วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
Home > On Globalization > ความหวาดกลัวอิสลาม

ความหวาดกลัวอิสลาม

 
Column: Women in Wonderland
 
 
ความหวาดกลัวอิสลาม หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Islamophobia เป็นคำศัพท์ที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ที่มีเหตุการณ์การโจมตีตึก World Trade Center และตึก Pentagon ซึ่งเป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือที่คนต่างชาตินิยมเรียกกันว่าเหตุการณ์ 911
 
คำว่าความหวาดกลัวอิสลามนั้นหมายถึง อคติของผู้คนในสังคมที่มองชาวมุสลิมเหมือนกับปิศาจร้าย และชอบใช้ความรุนแรง ความหวาดกลัวนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกขึ้นในสังคม และทัศนคติด้านลบของผู้คนในสังคมต่อคนมุสลิม และในบางครั้งผู้คนในสังคมบางกลุ่มอาจจะมีการแสดงท่าทีในเชิงลบต่อคนมุสลิมเมื่อมีการพบเจอกันตามสถานที่ต่างๆ
 
เรื่องการแบ่งแยกกลุ่มคนในสังคมไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 911 เรื่องการแบ่งแยกของผู้คนในสังคมนั้นมีมานานแล้ว อย่างเมื่อก่อนที่มีการแบ่งชนชั้นระหว่างคนดำกับคนขาว เพียงแต่ในช่วงหลังๆ มานี้ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ 911 ในสังคมของเราจะเห็นได้ว่ามีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนจากเรื่องของความเชื่อและศาสนา
 
Anja Rudiger หัวหน้าผู้ประสานงานของศูนย์ European Monitoring Centre on Racism and Xenophobia ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การจะใช้เรื่องสีผิวมาเป็นเหตุผลหรือคุณลักษณะในการแบ่งแยกผู้คนนั้นไม่ได้รับการยอมรับแล้วในปัจจุบัน เพราะเวลานี้ศาสนาและวัฒนธรรมได้กลายมาเป็นเครื่องหมายของการจำแนกผู้คนแทน
 
เราจะเห็นได้ว่าในช่วง 2–3 ปีมานี้ เรื่องความหวาดกลัวอิสลามนั้นทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Georgetown พบว่าในเดือนธันวาคม 2015 มีคดีความที่เกี่ยวกับการใช้คำพูดที่รุนแรงและการทำร้ายร่างกายคนมุสลิมประมาณ 53 คดี คดีความเหล่านี้มีตั้งแต่การใช้คำพูดที่รุนแรงด่าทอกัน การทำร้ายร่างกาย และร้ายแรงที่สุดคือมีการฆาตกรรมกัน
 
ความหวาดกลัวอิสลามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นแค่เพียงในประเทศอเมริกาเท่านั้น แต่หลายประเทศในยุโรปก็มีสถานการณ์ที่แทบไม่ต่างกันเลย ซึ่งสามารถเห็นได้จากข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่มีคนมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ถูกฆ่าตายในหลายประเทศในยุโรป หรืออย่างกรณีที่ผู้หญิงมุสลิมที่กำลังตั้งครรภ์ถูกทำร้ายร่างกายที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน
 
ความหวาดกลัวอิสลามในยุโรปเองก็น่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ 911 แล้ว หลายๆประเทศในยุโรปก็พบเจอกับสถานการณ์ที่ร้ายแรงจากกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นคนมุสลิมอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดในสนามบินประเทศเบลเยียม เหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายขับรถบรรทุกเข้าชนประชาชนและกราดยิงผู้คนในบริเวณนั้นที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส และเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายระเบิดและกราดยิงในหลายจุดของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อตอนปลายปี 2015 เป็นต้น
 
เหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายๆ ประเทศนั้น ทำให้ความหวาดกลัวอิสลามของประชาชนในแต่ละประเทศนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อประชาชนเริ่มมีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้เรื่องความหวาดกลัวอิสลามนั้นกลายเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลของหลายๆ ประเทศให้ความสนใจ และพรรคการเมืองในหลายๆ ประเทศก็เริ่มที่จะนำเรื่องนี้ไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง
 
ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ในช่วงการหาเสียงนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ได้พูดถึงนโยบายที่เขาจะทำอย่างหนึ่งถ้าหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคือ การห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศอเมริกา นโยบายนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากทั้งในอเมริกาและต่างประเทศ และในที่สุดโดนัลด์ ทรัมป์ก็ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เห็นว่ามีประชาชนจำนวนไม่น้อยเลยที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ของทรัมป์
 
หรืออย่างกรณีของอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศเยอรมนีที่เพิ่งประกาศสนับสนุนนโยบายการห้ามสวมผ้าคลุมหน้าที่มีลักษณะคลุมเต็มหน้า หรือเปิดให้เห็นเพียงแค่ตาเท่านั้นในที่สาธารณะ โดยอังเกลาได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การสวมผ้าคลุมแบบคลุมเต็มหน้านั้นไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศเยอรมนี ซึ่งหลายคนมองว่าการที่อังเกลาและพรรคของเธอหันมาให้การสนับสนุนนโยบายนี้ก็เพราะต้องการเอาใจคนเยอรมันที่กำลังเริ่มเปลี่ยนใจและจะหันไปให้การสนับสนุนพรรคการเมืองอื่น เนื่องจากอังเกลาจะเป็นหัวหน้าพรรคในการลงเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2017
 
ทุกวันนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 ประเทศข้างต้นนี้ที่รัฐบาลมีนโยบายออกมาตอบสนองต่อความหวาดกลัวอิสลามของประชาชน แต่ยังมีอีกหลายประเทศด้วยกันที่มีนโยบายในลักษณะคล้ายๆ กันนี้ออกมา อย่างเช่นประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์ เป็น 3 ประเทศที่มีการออกกฎหมายห้ามผู้หญิงมุสลิมสวมผ้าคลุมหน้าแบบทั้งหน้า (เบอร์กา) และที่เปิดให้เห็นเฉพาะลูกตา (นิกาบ) เท่านั้นในที่สาธารณะ และถ้าหากใครฝ่าฝืนกฎหมายนี้จะต้องถูกปรับเป็นเงิน 150 ยูโร (ประมาณ 5,760 บาท) โดยประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายนี้มาใช้
 
ไม่ได้มีเพียงแค่ประเทศในยุโรปเท่านั้นที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับความหวาดกลัวอิสลามของผู้คน อย่างประเทศชาด คองโก และกาบอง ก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้หญิงมุสลิมสวมผ้าคลุมหน้าแบบปกปิดทั้งใบหน้าในที่สาธารณะเหมือนกัน หรือในบางประเทศอย่างเช่น จีนและอิตาลี ก็มีการนำกฎหมายนี้ไปบังคับใช้ในบางพื้นที่ หรืออย่างซีเรียและมาเลเซียก็มีกฎหมายห้ามสวมผ้าคลุมหน้าแบบปกปิดทั้งหมดในบางสถานที่ อย่างเช่นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานที่ราชการ เป็นต้น
 
การที่ประเทศเหล่านี้และอีกหลายประเทศเริ่มมีนโยบายเหล่านี้ออกมา เป็นการชี้ให้เห็นว่าความหวาดกลัวอิสลามนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนเกือบทุกประเทศเริ่มให้ความสำคัญ และมีความหวาดระแวงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จนรัฐบาลต้องหันมาสนใจและออกนโยบายต่างๆ เหล่านี้
 
ในขณะเดียวกันการที่ประเทศเหล่านี้ออกกฎหมายห้ามผู้หญิงสวมผ้าคลุมหน้าแบบปกปิดทั้งหมด ก็ทำให้มีกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ รู้สึกว่าพวกเขากำลังถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล อย่างกรณีของสาวมุสลิมวัย 24 ปี อาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้ร้องเรียนที่ศาลสูงสุดของยุโรปในเมือง Strasbourg ว่ากฎหมายนี้ทำลายสิทธิและเสรีภาพด้านศาสนาของเธอ และยังมีผลกระทบต่อความเชื่อและวัฒนธรรมของเธอ เรื่องนี้ศาลสูงสุดตัดสินว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด และศาลด้านสิทธิมนุษยชนของยุโรปเองก็มีความเห็นเหมือนกับศาลสูงสุดว่ากฎหมายนี้ไม่ได้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพเลย
 
ความหวาดกลัวและหวาดระแวงที่แผ่ขยายเข้าไปในทุกประเทศนั้น ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้ซึ่งก็คือ คนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ ได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ต่างๆ อย่างเช่นในโรงเรียน ที่ทำงาน และร้านขายของ เป็นต้น และในบางครั้งอาจจะโดนผู้คนพูดจาไม่ดีใส่เมื่อเดินสวนกันตามท้องถนน และสำหรับคนมุสลิมบางคนอาจจะเป็นเรื่องยากที่ต้องทำตามกฎหมายของประเทศที่ตนอยู่โดยการไม่สวมผ้าคลุมหน้าแบบปกปิดใบหน้าทั้งหมด ซึ่งขัดกับหลักความเชื่อและคำสอนของศาสนาอิสลาม
 
ผลกระทบเหล่านี้ไม่ได้กระทบแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงเด็กๆ ด้วย อย่างกรณีของ Dalilah Dris ซึ่งตอนนั้นเธออายุแค่เพียง 12 ปี เมื่อเธอไปโรงเรียนและเด็กชายชาวอเมริกันถามเธอว่า เธอรู้สึกเสียใจหรือไม่ที่ลุงของเธอเสียชีวิต ซึ่งเด็กชายหมายถึงกรณีที่ โอซามา บินลาเดน เสียชีวิตลง และยังมีเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ถามเธอว่า พวกเขาสามารถเล่นมุกที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายกับเธอได้หรือไม่ และถึงแม้ว่า Dris จะไม่สวมผ้าคลุมศีรษะหรือมีการแต่งกายส่วนใดส่วนหนึ่งที่บอกว่าเธอเป็นเด็กมุสลิม เพื่อนๆ ของเธอในโรงเรียนก็ยังคงพูดจาถึงคนมุสลิมหรือปฏิบัติต่อเธอไม่ดีเหมือนเดิม
 
สำหรับปัญหาที่ Dris พบเจอนี้ เธอเล่าให้นักข่าวฟังว่า เธอไม่สามารถตอบโต้ใดๆ ได้เลยเมื่อเพื่อนๆ ของเธอเข้ามาพูดจาไม่ดีกับเธอ เพราะถ้าเธอตอบโต้กลับไปเมื่อไหร่ก็จะทำให้ชื่อเสียงในโรงเรียนของเธอไม่ดีและจะไม่มีใครๆ คบ นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่าคนมุสลิมนั้นชอบใช้ความรุนแรง ดังนั้นทุกครั้งที่มีคนมาพูดไม่ดีกับเธอ เธอจึงทำได้แค่เพียงเงียบและปล่อยให้เรื่องเหล่านี้ผ่านไป
 
เรื่องความหวาดกลัวอิสลามนั้นไม่ได้มีเพียงแค่คนที่นับถือศาสนาอื่นเท่านั้นที่กลัวและหวาดระแวงคนมุสลิม แต่ในตอนนี้คนมุสลิมเองก็ต้องกลัวและหวาดระแวงผู้คนที่ไม่ชอบคนมุสลิม เพราะตอนนี้มีคนมุสลิมจำนวนไม่น้อยเลยที่ถูกทำร้ายตามสถานที่ต่างๆ
 
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนมุสลิมบางกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและเป็นพวกหัวรุนแรง ได้ส่งผลกระทบต่อคนมุสลิมทุกคนในโลกนี้ เพราะในอนาคตคงมีอีกหลายๆ ประเทศที่ออกนโยบายหรือกฎหมายเพื่อลดความหวาดกลัวอิสลามของผู้คนในประเทศของตนเองลง เพราะความหวาดกลัวนี้ได้แผ่ขยายเข้าไปในทุกๆ ประเทศแล้ว
 
 
Photo Credit: http://www.freeimages.com/photo/muslim-woman-1428649)