วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > Cover Story > จากเที่ยวทั่วไทย สู่ชอปช่วยชาติ และความหวังเศรษฐกิจไทยปี ’60

จากเที่ยวทั่วไทย สู่ชอปช่วยชาติ และความหวังเศรษฐกิจไทยปี ’60

 
 
ความพยายามของภาครัฐที่จะกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังปราศจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแรงในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะฝากความหวังไว้กับการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเอกชนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าด้วย เที่ยวทั่วไทย ในช่วงกลางปี รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีผ่านชอปช่วยชาติ ในช่วงที่ผ่านมา
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งของเศรษฐกิจไทยในรอบปีที่ผ่านมาอยู่ที่อัตราการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปี ได้รับการประเมินว่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 3.3–3.5 ในขณะที่ภาพรวมการส่งออกยังอยู่ในภาวะติดลบที่ร้อยละ 1–0
 
ภาพสะท้อนเศรษฐกิจไทยดังกล่าวนี้ ได้รับการประเมินจากนักวิชาการและสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจหลายแห่งไปในทิศทางที่ว่า รัฐบาลขาดกรอบทางยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นระบบและรูปธรรม มาตรการที่ดำเนินออกมาในแต่ละช่วงก็เป็นเพียงความพยายามที่จะกระตุ้นการไหลเวียนของเงินตราผ่านมาตรการระยะสั้น ที่อาจไม่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตมากนัก
 
กระนั้นก็ดี ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงตั้งความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในรอบปี 2560 ที่กำลังเคลื่อนที่เข้ามาถึงในไม่ช้าจะขยับปรับขึ้นไปในทางที่ดีและสามารถขยายตัวจากปีก่อนหน้าได้เพิ่มขึ้นในระดับร้อยละ 3.5–4 และคาดว่าการส่งออกจะกลับมามีบทบาทอีกครั้งด้วยการขยายตัวขึ้นไปสู่ระดับร้อยละ 0–2 ในปีหน้า
 
ก่อนหน้านี้ รายงานของธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ว่าจะขยายตัวในระดับร้อยละ 3.2 แต่กลไกภาครัฐเชื่อว่าการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดที่ส่งสัญญาณว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากขึ้น จะสามารถหนุนนำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากกว่าที่ธนาคารโลกประเมิน โดยมีบางส่วนตั้งความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับร้อยละ 4 เลยทีเดียว
 
ความคาดหวังดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า มาตรการภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาเริ่มปรากฏผลสัมฤทธิ์ และทำให้ธนาคารโลกปรับการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยที่จากเดิมประเมินว่าไทยจะมีอัตราการเติบโตขึ้นเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ล้วนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.3–3.5
 
ขณะเดียวกันโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นในด้านหนึ่งอยู่ที่การเตรียมงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ในช่วงเวลานับจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 รถไฟทางคู่ ทางหลวงและมอเตอร์เวย์ รวมถึงรถไฟฟ้าที่ได้ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. และมีการคัดเลือกผู้รับเหมาแล้ว ซึ่งเมื่อมีการเริ่มก่อสร้างจะทำให้เงินทยอยลงสู่ระบบอย่างแท้จริง
 
ปัจจัยที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นอกจากจะเกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ รวมถึงการลงทุนและการใช้จ่ายจากภาครัฐ ที่จะส่งผลให้เห็นได้ชัดเจนในปีหน้าแล้ว ในอีกด้านหนึ่งอยู่ที่ความพยายามที่จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนให้หันกลับมาลงทุนเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หลังจากที่การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในภาวะชะงักงันต่อเนื่องยาวนาน
 
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามและพร้อมจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ที่ประกอบด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลจากแนวนโยบายรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคยุโรป รวมถึงการเติบโตที่ชะลอลงของเศรษฐกิจจีน
 
ความพยายามของรัฐบาลไทยนำการนำพารัฐนาวาฝ่าคลื่นลมของภาวะเศรษฐกิจที่ว่านี้ เห็นได้จากนโยบายสร้างความยั่งยืน และปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับกลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือจังหวัดละ 5,000 ล้านบาท 
 
มาตรการดังกล่าวในด้านหนึ่งเชื่อว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการส่งออก ที่เป็นกลไกหลักแต่เดิม และจะเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคมากขึ้น และจะเป็นการพัฒนาการในเชิงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน การเกษตร การท่องเที่ยวชุมชน เพื่อเชื่อมต่อกับนโยบายพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคต
 
ปริมาณเม็ดเงินจำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท ที่จะหว่านลงไปในแต่ละภูมิภาคได้รับการประเมินจากหอการค้าไทยว่า จะช่วยดึงศักยภาพให้ต่างจังหวัดสามารถพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน 
 
โดยโครงการที่ว่านี้ มุ่งหวังว่าจะสร้างโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาศักยภาพ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นคลัสเตอร์ธุรกิจด้านการเกษตร คลัสเตอร์การค้าการลงทุนชายแดน คลัสเตอร์การท่องเที่ยว และคลัสเตอร์โลจิสติกส์
 
การดำเนินการตามนโยบาย Local Economy จนถึงขณะนี้พบว่า 18 กลุ่มจังหวัดในโครงการ ได้เสนอโครงการที่จะพัฒนาแต่ละท้องถิ่นเข้ามาเพื่อขอใช้งบประมาณดังกล่าวแล้วกว่า 1,000 โครงการ รวมเป็นงบประมาณลงทุนประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท 
 
ขั้นตอนดำเนินงานจากนี้จะอยู่ที่การพิจารณาโครงการที่มีศักยภาพในการต่อยอดสร้างรายได้ให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 ก่อนจะเสนอโครงการที่ผ่านการคัดเลือกไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ม.ค.2560 จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือน ก.พ. 2560 และเร่งรัดไปยังกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณเริ่มต้นในช่วงเดือน มี.ค. ปีหน้า
 
ทั้งนี้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเชื่อและตั้งความหวังว่า ปริมาณเงินลงทุนจำนวนเกือบ 1 แสนล้านบาทที่ว่านี้อาจช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มได้อีกร้อยละ 0.5 และทำให้ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับระดับร้อยละ 4 อีกด้วย
 
มาตรการว่าด้วยการยกระดับ Local Economy ที่ว่านี้ สะท้อนภาพที่ค่อนข้างขัดกันเมื่อประเมินจากมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ที่ส่งผลให้มีปริมาณเม็ดเงินเข้าสู่ระบบประมาณ 10,000–12,000 ล้านบาท ขณะที่มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศ มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 5,000–10,000 ล้านบาท และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 59 เติบโตเพิ่มอีก 0.02% 
 
ขณะที่มาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย (ชอปช่วยชาติ) มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 10,000–20,000 ล้านบาท มาตรการชะลอการขายข้าวมีเงินเข้าสู่ระบบ 10,000–15,000 ล้านบาท
 
บทสรุปของเศรษฐกิจไทยในรอบปี 2559 ที่ดำเนินไปท่ามกลางข้อเท็จจริงที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าในปัจจุบัน อาจไม่มีนัยความหมายมากเท่ากับความคาดหวังถึงอนาคตที่ยังไม่สามารถกำหนดทิศทางและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นได้
 
บางทีวลีที่ว่า ความคาดหวังที่ขาดการวางแผนและมาตรการรูปธรรมที่ชัดเจน ก็คงเป็นเพียงแค่ความฝัน ซึ่งก็คงได้แต่ภาวนาว่าความฝันที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2560 จะไม่ปรากฏเป็นฝันร้ายให้ต้องทนทุกข์กับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจไทยอีกเลย