วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
Home > On Globalization > เดือนมงคลแห่งวิสาขะ

เดือนมงคลแห่งวิสาขะ

 
Column: AYUBOWAN
 
ตลอดเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะผ่านไปสำหรับพุทธศาสนิกชนในศรีลังกา ถือเป็นเดือนมงคลแห่ง Vesak หรือวิสาขะ ซึ่งถือเป็นเดือนเริ่มต้นแห่งวิถีของ Poya ในศรีลังกา ที่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ Arahant  Mahinda Thero หรือ อรหันต์มหินทะเถระ นำพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ และถือเป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงพุทธคุณ 3 ประการ คือประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน
 
ธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งเป็นสื่อสัญลักษณ์ของความเป็นชาวพุทธ และเกี่ยวเนื่องด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง จึงได้รับการประดับตกแต่งอยู่ทั่วทุกเขตย่านร้านถิ่น ขณะเดียวกันก็มีการเฉลิมฉลอง Vesak กันอย่างเอิกเกริก ทั่วทั้งเขตเมืองและชนบท
 
ประเพณีการจัดงานเทศกาลวันวิสาขบูชาของศรีลังกานั้น เป็นวิถีที่สืบเนื่องติดต่อกันมาเนิ่นนาน และสามารถสืบย้อนทางกลับไปได้นับตั้งแต่ที่พระมหินท์ ซึ่งเป็นพระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในดินแดนแห่งนี้เลยก็ว่าได้ 
 
แต่หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าทุตถคามนี (Dutthagamini) ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ. 382-406 และได้ทรงโปรดให้มีการจัดเทศกาลเฉลิมฉลองประเพณีนี้ขึ้นประจำทุกปีตลอดรัชสมัยของพระองค์
 
ความเป็นไปของการเฉลิมฉลองวิสาขะ ในฐานะพุทธศาสนิกชนที่จำเริญในธรรมของชาวศรีลังกา ได้รับการสนับสนุนเกื้อกูลและให้ความสำคัญจากราชสำนัก ดังจะเห็นได้จากการที่กษัตริย์องค์ต่อมาได้สานต่อกิจกรรมเฉลิมฉลอง และหนุนนำให้การจัดงานวันวิสาขบูชาเป็นไปอย่างใหญ่โตและเอิกเกริก พร้อมกับมีการเพิ่มกิจกรรมที่เป็นการกุศลเข้ามาอย่างชัดเจน ทั้งการถวายจีวรให้กับคณะสงฆ์ รวมถึงประเพณีให้ทานแก่ผู้ยากไร้ ซึ่งในด้านหนึ่งเพื่อสะท้อนภาพการเป็นราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงในหนทางธรรม
 
แต่สรรพสิ่งย่อมเป็นไปตามกฎแห่งอนิจจัง และประเพณีการจัดเทศกาลวันวิสาขบูชาของศรีลังกาก็ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นแต่อย่างใด
 
เพราะพลันที่มหาอำนาจจากตะวันตกได้ยกทัพกรีธาพลขึ้นสู่ชายฝั่งศรีลังกา และขยายแผ่อิทธิพลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับนับตั้งแต่เมื่อพุทธศตวรรษที่ 22 ไล่เรียงจากโปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษนั้น ประเพณีและกิจกรรมทางศาสนาจำนวนมากก็ถูกบีบบังคับให้ต้องยกเลิกไป
 
เทศกาลวันวิสาขบูชา รวมทั้งวันหยุดเนื่องในวันดังกล่าวก็ถูกระงับไปด้วย นับตั้งแต่ปี 2313 ควบคู่กับการรอนสิทธิพุทธศาสนิกชน เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเจ้าอาณานิคมจูงใจให้ผู้คนเปลี่ยนไปเข้ารีตศาสนาคริสต์ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าชาวพุทธแทน
 
พุทธศาสนิกชนชาวสิงหลจึงตกอยู่ในภาวะที่ถูกบีบคั้นไม่เฉพาะในมิติของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในยุคสมัยอาณานิคมเท่านั้น หากยังมีการคุกคามในมิติเชิงวัฒนธรรมประเพณีที่ฝังรากอยู่ในระดับจิตวิญญาณอีกด้วย และสภาพเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดความพยายามที่จะฟื้นฟูประเพณีทางพุทธศาสนาขึ้นมาอีกครั้ง
 
ขบวนการ Buddhist Revivalist Movements เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของพุทธศาสนา เริ่มก่อตัวขึ้นจากความคับข้องนี้ กระทั่งในปี 2423 องค์กรชาวพุทธก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดตั้งโรงเรียนและขยายการเรียนการสอนด้านพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
 
ขณะเดียวกัน องค์กรชาวพุทธแห่งนี้ก็มุ่งหมายที่จะฟื้นฟูนำเอาพุทธประเพณีที่เคยถือปฏิบัติมาเมื่อกาลอดีต ให้กลับมามีที่อยู่ที่ยืนสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในขณะนั้น และเป็นการชะลอการลดลงของผู้นับถือถือศาสนาพุทธที่กำลังหันเหไปสู่ศาสนาคริสต์ด้วยอัตราเร่งด้วย
 
เหล่าปัญญาชนชาวพุทธศรีลังกาพยายามแสวงหาวิธีที่จะเบียดแทรกและทัดทานกับศาสนาคริสต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าอาณานิคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติของเนื้อหาสาระ หลักปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งรูปแบบการเฉลิมฉลอง ซึ่งในกรณีของวิสาขบูชานี้อาจเป็นกรณีที่สะท้อนการประยุกต์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจและชัดเจนอย่างยิ่งประการหนึ่ง
 
ความพยายามของขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนาในศรีลังกา ประสบผลสำเร็จในอีก 5 ปีต่อมา เมื่อรัฐบาลอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษยอมประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2428 หลังจากที่ถูกสั่งยกเลิกมาเป็นระยะเวลานานกว่า 100 ปี นับตั้งแต่สมัยที่เจ้าอาณานิคมดัตช์ยังครอบงำปกครองประเทศอยู่
 
ความเลื่อนไหลของพุทธศาสนาในศรีลังกาในห้วงยามเช่นว่านี้ นอกจากจะก่อให้เกิดนวัตกรรม ธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งต่อมากลายเป็นสื่อสัญลักษณ์สากลของพุทธศาสนาและชาวพุทธทั่วโลกแล้ว ประเพณีการเฉลิมฉลองวิสาขบูชาในศรีลังกาก็มีการปรับแต่งประยุกต์วิถีปฏิบัติของคริสต์ศาสนิกชนมาไว้อย่างน่าสนใจ
 
เพราะนอกเหนือจากการตั้งโรงทานชั่วคราว หรือ “ทานศาลา” เพื่อแจกจ่ายอาหารเครื่องดื่มให้กับผู้คนที่ผ่านไปมาอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติ และศาสนา ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อครั้งกษัตริย์เคยปฏิบัติให้ทานแก่ประชาชนทั่วไป ขยับขยายมาสู่การดำเนินการโดยสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา และในหลายกรณีเป็นการรวมกลุ่มของชุมชนด้วย
 
ขณะเดียวกัน การถ่ายเทไปมาระหว่างการทำให้เป็นคริสต์ และการทำให้เป็นพุทธ ในบริบทสังคมชาวศรีลังกาเป็นอีกภาพหนึ่งที่ปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะในมิติของการเฉลิมฉลองพระประสูติกาล ซึ่งนอกจากจะมีการประดับโคมไฟเพื่อสื่อถึงกำเนิดขึ้นของพระพุทธเจ้าและแสงสว่างแห่งปัญญาของพระพุทธองค์ ที่แผ่ออกมาส่องทางให้แก่ผู้ที่มืดบอดได้เห็นทางที่ถูกต้องแล้ว 
 
ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม ผู้คนก็จะนิยมมอบการ์ดอวยพรวันวิสาขบูชาให้กันอีกด้วย ซึ่งประเพณีนี้ก็มีจุดเริ่มต้นจากขบวนการฟื้นฟูพุทธศาสนาในสมัยอาณานิคมที่ได้ดัดแปลงจากประเพณีการมอบการ์ดอวยพรวันคริสต์มาสนั่นเอง ขณะที่การเฉลิมฉลองเทศกาลวิสาขบูชาของศรีลังกายังได้รับอิทธิพลการจัดซุ้มในลักษณะของการเล่าชีวประวัติแบบที่คริสต์ศาสนิกชนนิยมกระทำเมื่อเอ่ยถึงพระคริสต์ในช่วงวันคริสต์มาสอีกด้วย
 
กระนั้นก็ดี การทำโตรนะ (Torana) หรือซุ้ม ซึ่งจะแสดงภาพเหตุการณ์ต่างๆ ของพุทธประวัติหรือภาพที่บอกเล่าเรื่องราวจากชาดกต่างๆ โดยจะประดับด้วยหลอดไฟฟ้าสีสันสวยงามที่ว่านี้ ได้รับชี้แจงว่าเป็นประเพณีและแบบแผนดั้งเดิมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับเทศกาลที่ปรากฏในจารึกหลักที่ 4 ของพระเจ้าอโศกมหาราชเลยทีเดียว
 
ความพยายามที่จะทำให้ประเพณีพุทธดูเข้ากันได้กับสมัยนิยมและสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในมิติของรูปแบบ แต่ยังลงลึกไปสู่การแสวงหาช่องทางในการแสดงออกซึ่งพลังศรัทธา และสามารถข้ามพ้นการมีสงฆ์เป็นศูนย์กลาง ที่สอดรับกับหลักธรรมว่าด้วย ปัจจัตตัง หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะแต่ละปัจเจกผู้ได้ปฏิบัติดีแล้ว
 
ในโอกาสที่สังคมไทยกำลังจะได้ร่วมรำลึกถึงพระพุทธคุณเนื่องในวันวิสาขบูชาที่กำลังจะมาถึงนี้ บางทีนี่อาจเป็นจังหวะเวลาที่ดีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ย้อนพินิจเรื่องราวบนหนทางธรรม เพื่อสร้างให้เกิดวันเดือนปี ที่เป็นมงคลเสมอๆ กันบ้างนะคะ
 
ธรรมรักษานะคะ