วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Life > จากวันครูสู่การพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา

จากวันครูสู่การพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา

 

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะให้ความสำคัญกับอนาคตผ่านกิจกรรมวันเด็ก และการวางรากฐานสู่ความสำเร็จผ่านกิจกรรมวันครู ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย
 
ช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนี้ยังมีการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ภายใต้ชื่อ “การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 (The 1st Thailand Constructionism Symposium 2013)” ซึ่งจัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับมูลนิธิศึกษาพัฒน์ มูลนิธิไทยคม และภาคเอกชน และมีพิธีเปิดงานที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันอังคารที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมาหรือก่อนหน้าวันครูเพียง 1 วัน และมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ETV) อีกด้วย
 
สาระสำคัญของการประชุมสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ ในด้านหนึ่งนอกจากเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สรุปการเรียนรู้ และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของคนไทย ด้วยการประยุกต์ใช้ทฤษฎี Constructionism ในบริบทต่างๆ แล้ว
 
กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นประหนึ่งการเน้นย้ำให้เห็นถึงทิศทางและการให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้  ทั้งในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในภาคการศึกษา การพัฒนาชุมชนในเขตพื้นที่ห่างไกล และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานที่อยู่ทั้งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการประภาคารปัญญา หรือ The Lighthouse Project ของมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ที่ร่วมงานกับคณาจารย์จาก Massachusetts Institute of Technology สหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี  2540
 
ขณะเดียวกันยังเป็นการต่อยอดความร่วมมือ เพื่อเริ่มต้นโครงการใหม่ในทศวรรษที่สอง ในชื่อโครงการแสงเทียนแห่งปัญญา หรือ The Candle Light Project ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพคนไทยผ่านการพัฒนาการศึกษาโดยความร่วมมือของ 3 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา
 
ประเด็นสำคัญของการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ในด้านหนึ่งก็คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาภายในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ School that learns ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของระบบโรงเรียนในแบบมาตรฐานดั้งเดิมให้สามารถก้าวข้ามและกว้างไกลออกไปสู่การสร้าง การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในชุมชนชนบทอย่างยั่งยืน (Village that learns ) และการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพพนักงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีความสามารถในการเรียนรู้และแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ (Industry that learns) อีกด้วย
 
จุดเด่นของการประชุมในครั้งนี้อยู่ที่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงยุทธศาสตร์ โดยเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาชน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสตร์แห่งการเรียนรู้และการพัฒนาภาคการศึกษาและชุมชน จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ แสดงผลงานการศึกษาวิจัยและวิชาการที่น่าสนใจ 
 
รวมถึงการเสนอบทเรียนสะท้อนความคิด เพื่อเป็นแนวทางยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของคนไทย สำหรับเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้เรียน และสอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลในอนาคต
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือสังคมไทยปรากฏวาทกรรมว่าด้วย การเรียนรู้ และการสร้างสรรค์ด้วยปัญญามาเป็นระยะ ภายใต้กรอบโครงความคิดที่จะพัฒนาไปสู่ knowledge base societyที่ยังไม่นับรวมความพยายามที่จะสร้างเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการที่จะนำพาให้วาทกรรมเหล่านี้ปรากฏผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังยังไม่ได้รับการบูรณาการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบที่จะส่งผ่านกระแสคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากพอ
 
ความพยายามที่จะยึดโยงข้อได้เปรียบของระบบอุตสาหกรรมภายใต้แนวความคิดที่ระบุว่าการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและอาจทำให้ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลง จึงยังเป็นทัศนะที่ยากจะขจัดให้หมดไปได้
 
บางทีเรื่องราวจากกิจกรรมวันเด็ก กิจกรรมวันครู และการประชุมสัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ในปีนี้ อาจช่วยให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ยังมิได้ปรับตัวเข้ากับกระแสใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาส ได้หันกลับมาพิจารณาประเด็นว่าด้วยศักยภาพพื้นฐาน ที่ต้องใช้ปัญญานี้สักครั้ง