คทริค Caterpilla และฟอร์ดมอเตอร์ ได้เริ่มต้นกระบวนการนำการผลิตบางส่วนกลับสู่อเมริกา รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการผลิตด้วย ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แอปเปิ้ลเองได้ประกาศว่าจะเริ่มต้นไลน์การผลิตเครื่องแมคในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้งภายในปีนี้
 
การเลือกสถานที่ตั้งโรงงานผลิตสินค้าหรือให้บริการให้ถูกต้องนั้นยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของบริษัท และที่ผ่านมาหลายๆ บริษัทก็ดูจะยังทำผิดพลาดกันอยู่  ซึ่งไมเคิล พอร์เตอร์ กูรูด้านการวางยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขันของ Harvard Business School ก็เห็นว่าหลายๆ บริษัทโยกย้ายฐานการผลิตเร็วเกินไปและมากเกินไปด้วยเช่นกัน ในยุโรปเอง กลับไม่ได้มีความกระหายอยากจะโยกย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศมากเท่าในประเทศสหรัฐอเมริกา และทำให้มีบริษัทจำนวนไม่มากนักที่มีการโยกย้ายฐานการผลิตและไม่ได้เร่งรัดที่จะย้ายกลับฐานในประเทศตัวเองมากเท่าสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
 
ทุกวันนี้บริษัทต่างๆ ล้วนค้นหาช่องทางที่จะลดข้อเสียเปรียบทางด้านระยะทาง โดยต้นทุนค่าขนส่งสินค้าหนักขาเดียวทั่วโลกทางเรือได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก และสินค้าก็ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการขนส่ง  พวกเขายังค้นพบอีกว่า การเลือกผลิตในสถานที่ที่ห่างไกลแต่ได้ต้นทุนค่าแรงถูก โดยเก็บฝ่ายวิจัยและพัฒนาไว้ในบ้านเกิดนั้น กลับก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น แม้จะมีหนทางแก้ปัญหาหนึ่งโดยการโยกย้ายฝ่ายวิจัยและพัฒนาตามไปด้วยนั้น แต่กลับจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมา นั่นคือความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศก็จะมีมากขึ้น นอกจากนี้ผลจากสงครามและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีตัวอย่างให้เห็นกันอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ก็ฉายให้เห็นถึงความเสี่ยงในการอาศัยห่วงโซ่อุปทานจากฐานการผลิตไกลโพ้นจะก่อให้เกิดปัญหาได้
 
เหตุผลที่สาม หลายๆ บริษัทได้ปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็วออกจากโมเดลของการผลิตทุกสิ่งทุกอย่างในสถานที่ที่ต้นทุนค่าแรงงานถูกเพื่อส่งขายให้กับประเทศต่างๆ ที่เหลือทั้งโลก ประเทศจีนเองไม่ได้เป็นแหล่งผลิตสินค้าต้นทุนแรงงานต่ำอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นตลาดใหม่ขนาดมหึมา นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับเหตุผลของการโยกย้ายฐานการผลิต คือการย้ายไปอยู่ในที่ที่ใกล้กับเหล่าลูกค้าที่อยู่ในตลาดใหม่ อย่างเช่นจีน ซึ่งถือเป็นการย้ายฐานการผลิตในแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ผ่านมากว่าสามทศวรรษ นั่นคือ เป็นการ onshore ในพื้นที่ใหม่ๆ หรือไปสร้างฐานการผลิตในแบบที่ถาวรยิ่งขึ้น   ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านวิศวกรรมจากประเทศเยอรมนี อย่างซีเมนส์ มองว่าการ offshore ของซีเมนส์เป็นเสมือนการเพิ่มสาขาในพื้นที่ในฐานะที่เป็นบริษัทในระดับสากล  แต่ home shore ของซีเมนส์คือจีนและอินเดีย ซึ่งมีสถานะคล้ายๆ กับฐานการผลิตในเยอรมนีและอเมริกาของซีเมนส์เอง
 
บริษัททุกวันนี้จึงพยายามที่จะไปอยู่ใกล้ตลาดของกลุ่มเป้าหมายใหญ่ของพวกเขาให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาได้ง่าย รวมถึงจะทำให้สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของความต้องการในท้องถิ่นนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว   เหมือนอย่าง Bombardier ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องบินและรถไฟซึ่งก่อนหน้านี้ก็ให้ความสำคัญกับการลดค่าใช้จ่ายโดยการส่งงานไปต่างประเทศ แต่ปัจจุบัน Bombardier สาขาประเทศจีนมีไว้เพื่อตลาดประเทศจีนเท่านั้น
 
เช่นเดียวกับ Lenovo ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน และมีโรงงานของตัวเองที่ประเทศจีน แต่เหตุผลที่ย้ายหน่วยผลิตบางส่วนไปยังประเทศอเมริกาเพื่อทำให้สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าคอมพิวเตอร์ของพวกเขาให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าชาวอเมริกัน และจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวอเมริกันได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าพวกเขายังคงผลิตสินค้าในประเทศจีนต่อไป พวกเขาจะต้องใช้เวลากว่า 6 สัปดาห์ในการส่งสินค้าไปยังประเทศอเมริกา
 
ซึ่งภายใต้ตรรกะนี้ จะทำให้อเมริกาและยุโรปซึ่งมีตลาดภายในขนาดใหญ่จะสามารถดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ได้จากทั่วโลกที่กำลังมองหาตลาดท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั่วโลกอยู่ สถานการณ์ตอนนี้จึงไม่ใช่แค่เพียงบริษัทจากซีกโลกตะวันตกกำลังกลับบ้านเกิดตัวเองเท่านั้น แต่รวมถึงยักษ์จากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (emerging market) ไม่ว่าจะเป็น Lenovo หรือกลุ่ม Tata ที่ปัจจุบันผลิตรถยี่ห้อ Range Rover ในโรงงานใกล้ๆ เมืองลิเวอร์พูล ล้วนกำลังมาลงทุนหาตลาดที่มีศักยภาพในซีกโลกตะวันตกด้วยเช่นกัน
 
 
การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับฟากการผลิตเท่านั้น แต่รวมถึงภาคบริการด้วยเช่นกัน   หลายๆ บริษัทอาจจะเอาท์ซอร์สงานด้านไอทีรวมถึงงานแบ็กออฟฟิศหลายๆ อย่างให้กับบริษัทอื่นๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในประเทศเดียวกันหรืออยู่ต่างประเทศ รวมถึงอาจจะโยกย้ายงานส่วนนี้ไปยังฐานธุรกิจของตัวเองในต่างประเทศก็ได้ โดยงานด้านการเขียนโปรแกรม คอลล์เซ็นเตอร์ และดาต้าเซ็นเตอร์จะเป็นงานส่วนแรกๆ ที่โยกย้ายออกไป ตามด้วยงานที่ซับซ้อนขึ้นอย่างการวินิจฉัยโรคและหน่วยงานวิเคราะห์ของธนาคารเพื่อการลงทุนต่างๆ 
 
เช่นเดียวกับข้อได้เปรียบด้านแรงงานในภาคบริการที่ประสบปัญหาเดียวกับภาคการผลิต โดยข้อได้เปรียบนั้นได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ ได้เปรียบในเรื่องระยะทางและลดค่าใช้จ่ายได้น้อยลง นอกจากนี้งานที่เคยเอาท์ซอร์สทางด้านไอทีและงานแบ็คออฟฟิศหลายๆ อย่างซึ่งเคยมองว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ เช่น การบริหารจัดการข้อมูล ตอนนี้กลับมองว่ามีความสำคัญสูง และทำให้ไม่สามารถไว้ใจเอาท์ซอร์สให้บริษัทที่อยู่ห่างไกลครึ่งค่อนโลกจัดการได้อีก
 
 
การเปลี่ยนแปลงในเรื่องการโยกย้ายฐานการผลิตรวมถึงการเอาท์ซอร์สงานไปบริษัทที่สาม อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศไทยในฐานะประเทศที่ต้องพึ่งพิงเงินลงทุนจากต่างประเทศคงต้องหันมาพิจารณาทบทวนนโยบายต่างๆ    ที่สำคัญ คงต้องพิจารณาว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ได้หรือไม่
 
อ่านเพิ่มเติม
1.‘Here, there and everywhere,’ Special Report: Outsourcing and Offshoring, The Economist, http://www.economist.com/news/special-report/21569572-after-decades-sending-work-across-world-companies-are-rethinking-their-offshoring
 
2.‘The Story so far,’ http://www.economist.com/news/special-report/21569574-offshoring-has-brought-huge-economic-benefits-heavy-political-price-story-so